รัฐเร่งหามาตรการดูแลชาวบ้าน หลังรถติดสติ๊กเกอร์ทหารเจอกลุ่มป่วนตามกรีด
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ฝ่ายความมั่นคงกำลังเร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกลุ่มผู้ไม่หวังดีทำลายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ด้วยวิธีการต่างๆ หลังจากนำรถไปขึ้นทะเบียนและติดสติ๊กเกอร์พร้อมบาร์โค้ดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ตามที่ "ทีมข่าวอิศรา" นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำรถทุกประเภทไปขึ้นทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2552 ถึงวันที่ 20 ม.ค.2553 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อใช้เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเหตุการณ์มอเตอรไซค์บอมบ์และคาร์บอมบ์ ซึ่งที่ผ่านมาคนร้ายมักโจรกรรมรถของประชาชนไปติดตั้งระเบิด แล้วนำไปจอดตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในย่านชุมชนและตลาดสด สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วหลายครั้ง
อย่างไรก็ดี มาตรการใหม่ของ กอ.รมน.กลับก่อปัญหาขึ้น เมื่อชาวบ้านหลายรายจากหลายพื้นที่ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อว่า รถของพวกเขาถูกกรีดเบาะ หักกระจกมองหลัง และฉีกสติ๊กเกอร์ของ กอ.รมน. หลังนำรถไปขึ้นทะเบียนกับทางการ
ล่าสุด ว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิ์พันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางจังหวัดเพิ่งนำปัญหารถจักรยานยนต์ของชาวบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับ กอ.รมน. โดนผู้ไม่หวังดีกรีดเบาะ เข้าหารือในที่ประชุมผู้บริหาร โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้แก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน พร้อมเตรียมแผนและมาตรการรับมืออย่างรัดกุม
"เราไม่สามารถเปิดเผยวิธีการได้ แต่ขอบอกว่าหากมีใครทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านอีก เขาติดกับดักเราแน่นอน" รองผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
อย่างไรก็ดี การให้ความช่วยเหลือกับผู้เสียหายยังพบปัญหา เนื่องจากชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่ยอมเข้าแจ้งความกับตำรวจ ทำให้ทางราชการไม่มีข้อมูลว่ามีผู้เสียหายจำนวนเท่าไหร่ และอยู่ที่ไหนบ้าง
"เราได้พยายามเต็มที่แล้วที่จะหาตัวผู้ที่เดือดร้อน เพื่อจะได้มาพูดคุยหารือกันว่าจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร แต่ตอนนี้ไม่มีใครเข้าแจ้งความเลย เราก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร มีครั้งหนึ่งสายข่าวแจ้งว่าที่บิ๊กซีปัตตานี (ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใน อ.เมืองปัตตานี) โดนกันเยอะ ทางเราก็ไปสอบถาม ปรากฏว่าไม่มี เราก็ไม่รู้จะช่วยเหลืออย่างไร แต่ถ้ามีการแจ้งความก็จะเช็คได้ โดยยืนยันว่าไม่ต้องเปิดเผยตัวและจะปิดข้อมูลเป็นความลับ"
พล.ต.จีระศักดิ์ ชมประสพ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวว่า หลังจากได้รับข้อมูลจากสื่อมวลชนก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแล แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ทั้งนี้ มีรายงานว่า พล.ต.จีระศักดิ์ ได้สั่งการไปยังหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัวของ จ.ปัตตานี ทั้งหมด และประสานกับ พล.ต.ต.พิเชษฐ์ ปิติเศรษฐพันธุ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี (ผบก.ภ.จว.ปัตตานี) เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันปัญหานี้ และจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีให้ได้
