โมเดล‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’วางหมากสู้ คสช. ยุทธศาสตร์‘ชินวัตร’แยกกันเดิน-ร่วมกันตี?
“…ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน-ร่วมกันตี’ ระหว่างฝ่ายพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อธรรม โดยใช้ภาพความแตกร้าวในเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาเบี่ยงเบนประเด็นเท่านั้น ? แม้ว่าโมเดลนี้จะถูกนำมาใช้ แต่ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ดี นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญให้พรรคเพื่อไทยเดินเกมทาบทามกับพรรคประชาธิปัตย์กอดคอกันจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ โดยให้คนของพรรคประชาธิปัตย์นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี…”
เป็นอันว่า ความชัดเจนเรื่องการรื้อฟื้น ‘พรรคเพื่อธรรม’ ในฐานะพรรคสำรองของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจังแล้ว หลังจากเป็นกระแสข่าวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2561 รายงานข่าวจาก จ.เชียงใหม่ ระบุว่า พรรคเพื่อธรรมได้ประชุมเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตนักการเมืองชื่อดัง สมัยพรรคพลังประชาชน นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค และมีนางนลินี ทวีสิน อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองหัวหน้าพรรค (อ่านประกอบ : พรรคเพื่อธรรมมาแล้ว! ‘สมพงษ์’นั่งหัวหน้า-‘นลินี’รอง หน.)
เปิดมา 2 ชื่อนี้ ที่รู้กันอยู่ว่าเป็น 'คนของใคร' ย่อมส่งผลสะเทือนไปยังกลุ่มแกนนำต่าง ๆ ภายในพรรคเพื่อไทยได้ ไม่มากก็น้อย
ประการสำคัญที่ทำให้พรรคเพื่อธรรมถูกปัดฝุ่น-รีแบรนด์ดิ้งใหม่อีกรอบ มีอยู่อย่างน้อย 2 สาเหตุด้วยกัน
หนึ่ง ว่ากันว่า กลุ่มแกนนำพรรคเพื่อไทยสกุล ‘ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ รวมถึงกลุ่มแกนนำพรรคเพื่อไทยภาคเหนือ ค่อนข้างไม่พอใจ กับบทบาทของ ‘คุณหญิงหน่อย’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นักการเมืองชื่อดังที่เดินเกมกลับมาสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย และดีลกับกลุ่มขั้วต่าง ๆ ในพรรคเพื่อไทย เตรียมขึ้นแท่นหัวหน้าพรรค เดินถือธงลงสู้ศึกในสนามเลือกตั้งอีกหน
การกลับเข้ามามีบทบาทอิทธิพลภายในพรรคเพื่อไทยของ ‘คุณหญิงหน่อย’ ถูกอดีต ส.ส.ต่างจังหวัดหลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่มภาคเหนือ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงพรรคเพื่อไทย ‘บอบช้ำ’ ถูกเล่นงานต่าง ๆ นานาหลังการรัฐประหารโดย คสช. ‘คุณหญิงหน่อย’ ยังเดินสายทำบุญ ทำตัวไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่พอสถานการณ์พรรคเพื่อไทยเริ่มนิ่ง กลับเตรียมแต่งตัวเพื่อเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งความเห็นอดีต ส.ส. กลุ่มนี้ ถูกสะท้อนไปยัง ‘นายใหญ่’ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลายครั้ง
สอง กลุ่ม ‘ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ ถือเป็นกลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลสูงอย่างมากในพรรคเพื่อไทย เพราะถือว่าเป็นสายตรง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ และที่ผ่านมามีการประเมินสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยเป็นระยะ ๆ กระทั่งพรรคเพื่อไทยจัดแถลงข่าว 4 ปี การเถลิงอำนาจของ คสช. ส่งผลให้เกิดความหวาดวิตกว่า การแถลงข่าวดังกล่าว อาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบได้ และสิ่งต่าง ๆ ที่เดินเกมมาเพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งอาจพังทลายลง จึงจำเป็นต้องรื้อฟื้นพรรคเพื่อธรรมให้กลับมามีบทบาทอีกครั้ง
อย่างไรก็ดีสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยตอนนี้ แม้ว่า ‘ฉากหน้า’ จะมีภาพความไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่ม ‘คุณหญิงหน่อย’ และกลุ่ม ‘ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ ก็ตาม แต่การปลุกพรรคเพื่อธรรมให้มาลงสนามเลือกตั้งแข่งขันกับพรรคเพื่อไทย เรียกได้ว่าแทบไม่ได้ส่งผลเสียอะไรเลย อาจเป็นผลดีด้วยซ้ำ ?
