ขึ้นทะเบียน"รถยนต์-จยย."วุ่นหนัก ชาวบ้านร้องรถติดสติ๊กเกอร์ทหารถูกทุบ-กรีดเบาะ
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
มาตรการใหม่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ที่ให้ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ไปขึ้นทะเบียนยานพาหนะทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แล้วรับสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ไปติดรถ กำลังก่อปัญหาขึ้น เมื่อรถของชาวบ้านที่ติดสติ๊กเกอร์ของทหารถูกทุบทำลายด้วยวิธีการต่างๆ จากน้ำมือของบุคคลลึกลับ
ทั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนำรถทุกประเภทไปขึ้นทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2552 ถึงวันที่ 20 ม.ค.2553 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อใช้เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยจากเหตุการณ์มอเตอรไซค์บอมบ์และคาร์บอมบ์ ซึ่งที่ผ่านมาคนร้ายมักโจรกรรมรถของประชาชนไปติดตั้งระเบิด แล้วนำไปจอดตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะในย่านชุมชนและตลาดสด สร้างความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินมาแล้วหลายครั้ง
จากการลงพื้นที่ของ "ทีมข่าวอิศรา" พบเหตุการณ์ที่รถของชาวบ้านถูกทำลายจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปัตตานี และนราธิวาส หากเป็นรถยนต์จะถูกทุบกระจกรถหรือใช้ของมีคมขูดสี ถ้าเป็นรถจักรยานยนต์ก็จะโดนกรีดเบาะ
ที่ปัตตานี มีเด็กนักเรียนนำรถจักรยานยนต์ไปจอดที่โรงเรียนในช่วงเช้า พอหลังเลิกเรียนพบว่ารถถูกกรีดเบาะและถูกหักกระจกมองหลัง ทั้งยังถูกลอกสติ๊กเกอร์ของ กอ.รมน.ไปขยำทิ้งไว้ในตะกร้ารถด้วย
นอกจากนั้น ยังมีชาวบ้านจากหลายพื้นที่ให้ข้อมูลเรื่องรถถูกทำลาย และตกอยู่ในภาวะหวาดกลัว บางคนไม่กล้านำรถออกไปใช้ ขณะที่บางคนที่รถถูกกรีดจากกลุ่มบุคคลลึกลับแล้ว ต้องนำสก๊อตเทปมาปิดร่องรอยเอาไว้ เนื่องจากไม่มีเงินซ่อม
นายอดุลย์ เบญยบุตร กำนัน ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านหลายรายแล้วว่ารถถูกทำลายหลังจากไปขึ้นทะเบียนและติดสติ๊กเกอร์ตามโครงการของ กอ.รมน.ภาค 4 ชาวบ้านก็รวมกลุ่มกันมาถามว่าจะเอาอย่างไรกันดี ซึ่งเขาก็ไม่มีคำตอบให้ แม้จะไปถามทหารในพื้นที่แล้วก็ตาม
ชายวัยกลางคนจาก จ.ปัตตานี กล่าวว่า เมื่อชาวบ้านโดนอย่างนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่เงียบและเก็บความกลัวเอาไว้ในใจ ไม่รู้จะเลือกทางไหน เพราะจะไม่เอารถไปขึ้นทะเบียนก็ถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็ง แต่เมื่อนำรถไปขึ้นทะเบียนแล้ว กลับถูกทุบทำลาย คนที่เดือดร้อนคือชาวบ้านฝ่ายเดียว
“ถ้าขึ้นทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่สามารถดูแลความปลอดภัยได้ก็ไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ชาวบ้านไม่มีความปลอดภัย เมื่อโดนทำลายรถก็หาคนรับผิดชอบไม่ได้ สุดท้ายต้องเสียเงินเอง ทั้งที่ไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น ขณะนี้เริ่มมีบางคนหาทางออกด้วยการนำสติ๊กเกอร์ไปเคลือบพลาสติก ไม่เอาไปติดที่ตัวรถ เมื่อใกล้ถึงด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ก็ควักสติ๊กเกอร์ออกมาโชว์ พอผ่านด่านไปก็เก็บสติ๊กเกอร์ไว้เหมือนเดิม"