ขณะที่ พ.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีการเข้าแจ้งความ แต่ก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกโรงพักเพิ่มมาตรการในการดูแลทรัพย์สินของประชาชน หากใครมีข้อมูลเบาะแสของผู้ก่อเหตุก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทุกแห่ง
นายอดุลย์ เบญยบุตร กำนัน ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเคยได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านซึ่งถูกทุบทำลายรถจักรยานยนต์ กล่าวว่า ตอนนี้เรื่องร้องเรียนซาลงแล้ว เนื่องจากชาวบ้านได้หามาตรการแก้ไขปัญหากันเอง คือชาวบ้านทุกคนจะไปนำรถไปขึ้นทะเบียนและรับสติ๊กเกอร์ แต่จะไม่ติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่ตัวรถ
"ชาวบ้านบอกว่ายอมเสียเวลาถูกตรวจนานๆ ตามด่านของเจ้าหน้าที่ดีกว่าเอารถไปจอดแล้วโดนกรีด ชาวบ้านเขาอยากให้ความร่วมมือกับทางราชการ แต่หาคนรับผิดชอบหรือรับประกันความปลอดภัยไม่ได้" กำนันอดุลย์ ระบุ
ผบ.ทบ.ยันมาตรการดี-มีแต่พวกจ้องก่อเหตุที่ไม่ชอบ
อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2552 หลังจากโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา นำเสนอข่าวนี้บนเว็บไซต์ และมีสื่อแขนงต่างๆ นำไปรายงานจำนวนมาก ปรากฏว่ามีผู้สื่อข่าวไปสอบถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจงว่า ยานพาหนะมีส่วนสำคัญในการก่อเหตุรุนแรงขึ้นได้หากยังไม่สามารถควบคุมยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ถ้าตรวจตามด่านปกติ บางทีก็ไม่ทราบว่ารถมีการโอนเปลี่ยนมือ หรือใครครอบครองอยู่ หรือใช้อยู่ มีการแจ้งหายหรือไม่ ทำให้ลำบากในการควบคุม ซึ่งรถประเภทต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่คุมไม่ได้ ก็จะเป็นที่มาของระเบิด นอกจากผู้ก่อเหตุจะนำไปเป็นยานพาหนะทำร้ายคนแล้ว ยังสามารถนำไปติดตั้งระเบิด ก่อเหตุรุนแรงกับประชาชนในที่ชุมชนได้อีกด้วย
"เราจะตรวจรถอย่างละเอียดทุกคันก็ทำไม่ได้ เพราะประชาชนจะเกิดผลกระทบมาก ประชาชนจะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติได้เลย ดังนั้นมาตรการการลงทะเบียนรถโดยใช้บาร์โค้ด จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจสอบได้เร็วและเกิดผลดีแน่นอน" ผบ.ทบ. ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า มีคนต่อต้านมาตรการของทหาร โดยการทุบรถของชาวบ้านที่นำไปขึ้นทะเบียน เป็นเพราะอะไร พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มีกลุ่มเดียวเท่านั้นคือกลุ่มที่จะก่อเหตุรุนแรง ส่วนประชาชนทั้งหมดที่มาลงทะเบียนเห็นด้วยแน่นอน เพราะรถทุกคันจะถูกตรวจสอบตามด่านน้อยมาก ทำให้ได้รับความสะดวก และโอกาสที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุรุนแรงก็จะลดลง
"จะเห็นได้ว่าประชาชนได้รับประโยชน์แน่นอน คนที่เสียประโยชน์คือผู้ที่ก่อเหตุรุนแรงเท่านั้น ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องช่วยกันทำความเข้าใจให้ประชาชนส่วนใหญ่ทราบทั้งนอกและในพื้นที่ เพื่อสร้างความชอบธรรมว่ามันไม่ได้เป็นเรืองที่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่เป็นมาตรการที่ทำให้ดีขึ้น" ผบ.ทบ.ระบุ
-------------------------------------------------
อ่านประกอบ : ขึ้นทะเบียน "รถยนต์-จยย." วุ่นหนัก ชาวบ้านร้องรถติดสติ๊กเกอร์ทหารถูกทุบ-กรีดเบาะ