มาตรฐานที่ต่ำต้อย? กรณี ผอ.เอารถหลวงใช้ส่วนตัว
"...ไม่ประหลาดใจเลยว่า หลังย้ายจาก จ.เพชรบูรณ์ ข้าราชการรายนี้ได้เป็นผู้อำนวยการได้อีก 2 จังหวัด คือ เป็น ผอ.สถานพินิจฯอุทัยธานี และ ผอ.สถานพินิจฯพิจิตร (ในช่วงปี 2551-2561 กรมพินิจฯมีอธิบดี 5 คน) บางหน่วยงานเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจะถูกพักงานหรือให้ออกไว้ก่อนในระหว่างถูกสอบสวนหรือถูกดำเนินคดี แต่หน่วยงานนี้กลับให้ปฏิบัติราชการต่อไปในตำแหน่งเดิมเพียงแต่ย้ายจังหวัด ถ้าเทียบกับเรื่องอื้อฉาวในกระทรวงอื่น กรณี ‘ปลัดหมีขอ’ ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที หรือ ถ้าเทียบกับข้าราชการ ข้าราชการท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ที่ถูกร้องเรียนว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตซึ่งเป็นเพียงข้อกล่าวหา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 สั่งให้พ้นตำแหน่งหรือพักงานหลายร้อยคน..."
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษา วันที่ 24 ก.ย. 2561 จำคุก 5 ปี ผู้อำนวยการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สังกัดกระทรวงยุติธรรม (ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้อำนวยการ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดพิจิตร) ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต กรณีเอารถยนต์ส่วนกลางไปใช้ภารกิจส่วนตัวโดยให้เจ้าหน้าที่ขับรถรับส่งจากที่พัก-ที่ทำงานทุกวันเช้า เย็นหลังเลิกงาน และรับ-ส่งไปทำธุระในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อเร็วๆนี้
ต่อมาอธิบดีกรมพินิจฯให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สรุปสาระ
1.ข้าราชการรายนี้ยังคงทำงานที่ตำแหน่งเดิมอยู่คือผู้อำนวยการ สถานพินิจฯ จ.พิจิตร เพราะคดีความยังสามารถต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา
2.อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงตั้งแต่ปี 2560 กำลังรวบรวมข้อมูลไปยังอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ระดับกรมฯ
“เหตุผลก็เป็นไปตามหลักการและระเบียบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า ในกรณีที่ถูกสอบวินัยร้ายแรง จะต้องไม่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เดิม ในกรณีของนางนุสรานั้นกระทำความผิดที่ จ.เพชรบูรณ์ แต่ในขณะนี้อยู่ที่ จ.พิจิตร ก็ถือว่าไม่ได้อยู่ ณ จังหวัดเดิมที่เคยกระทำความผิดแล้ว อีกทั้ง จ.พิจิตร ยังเป็นจังหวัดขนาดเล็ก ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการสอบสวนในพื้นที่เดิมได้ด้วย”
มีข้อคิดเห็นในเรื่องนี้สั้นๆบางประการ
1.คดีนี้มีการร้องเรียนว่ากระทำความผิดตั้งแต่ปี 2551-2554 ขณะดำรงตำแหน่งอยู่ใน จ.เพชรบูรณ์ ผู้ร้อง ร้องเรียนต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท) 29 มิ.ย. 2554 เลขาฯ ป.ป.ท. ส่งต่อให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทั่ง 7 ก.ย. 2559 ป.ป.ช. ส่งสํานวนให้พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ทำคดีซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อ 17 มิ.ย. 2560 เจ้าตัวปฏิเสธ กระบวนการสอบสวนลงโทษผู้กระทำผิดใช้เวลา 7-8 ปี เป็นอย่างน้อย ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน
2.จากคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารกรมฯ ไม่ประหลาดใจเลยว่า หลังย้ายจาก จ.เพชรบูรณ์ ข้าราชการรายนี้ได้เป็นผู้อำนวยการได้อีก 2 จังหวัด คือ เป็น ผอ.สถานพินิจฯอุทัยธานี และ ผอ.สถานพินิจฯพิจิตร (ในช่วงปี 2551-2561 กรมพินิจฯมีอธิบดี 5 คน) บางหน่วยงานเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดจะถูกพักงานหรือให้ออกไว้ก่อนในระหว่างถูกสอบสวนหรือถูกดำเนินคดี แต่หน่วยงานนี้กลับให้ปฏิบัติราชการต่อไปในตำแหน่งเดิมเพียงแต่ย้ายจังหวัด ถ้าเทียบกับเรื่องอื้อฉาวในกระทรวงอื่น กรณี ‘ปลัดหมีขอ’ ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที หรือ ถ้าเทียบกับข้าราชการ ข้าราชการท้องถิ่น นักการเมืองท้องถิ่น ที่ถูกร้องเรียนว่าใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตซึ่งเป็นเพียงข้อกล่าวหา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังใช้มาตรา 44 สั่งให้พ้นตำแหน่งหรือพักงานหลายร้อยคน
3.ไม่น่าเชื่อ ไม่มีผู้บริหารของหน่วยงานและหรือในระดับนโยบายของกระทรวง (แม้แต่องค์กรที่เกี่ยวข้อง) มีความรู้สึก ออกมาเรียกร้องขับเคลื่อนให้มีการปรับย้ายข้าราชการคนดังกล่าวออกจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน (อันที่จริงควรทำมาตั้งนานแล้ว) เป็นเยี่ยงอย่างในการลงโทษอย่างทันท่วงที ไม่ให้มีตำแหน่งบริหาร ไม่ใช่อ้างอิงหลักการและมติ ครม. คล้ายกับปกป้องลูกน้อง ทั้งที่ศาลพิพากษาแล้ว ใครก็ตามที่มีทัศนคติอย่างนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปราบปรามการทุจริต ทำให้ชวนสงสัยว่า ผอ.รายนี้กุมความลับของใครไว้หรือไม่?
4.น่าจะลองไปดูข้อมูลย้อนหลังว่าเคยมีกรณีแบบเดียวหรือคล้ายกันนี้กับผู้บริหารในกระทรวงหรือไม่ และใช้มาตรฐานอย่างไร?
5.การลงโทษ ไม่ใช่แค่เอาผิดทางวินัย ควรเรียกค่าเสียหายด้วยหรือไม่ เพราะไม่ได้ใช้รถยนต์เปล่าอย่างเดียว ใช้น้ำมันหลวง (ภาษีประชาชน) ใช้คนหลวง (คนขับรถ) เป็นเวลา 5 ปี
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นความอ่อนด้อยในมาตรฐานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ และย้ำว่า ภายใต้ระบบการตรวจสอบที่อ่อนแอ ‘ข้าราชการ’ ยังเป็นอาชีพที่ เอา‘เข้าง่าย-ออกยาก’ จริงๆ ครับ!