ชาวบ้านจาก จ.ปัตตานีผู้นี้ยังบอกอีกว่า ประชาชนในพื้นที่ยอมทำตามทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่ขอ แต่เมื่อเกิดเรื่องไม่ปกติขึ้น เจ้าหน้าที่ก็น่าจะรีบหาทางแก้ไข และดูแลทรัพย์สินของประชาชนให้ปลอดภัยด้วย
"โดรงการนี้ก็ถือว่าดี เพราะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวก แต่ชาวบ้านกลับเดือดร้อน ทุกวันนี้เฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบก็ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบมากพอแล้ว แต่ยังมาเจอเรื่องแบบนี้อีก บอกตรงๆ ว่ารู้สึกแย่ ยิ่งมาโดนกับคนหาเช้ากินค่ำ ลำพังเงินที่จะเอามาเลี้ยงครอบครัวยังแทบไม่มี แต่นี่ต้องหาเงินมาซ่อมรถอีก ถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่ชาวบ้านต้องโดนแบบนี้ อยากให้เจ้าหน้าที่นึกถึงจิตใจของชาวบ้านบ้าง”
ขณะที่ชาวบ้านใน จ.นราธิวาส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ได้รับการบอกเล่าจากลูกชายที่เรียนอยู่ในพื้นที่ จ.ยะลา ว่ามีรถหลายคันที่ติดสติ๊กเกอร์ของทหารแล้วโดนกรีด ลูกชายยังบอกที่บ้านว่าอย่าไปติดสติ๊กเกอร์ ไม่อย่างนั้นจะโดนกรีดเบาะ
“พอลูกบอกเราก็กลัว ไม่กล้าติด เวลาเจอด่านตรวจก็อ้างว่ายังทำไม่เสร็จ ตอนนี้สังเกตเห็นบางคนเขาเอาสติ๊กเกอร์ไปเคลือบพลาสติก พอถึงด่านตรวจของทหารก็จะโชว์ให้ดู ก็คิดว่าจะเอาแบบนั้นบ้างเหมือนกัน เพราะไม่อยากมีปัญหา" ชาวบ้านใน จ.นราธิวาส กล่าว
เผยขั้นตอน-รูปแบบสติ๊กเกอร์เจ้าปัญหา
ด้านองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตามประกาศของ กอ.รมน.ที่เผยแพร่โดยทั่วไป ระบุวัตถุประสงค์ของการจัดทำดังนี้
1.พี่น้องประชาชนที่นำยานพาหนะไปลงทะเบียนแล้วจะได้รับการอำนวยความสะดวกในการผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่
2.เพื่อเสริมมาตรการป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์
3.เพื่อแก้ปัญหาการนำยานพาหนะที่ผิดกฎหมายไปใช้ในการก่อเหตุรุนแรง
สำหรับวิธีการรับสติ๊กเกอร์จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพียงให้นำเอกสารการลงทะเบียนคือ สำเนาคู่มือรถ (รถยนต์และรถจักรยานยนต์) กับสำเนาเอกสารแสดงการเป็นเจ้าของรถ (รถยนต์ และรถจักรยานยนต์) ไปขึ้นทะเบียนเท่านั้น โดยไปแจ้งตามหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ หรือส่งหลักฐานผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
รูปแบบของสติ๊กเกอร์ จะเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมเล็กๆ ระบุชื่อ-นามสกุลของเจ้าของรถ บาร์โค้ดของรถ หมายเลขทะเบียนรถ รวมทั้งชื่ออำเภอ และจังหวัด สีของสติ๊กเกอร์แบ่งเป็น สีแดงเป็นของ จ.นราธิวาส สีเขียวเป็นของ จ.ยะลา สีส้มเป็นของ จ.ปัตตานี และสีฟ้าเป็นของ จ.สงขลา นอกจากนั้นยังมีข้อความระบุว่า ทะเบียนนี้มีอายุตั้งแต่วันที่ 1 พย.2552 ถึง 1 ธ.ค. 2556 โดยมีลายเซ็นของ พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 กำกับด้วย
ข้องใจละเมิดสิทธิ-สิ้นเปลืองงบประมาณ
องค์กรภาคประชาสังคมยังตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า มาตรการที่ออกมายังไม่แน่ชัดว่าเป็นการออกระเบียบหรือคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายฉบับใด นอกจากนี้ยังมีข่าวที่บอกต่อๆ กันว่า ถ้าชื่อผู้ขับขี่ไม่ตรงกับสติ๊กเกอร์ที่ติดรถ หรือรถยังไม่ติดสติ๊กเกอร์ อาจจะไม่สามารถนำรถข้ามจังหวัดได้ ต้องจอดรถไว้ตามด่าน แล้วขึ้นรถสาธารณะไปแทน