หนึ่ง ปัจจุบัน อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายราย กำลังถูกไต่สวนคดีในชั้นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายคดีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาคนเสื้อแดง หรือคดีผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับ ‘เหมาเข่ง’ ดังนั้นหากเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดถึงขั้นยุบพรรคอาจเป็นการ ‘ล้างไพ่’ บรรดาพวกมีชนักติดหลังก็ แล้วดันคนรุ่นใหม่-กลุ่มขั้วอำนาจใหม่ก้าวขึ้นมานำสู้ศึกเลือกตั้งก็เป็นไปได้
สอง การจัดตั้งพรรคเพื่อธรรม ถือว่าเป็นความปลอดภัยของคนสกุล ‘ชินวัตร-ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ โดยเฉพาะ เพราะหากพรรคเพื่อไทยถูกยุบพรรคจริง จะทำให้คน 3 สกุลนี้ไม่มีคดีติดตัว ไม่มีเรื่องราวติดหลัง และไม่ถูกลงโทษใด ๆ ทั้งสิ้น ยิ่งทำให้การลงสนามสู่การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสะดวก และชูคนจากบ้าน 3 หลังดังกล่าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้โดยง่าย
สาม หากพรรคเพื่อไทยไม่ถูกยุบ แม้ฉากหน้าจะปรากฏภาพความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่ม ‘คุณหญิงหน่อย’ และบ้าน ‘ดามาพงศ์-วงศ์สวัสดิ์’ แต่หลังม่านจริง ๆ แล้ว ย่อมเดินตามแนวทางเดียวกัน อยู่ที่ว่าจะตกลงเรื่องให้ใครนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเท่านั้น เบื้องต้นตัวเลือกขณะนี้มีเพียง 2 ชื่อ ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี สามีของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ แต่เท่าที่มีการประเมินกันขณะนี้ ‘ภาษี’ ของนายสมชาย ค่อนข้างเหนือกว่า เนื่องจากได้รับการยอมรับจากคนในพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อธรรม รวมถึง ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ มากกว่า
สี่ ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม เป็นการใช้คะแนนเสียงทั้งหมดแบบ ‘ไม่ทิ้งน้ำ’ กูรูการเมืองหลายรายวิเคราะห์กันว่า ส่งผลดีต่อพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก ดังนั้น การใช้ยุทธศาสตร์แบ่งคนออกเป็น 2 พรรค เพื่อแยกกันเก็บคะแนนคนละภาค หรือท้องที่ ย่อมทำให้เวลาคำนวณคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เยอะมากขึ้น และเป็นการเพิ่มเก้าอี้ ส.ส. ในสภาด้วย
ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นเพียงยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน-ร่วมกันตี’ ระหว่างฝ่ายพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อธรรม โดยใช้ภาพความแตกร้าวในเรื่องการเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาเบี่ยงเบนประเด็นเท่านั้น ?
แม้ว่าโมเดลนี้จะถูกนำมาใช้ แต่ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไป อยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ดี นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญให้พรรคเพื่อไทยเดินเกมทาบทามกับพรรคประชาธิปัตย์กอดคอกันจัดตั้ง ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ โดยให้คนของพรรคประชาธิปัตย์นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (อ่านประกอบ : กางแผนสกัด คสช.สืบทอดอำนาจ-ความเป็นไปได้ พท.กอดคอ ปชป. ตั้ง รบ.แห่งชาติ?)
หากท้ายที่สุดพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย คงต้องเดินเกมกันใหม่ และชื่อของ ‘คุณหญิงหน่อย-สมชาย’ คงถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากฝ่าย ‘เพื่อไทย-เพื่อธรรม’ แต่จำเป็นต้องใช้ ‘ซูเปอร์ดีล’ จากพรรคการเมืองขนาดกลางที่เหลือ เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน หรือพรรคภูมิใจไทย ที่ยังคง ‘แทงกั๊ก’ อยู่ เป็นต้น
หมากเหล่านี้จะดันให้พรรคเพื่อไทย-เพื่อธรรม จัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ คงต้องรอประเมินกันต่อไป เพราะกว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ยังอีกยาว !
อ่านประกอบ :
เปิดสูตรฝ่ายเอา vs ไม่เอา‘บิ๊กตู่’ ตัวแปรคนนั่งเก้าอี้ หน.ปชป.-พท.มืดแปดด้าน?
กางสูตรเลือก หน.พรรค-นายกฯ‘เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์’ เป็นไปได้ไหมร่วมมือกันตั้ง รบ.?
ทำความรู้จัก‘พรรคเพื่อธรรม’หลัง‘เจ๊แดง’รีแบรนด์ดิ้ง-เหตุผล‘ชินวัตร’มีพรรคอะไหล่?
งดไพรมารีโหวต!คสช.คลายล็อคพรรคการเมือง-ห้ามใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์หาเสียง
กกต.ประกาศแล้วจำนวน ส.ส. 77 จังหวัด - กรุงเทพฯ 30 โคราช 14 เชียงใหม่ 9 คน
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.
หมายเหตุ : ภาพประกอบการประชุมพรรคเพื่อธรรมจาก เชียงใหม่นิวส์