นักวิชาการชี้งบฯ เรียนฟรี 15 ปี –นมโรงเรียน- อาหารกลางวัน ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้าน
นักวิชาการชี้งบฯ เรียนฟรี 15 ปี –นมโรงเรียน- อาหารกลางวัน ปีหนึ่งรัฐใช้ไม่ต่ำกว่า 1.2 แสนล้าน แต่ช่วยเหลือเด็กยากจนลดปัญหาการออกกลางคันมีสัดส่วนต่ำแค่ 3 พันล้าน ด้านผู้ตรวจราชการ ศธ.เชื่อประหยัดลงได้กว่าครึ่ง หากแยกตามความสามารถในการจ่าย
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส กรุงเทพ โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก (World Bank) จัดเวทีเสวนา "เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย
ตอนหนึ่งในการนำเสนอผลข้อค้นพบจากบัญชีรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ที่เป็นโครงการที่รัฐบาลอุดหนุนสำหรับค่าจัดการเรียนการสอน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนรวมถึงงบประมาณช่วยเหลือเด็กยากจนเพื่อลดปัญหาการออกกลางคัน ด้วยเงินอุดหนุนเด็กที่จนจำเป็นต้องอยู่โรงเรียนกินนอนในระบบโรงเรียนนั้น ปีๆ หนึ่งทั้งรัฐและเอกชน ใช้งบประมาณกว่า 8.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ในส่วนของโรงเรียนสพฐ.3-4 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการอาหารเสริม (นม) ปีละกว่า 1.3 หมื่นล้าน และโครงการอาหารกลางวัน 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งทั้ง 3 รายการ เรียนฟรี 15 ปี อาหารเสริมนม อาหารกลางวัน งบฯ รวมกันประมาณ 1.2 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินที่ใช้เหมือนกันหมด
ส่วนแนวทางการอุดหนุนงบประมาณด้านการศึกษาที่ผ่านมา รศ.ดร.ชัยยุทธ กล่าวว่า เน้นความเท่าเทียมเป็นหลัก ไม่เน้นลดความเหลื่อมล้ำ ฉะนั้นการพิจารณานโยบายควรคิดกันงบประมาณจะหามาจากไหน หรือทำอย่างไรหากวงเงินของสพฐ.ไม่เพิ่ม
“งบประมาณเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจนลดปัญหาการออกกลางคันยังมีสัดส่วนต่ำ ประมาณ 3 พันล้าน เท่านั้น ซึ่งระดับนโยบายให้ความสำคัญแนวทางการอุดหนุนการศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำไม่มากเพียงพอ การเน้นความเท่าเทียมเป็นหลัก แต่หลายเรื่องไม่มีความจำเป็น เช่น แจกหนังสือเรียน เสื้อผ้า และอุปกรณ์การเรียนให้เด็กทุกคน”
ขณะที่นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งดำเนินนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2545 แม้วัตถุประสงค์เป็นนโยบายที่ดี แต่เมื่อผ่านไปก็ไม่ได้ดีอย่างที่คิดไว้ เพราะไม่ได้ทำให้เด็กที่ด้อยโอกาสและยากจนเข้าถึงโรงเรียนที่ดีและมีคุณภาพ
"เด็กด้อยโอกาสและยากจน ก็ยังเรียนในโรงเรียนประจำตำบลเหมือนเดิม ขณะที่เด็กที่มาจากฐานะดีกว่า ก็ได้ประโยชน์เรียนในราคาที่ถูก การที่รัฐทุ่มงบประมาณไปกับการจัดการศึกษาที่มากเกินไป ทำให้รัฐรับภาระมากกว่าที่ควรจำเป็น ซึ่งการจัดการศึกษา และการระดมทรัพยากรต้องทำให้สังคมมามีส่วนร่วมมากกว่านี้”
นายชาญ กล่าวอีกว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ตั้งแต่ปี 2545 คือการให้เด็กไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่การให้เท่ากันทุกคนกลับไม่ได้ทำให้โอกาสเด็กด้อยโอกาสและยากจนเข้าถึงการศึกษา เด็กที่ไม่ควรได้ก็ไม่ควรไปให้ คนที่มีความสามารถในการจ่าย รัฐก็ไม่ควรไปจ่าย แต่รัฐควรอุดหนุนเฉพาะคนยากจน และแม้ว่า รัฐธรรมนูญเขียนว่า ให้เรียนฟรีไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทุกวันนี้ก็พบความจริงว่า ไม่ได้ฟรีจริง
“งบประมาณเรียนฟรี 15 ปี หากแยกเด็กจน กับไม่จนจริงออก งบประมาณตรงนี้ลดได้กว่าครึ่ง และนำเงินส่วนนี้จ่ายคืนไปสู่เด็กด้อยโอกาส ยากจน ให้มากกว่าเดิม จ่ายเป็นค่าพาหนะ ค่าเดินทางให้เขาเข้าถึงโรงเรียน”นายชาญ กล่าว และว่า แนวคิดบ้านเรายังมองเป็นแบบรัฐสวัสดิการ ทั้งๆ ที่โครงสร้างภาษีเมืองไทยเราไม่ใช่ ทุกคนอยากได้ของฟรีแต่ไม่มีใครยอมจ่ายเงิน
สำหรับงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ปี 2560 โครงการเรียนฟรี 15 ปี ใช้งบประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท โครงการอาหารเสริมนม 14. หมื่นล้านบาท และค่าอาหารกลางวัน 2.6 หมื่นล้านบาท รวม 3 โครงการใช้งบประมาณไปกว่า 1.27 แสนล้านบาท
ปีงบประมาณ 2561 เรียนฟรี 15 ปี ใช้งบประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท โครงการอาหารเสริมนม 1.4 หมื่นล้านบาท และค่าอาหารกลางวัน 2.6 หมื่นล้านบาท รวม 3 โครงการใช้งบประมาณไปกว่า 1.22 แสนล้านบาท
และ ปีงบประมาณ 2562 เรียนฟรี 15 ปี ใช้งบประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท โครงการอาหารเสริมนม 1.3 หมื่นล้านบาท และค่าอาหารกลางวัน 2.5 หมื่นล้านบาท รวม 3 โครงการใช้งบประมาณไปกว่า 1.24 แสนล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
นักเศรษฐศาสตร์ ธ.โลก ชี้ห้องเรียน-รร.ขนาดเล็ก สาเหตุหลักทำคุณภาพการศึกษาไทยถดถอย
เปิดงานวิจัยค้นรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐ ชี้ 5 ปี นาทีทองครูเกษียณหลักแสน
นักวิชาการเจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษา พบไทยลงทุนปีละกว่า 8 แสนล้าน สูงกว่าประเทศOECD