นอกจากนั้น การออกคำสั่งในลักษณะจำกัดสิทธิดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน มีเสียงสะท้อนว่าเหตุใดจึงไม่มีการปรึกษาหารือหรือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนก่อนที่จะออกมาตรการ
ที่สำคัญยังปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่า รถหรือยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่างๆ ทั้งที่ปรากฏชัดว่าเป็นรถที่ใช้ในราชการและรถส่วนตัว หลายคันมีการปกปิดป้ายทะเบียนหรือไม่มีป้ายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบก โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในพื้นที่ว่า เจ้าหน้าที่อ้างเรื่องความปลอดภัยของตนเอง แต่กลับควบคุมจำกัดสิทธิในการเดินทางของประชาชนเกินความจำเป็นหรือไม่จากมาตรการนี้ และน่าคิดว่าเป็นมาตรการที่ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ เนื่องจากเรื่องทะเบียนรถเป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่ง กอ.รมน.สามารถหามาตรการเสริมอื่นๆ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดได้
แม่ทัพภาค 4 ยังเดินหน้า-สั่ง ฉก.ดูแลชาวบ้าน
พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เบื้องต้นคงยังไม่มีการปรับนโยบาย เพราะทำไปจำนวนมากแล้ว สาเหตุที่คิดทำมาตรการนี้เป็นเพราะสถิติรถหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีสูงมากถึงเป็นหมื่นคัน อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดปัญหาก็ได้สั่งกำชับไปยังผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจต่างๆ ให้เพิ่มกำลังไปดูแลความปลอดภัย โดยเฉพาะตามจุดจอดรถใหญ่ๆ
ขณะที่ พล.ต.จีระศักดิ์ ชมประสพ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวว่า เบื้องต้นคงไม่สามารถแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการได้ เพราะเป็นนโยบาย สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือจัดกำลัง 3 ฝ่าย คือฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ เข้าไปตรวจตราดูแล และจับกุมผู้กระทำให้ได้ นอกจากนั้นก็อาจจะหางบประมาณบางส่วนไปเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
อนึ่ง ในเวทีราชดำเนินเสวนาหัวข้อ "6 ปีวิกฤตชายแดนใต้ แก้ปัญหาถูกทางจริงหรือ" ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา เมื่อวันจันทร์ที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หนึ่งในวิทยากร กล่าวถึงมาตรการขึ้นทะเบียนยานพาหนะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทหารต้องเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน โดยใช้บอลลูนตรวจการณ์ ซีซีทีวี (กล้องโทรทัศน์วงจรปิด) เพื่อให้เกิดเหตุการณ์น้อยที่สุด และขณะนี้มีมาตรการควบคุมยานพาหนะ ต้องมาลงทะเบียน ติดบาร์โค้ด และจัดทำฐานข้อมูล
"มาตรการนี้จะเสร็จทั้งหมดช่วงต้นปีหน้า รถคันไหนไม่ติดบาร์โค้ดไม่ได้ คิดว่ามาตรการนี้จะช่วยได้ระดับหนึ่ง" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวบนเวที
---------------------------------------------------
อ่านประกอบ : 6 ปีไฟใต้...ทหารไม่เคยเลี้ยงไข้ "อนุพงษ์"เปิดใจทำไมยังระเบิดไม่หยุด!