คำชี้แจงกรมพินิจฯ กรณี ผอ.เอารถหลวงใช้ส่วนตัว
"กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มีจุดยืนและอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ และมั่นคงในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามนโยบายรัฐบาลทุกรูปแบบ โดยไม่เคยมีประวัติการปกป้อง เจ้าหน้าที่ที่กระทําความผิด ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ดําเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อย่างเคร่งครัดตามหลักนิติธรรม มิได้มีการปกป้องผู้กระทําผิดแต่อย่างใด"
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2561 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่บทความในหัวข้อ 'มาตรฐานที่ต่ำต้อย? กรณี ผอ.เอารถหลวงใช้ส่วนตัว' ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2561 กลุ่มงานประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ส่งเอกสารคำชี้แจงข้อเท็จจริงมายังสำนักข่าวอิศรา ดังนี้
ตามที่สํานักข่าวอิศราได้นําเสนอข่าวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 กรณี ผอ.เอารถหลวงใช้ ส่วนตัว เป็นมาตรฐานที่ต่ำต้อย มีการดําเนินการที่ล่าช้า ปกป้องผู้กระทําผิด มีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อการปราบปรามการทุจริต เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้อง จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
แม้กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นระหว่างปี 2551 – 2554 แต่ขณะนั้นไม่มีการร้องเรียนมาที่กรมพินิจและ คุ้มครองเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จนกระทั่งเดือนกันยายน 2559 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจึงทราบเรื่อง เนื่องจากได้รับหนังสือจากสํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งแจ้งให้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนพิจารณาดําเนินการตามอํานาจหน้าที่กรณีกล่าวหาข้าราชการรายหนึ่ง ขณะดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ กระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทําผิดต่อ ตําแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีนํารถยนต์ส่วนกลางไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ระหว่างปี พ.ศ. 2551 – 2554 เมื่อได้รับแจ้งแล้วกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นและมีคําสั่งตั้งกรรมการ สอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 โดยมิได้ปล่อยปละละเลยต่อกรณีดังกล่าว ในการสอบสวน จึงต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ต้องมีกระบวนการพิสูจน์ความผิดประกอบการลงโทษทางวินัย ส่วนการพิจารณา ให้โยกย้ายหรือพักราชการไว้ก่อนนั้น กรมได้พิจารณาแล้วว่าขณะนั้นข้าราชการดังกล่าว ไม่ได้ดํารงตําแหน่ง ผู้อํานวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาชนจังหวัดเพชรบูรณ์แล้ว การโยกย้ายให้ไปดํารงตําแหน่งที่อื่นอีก จึงไม่มีความจําเป็นต้องดําเนินการเนื่องจากไม่กระทบต่อการสอบสวนและการสั่งพักหรือให้ออกจากราชการไว้ก่อน จะต้องปรากฏเหตุชัดแจ้งว่าถ้าให้ผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปจะเกิดการเสียหายแก่ทางราชการ ประกอบกับ ผู้ถูกกล่าวหายังไม่ได้ถูกฟ้องคดีอาญาต่อศาล จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พักหรือออกจากราชการไว้ก่อนตามที่ กฎหมายกําหนด
ต่อมาเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 ได้มีคําพิพากษาลงโทษจําคุก ข้าราชการรายดังกล่าวแล้วจึงเป็นเหตุที่ปรากฏชัดแจ้งว่า ถ้าหากยังให้อยู่ในหน้าที่ราชการต่อไปย่อมส่งผลต่อความ เชื่อมั่นของประชาชน และเป็นกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ราชการ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จึงได้มี คําสั่งให้พักราชการตามกฎ ก.พ. และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 27 มีนาคม 2561เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ ซึ่งนอกจากการดําเนินการทางวินัยแล้ว กรมยังมีหน้าที่ต้อง ดําเนินการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 อีกด้วย
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มีจุดยืนและอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ และมั่นคงในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามนโยบายรัฐบาลทุกรูปแบบ โดยไม่เคยมีประวัติการปกป้อง เจ้าหน้าที่ที่กระทําความผิด ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ดําเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ อย่างเคร่งครัดตามหลักนิติธรรม มิได้มีการปกป้องผู้กระทําผิดแต่อย่างใด จึงขอชี้แจงมา ณ โอกาสนี้
อ่านประกอบ : มาตรฐานที่ต่ำต้อย? กรณี ผอ.เอารถหลวงใช้ส่วนตัว