ปอท.แจ้งเฟซบุ๊กล่าข้อมูลกลุ่มแฮก-เรียกค่าไถ่ เพจ 'ฮา กะเหรี่ยง-ลูกอีสาน-JAZZ ซิ่ง'แล้ว
จนท.ตร.ปอท.เผยแจ้งประสานงานเฟซบุ๊ก กรณีเพจ 'ฮา กะเหรี่ยง-ลูกอีสาน- JAZZ ซิ่ง' ถูกแฮกเรียกค่าไถ่แล้ว รับต้องใช้เวลา เนื่องจากไม่ใช่ปัญหาสื่อลามก- ก่อการร้ายา แนะผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหาทางป้องกันตัว เผยวิธีการตั้งเว็บไซต์หลอกดักข้อมูล สังเกตให้ดีเวลากรอกรหัส สมัครใช้บริการบนเว็บไซต์
สำนักข่าวอิศรา wwwww.isranews.org รายงานความคืบหน้ากรณี เพจ ฮา กะเหรี่ยง, เพจลูกอีสานแห่งประเทศไทย และ เพจ JAZZ ซึ่ง ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้ามาตรวจสอบขอซื้อ แต่เมื่อถูกปฏิเสธก็จะใช้วิธีเข้ามาติดต่อขอลงโฆษณา โดยใช้วิธีแจ้งให้เปิดกล่องโซเชียลในเว็บไซต์ Gmail แอคเคาท์ของเจ้าของเพจเดิม และให้มีการกดตอบรับคำเชิญก่อนจะส่งแบบฟอร์มให้กับแอดมินเพจเดิม พร้อมให้กรอกชื่อลงแบบฟอร์มให้เฟซบุ๊กอนุญาตให้สร้างโฆษณาบนหน้าเพจได้ จากนั้นไม่เกิน 5 นาที แอดมินเพจเดิมทั้งหมดถูกเตะออกจากเพจ และไม่สามารถเข้าไปใช้งานเพจได้อีก และยังปรากฤพฤติการณ์เรียกค่าไถ่เพจด้วย (อ่านประกอบ : เจอเพจที่ 3 'JAZZ ซิ่ง' โดนเหมือนกัน-โยงกลุ่มเดิมแฮก 'ฮากะเหรี่ยง-ลูกอีสาน' ) ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ว่า ปัญหากรณีนี้เกิดจากกลุ่มมิจฉาชีพได้ส่งลิงค์มาให้กรอก USER NAME และรหัส จึงทำให้กลุ่มมิจฉาชีพมีข้อมูลสามารถเข้าเพจได้ ซึ่งการดำเนินการของ ปอท. จะมีการประสานงานขอข้อมูลจากทางเฟซบุ๊กเพื่อมาดำเนินการสอบสวนติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดต่อไป
"ขณะนี้ ปอท.ได้ติดต่อไปที่ทางช่องทางร้องเรียนของเพจเฟซบุ๊กแล้ว แต่ก็คงต้องรอการตอบกลับจากทางเฟซบุ๊ก ส่วนการตอบรับของเฟซบุ๊กเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ เท่าที่ทราบทางเฟซบุ๊กยึดสิ่งที่เป็นกฎหมายสากล กฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยทางเฟซบุ๊กจะตอบกลับมาโดยเร็วและให้ความร่วมมือเป็นอย่างมากในกรณีสื่อลามกเด็ก หรือในกรณีที่เกี่ยวกับภัยก่อการร้าย ซึ่งถ้าเขาไม่ให้ข้อมูล เขาก็จะอ้างมาทาง ปอท.ว่า ติดเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ไม่สามารถให้ข้อมูลได้"
เจ้าหน้าที่ ปอท. ยังกล่าวต่อว่า "การป้องกันการดักรับข้อมูลถ้าผู้ใช้ไม่สังเกต ก็จะโดนดักรับข้อมูลกันได้ง่ายๆ เช่นกรณีที่ไปสมัครใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ บางทีเขาจะให้ผู้ใช้งานล๊อกอินเข้าไปด้วยบัญชีใช้งานของเฟซบุ๊กหรือของอีเมล์ต่างๆเป็นต้น ซึ่งไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่ารหัสที่เรากรอกไปในเว็บเหล่านั้นมันเป็นเว็บไซต์เพื่อหลอดักข้อมูลหรือไม่ อีกทั้งมิจฉาชีพที่ต้องการจะหลอกดักข้อมูลนั้น แค่เขามีความสามารถทำเว็บไซต์ ทำหน้าเว็บไซต์ให้ดูน่าเชื่อถือสำหรับผู้ใช้งาน เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะหลอกให้คนเข้ามากรอกรหัส หรือเว็บไซต์ที่ให้กรอกรหัสบัตรเครดิต ตรงนี้ก็ไม่อาจจะทราบได้เลยว่าเขาจะดักจับข้อมูลหรือไม่ ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงของผู้ที่เลือกเข้าเว็บไซต์ ก็อยากจะให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตสังเกตให้มากขึ้นเวลาเข้าเว็บไซต์ต่างๆที่ต้องมีการกรอกรหัสทั้งรหัสอีเมล์ส่วนตัว รหัสเฟซบุ๊ก รวมไปถึงรหัสบัตรเครดิตด้วย"
เมื่อถามถึงการสร้างกรอกความร่วมมือทางกฎหมายกับเฟซบุ๊กของผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่ ปอท.กล่าวว่า "ที่ผ่านมานั้นมีเจ้าหน้าที่เฟซบุ๊กจากทางสิงคโปร์เข้ามาหารือกับทาง ปอท.แล้ว แต่ปรากฏว่าคนของเฟซบุ๊กที่มาจากประเทศสิงคโปร์นั้นเป็นแค่เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ยังไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ซึ่งฝ่ายกฤหมายของเฟซบุ๊กที่ทำหน้าที่ส่วนนี้ ขณะนี้มีแค่ที่เดียวคือที่สหรัฐอเมริกา ดังนั้นจะติดต่อขอร้องให้เขาเปิดเผยข้อมูลอะไร ก็ต้องไปติดต่อโดยตรงกับทางสหรัฐอเมริกาเลย ทางเฟซบุ๊กที่สิงคโปร์เขาไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้"
อ่านประกอบ :
เจอเพจที่ 3 'JAZZ ซิ่ง' โดนเหมือนกัน-โยงกลุ่มเดิมแฮก 'ฮากะเหรี่ยง-ลูกอีสาน'
ชี้ปัญหาแฮกเกิดทั่วโลก! กก.ความปลอดภัยไซเบอร์ แนะวิธีป้องกัน-แจ้งเฟซบุ๊กทวงเพจคืน
คราวนี้ใช้ชื่อ 'Ellie'-เปิดขั้นตอนแฮกเพจลูกอีสาน ซ้ำรอย ฮา กะเหรี่ยง-เรียกค่าไถ่ด้วย
เพจลูกอีสานแห่งประเทศไทยโดนด้วย! แอดมินเผยใช้วิธีการแฮกแบบเดียว 'ฮา กะเหรี่ยง'
เพจ 'ฮากะเหรี่ยง' ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเพจYouLike (คลิปเด็ด) ยอดติดตาม2.5แสน จริงหรือ?
เปิดวิธีการ'Lisa' แฮก'ฮา-กะเหรี่ยง' ก่อนเปลี่ยนชื่อใหม่-ใช้แชร์เนื้อหาเพจเครือข่าย?