นักเศรษฐศาสตร์ ธ.โลก ชี้ห้องเรียน-รร.ขนาดเล็ก สาเหตุหลักทำคุณภาพการศึกษาไทยถดถอย
ธนาคารโลก ทำแบบจำลอง แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ ขนาดห้องเรียนชั้นประถมของสพฐ.เล็กที่สุดในโลก มีนักเรียนไม่เกิน 10 คน ครูไม่ครบชั้น แนะเพิ่มประสิทธิภาพจัดการศึกษาของประเทศ ด้วยการควบรวมที่มีพื้นที่ใกล้กัน ยันจำนวนห้องเรียนลดลง หรือหายไปเกือบ 1 แสนห้อง ประหยัดงบฯ ที่เป็นเงินเดือนครูเกือบ 5 หมื่นล้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส กรุงเทพ โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก (World Bank) จัดเวทีเสวนา "เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย
ช่วงหนึ่ง ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยงานวิจัยแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการศึกษาขั้นพื้นฐานและการลดความสิ้นเปลืองงบประมาณ ที่ธนาคารโลก ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ จนพบว่า
- ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวผู้เรียน
- ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีแนวโน้มแย่ลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อหัวผู้เรียนจะเพิ่มอย่างมาก งบประมาณต่อนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 48% ระหว่างปี 2010-2013 และเพิ่มขึ้น 143% จากปี 2001 ซึ่งสวนทางกับทักษะของผู้เรียนที่มีแนวโน้มถดถอยลง
- ปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการใช้จ่ายด้านการศึกษาของประเทศส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากระดับ "ประถมศึกษา"
- สัดส่วนนักเรียนต่อครูในระดับประถมศึกษาของไทยอยู่ที่ 17:1 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี แคนนาดา และอังกฤษ ฉะนั้นในภาพรวมประเทศไทยมีครูเพียงพอ
ขนาดห้องเรียนประถมของไทยเล็กสุดในโลก
ดร.ดิลกะ กล่าวถึงขนาดของห้องเรียน (class size) เทียบกับ 39 ประเทศในโลก ที่ส่วนใหญ่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) นั้น พบว่า ประเทศไทยมีขนาดห้องเรียนในระดับประถมศึกษาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14.7 หรือต่ำกว่า 15 คน ขณะที่ออสเตรเลีย (23.5 คน) ญี่ปุ่น (27.36 คน) เกาหลี (23.3 คน) และอังกฤษ (27 คน) โดยครูและทรัพยากรด้านการศึกษาของประเทศถูกกระจายไปสู่ห้องเรียนจำนวนมากเกินไปจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของแต่ละห้องเรียน
"ห้องเรียนเราจำนวนเยอะมาก และเล็กที่สุดในโลก ซึ่งห้องเรียนเล็กไม่ได้แปลว่า คุณภาพการศึกษาไทยจะดี"
ดร.ดิลกะ กล่าวอีกว่า ข้อมูลปี 2016 ของสพฐ.พบว่า จำนวนนักเรียน 6.8 ล้านคน มีจำนวนห้องเรียน 183,776 ห้องเรียน โดย 60% เป็นห้องเรียนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก มีตั้งแต่ 7 คน 7 คน 10 คน และ 12 คน ถามว่า ห้องเรียนขนาดเล็กสะท้อนคุณภาพการศึกษาหรือไม่ สำหรับประเทศไทยดูขนาดของห้องเรียนไม่ได้ เพราะไม่ได้สะท้อนคุณภาพการศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่า สัดส่วนครูต่อนักเรียนนั้น เกินครึ่งของห้องเรียนในประเทศไทยมีครูไม่ถึง 1 คน ไม่ต้องพูดถึงครูพละ ครูคณิตศาสตร์ เอาแค่ครูประจำชั้นยังไม่พอ
ส่วนอัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนนักเรียนโรงเรียนของสพฐ. ก็ลดลงจาก 7.7 ล้านคนในปี 2010 เหลือ 6.8 ล้านคนในปี 2016 เรียกว่า ภายในเวลาเพียง 6 ปี จำนวนนักเรียนหายไปเกือบล้านคน แต่ห้องเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กยังอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าโรง ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารโลก กล่าวว่า จำนวนนักเรียนที่ลดลงเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ แนวโน้มลดลงของประชากรนักเรียนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เกิดขึ้นมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยไม่มีการวางแผนรองรับ จนปัญหารุนแรงถึงขั้นวิกฤต ซึ่งประชากรนักเรียนจะลดลงอีกประมาณ 2 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า
"ถามว่า โรงเรียนในประเทศไทยจำเป็นต้องมีขนาดเล็กเยอะแยะถึง 3 หมื่นกว่าโรง หรือ 60% อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่"
ควบรวมโรงเรียน เพิ่มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ใช้แบบจำลองอุปสงค์ครู (Teacher Demand Model) เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีโรงเรียน 3 หมื่นกว่าแห่ง มีความต้องการครูจำนวน 4.7 แสนคน เพื่อให้ครูครบชั้นครบวิชา ซึ่งสูงกว่าจำนวนครูที่มีอยู่ 4.5 แสนคนในปี 2016 และจากการศึกษาแผนที่โรงเรียน ทั่วประเทศ พบว่า มีโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 1.2 หมื่นแห่ง สามารถนำมาควบรวมกับโรงเรียนศูนย์กลาง หรือโรงเรียนแม่เหล็ก จำนวน 9,511 โรงได้ (อยู่ห่างกันไม่เกิน 30 นาที)
ในประเด็นดังกล่าว ดร.ดิลกะ มีข้อเสนอว่า หากสพฐ.ดำเนินการควบรวมโรงเรียนตามแผน ขนาดห้องเรียนจะขึ้นมาอยู่ที่ 25 คนทันที สามารถลดจำนวนโรงเรียนลงจาก 3 หมื่นโรง เหลือเพียง 1.7 โรง และจำนวนห้องเรียนลดลงจาก 3.4 แสนห้องเรียน เหลือ 2.5 แสนห้องเรียน หรือห้องเรียนหายไปเกือบ 1 แสนห้องเรียน รวมถึงจำนวนครูที่ต้องการก็จะลดน้อยลงด้วย จากความต้องการครู 4.7 แสนคน เหลือ 3.7 แสนคน ซึ่งถ้าครูเงินเดือนเฉลี่ย 4 หมื่นบาทต่อเดือน หมายความว่า ประเทศสามารถประหยัดงบประมาณลงได้เกือบ 5 หมื่นล้านบาท
“งบประมาณที่ประหยัดลงได้ รัฐบาลสามารถนำไปสนับสนุนการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลได้” ดร.ดิลกะ กล่าวย้ำ และว่า ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลโรงเรียนที่เป็นปัญหาคือ ป.1-ป.6 มีขนาดห้องเรียนโดยมีนักเรียน 14 คนนั้น หากควบรวมโรงเรียนกับโรงเรียนที่มีพื้นที่ใกล้กัน จำนวนห้องเรียนจะลดลง หรือหายไปเกือบ 1 แสนห้องเรียน
สุดท้าย นักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารโลก เชื่อว่า มาตรการควบรวมโรงเรียนจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาสำคัญที่สุดที่ประเทศไทยจะทำได้ เพื่อให้มีครูครบชั้น ครบวิชา และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดงานวิจัยค้นรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐ ชี้ 5 ปี นาทีทองครูเกษียณหลักแสน
นักวิชาการเจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษา พบไทยลงทุนปีละกว่า 8 แสนล้าน สูงกว่าประเทศOECD