x-files (21): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อดีตนายกฯ-รมว.ต่างประเทศ ปมปราสาทพระวิหาร ไทย-กัมพูชา
“...การกระทำของนาย ข. จึงเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กล่าวคือ ความเสียหายที่เกิดจากอาณาเขตของประเทศไทย และการกระทำของนาย ก. ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องทราบดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นที่จะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม นอกจากนี้ นาย ก. ยังเป็นผู้ขอให้นาย ข. ดำเนินการช่วยเหลือ นาย ค. ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา อันเป็นการนำผลประโยชน์ของชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศ การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. จึงเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน...”
x-files :พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 21 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวด การพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)
@ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน
ข้อเท็จจริง มีการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย (นาย ข.) และที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชา ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงทั้งสองฝ่ายจะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน
ต่อมารัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยนาย ก. นายกรัฐมนตรี และนาย ข. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว โดยกัมพูชามีการเสนอร่าง joint statement ให้ฝ่ายไทยพิจารณาโดยมีสาระสำคัญให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลไทยได้มีบันทึกช่วยจำเพื่อประท้วงกัมพูชาเกี่ยวกับการละเมิดอธิปไตยบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาถอนกำลังทหารตำรวจออกจากพื้นที่ทับซ้อนทันที ซึ่งกัมพูชาส่งบันทึกช่วยจำตอบโต้โดยปฏิเสธทุกประเด็น ซึ่งจากกรณีนี้กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เสนอความเห็นว่า ไม่ว่าจะขึ้นทะเบียนแบบเดิมหรือขึ้นเฉพาะตัวปราสาท การออกมาตรการ รวมทั้งกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในทั้งสองกรณี ล้วนต้องดำเนินการในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิด้วยทั้งสิ้น หากไทยยอมรับข้อเสนอถือว่าไทยได้เปลี่ยนท่าทีไปจากเดิม อาจมีผลกระทบต่อท่าทีและน้ำหนักข้อต่อรองในการเจรจาของฝ่ายไทยเรื่องเขตแดนและการบริหารจัดการร่วมในพื้นที่ทับซ้อนในอนาคตอย่างมาก ซึ่งนาย ข ได้รับทราบ ต่อมาได้มีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอร่างแถลงการณ์ร่วม โดยไทยสนับสนุนกัม
พูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้ายให้ที่ประชุมพิจารณา ที่ประชุมให้ความเห็นชอบ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อมาตามลำดับ และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามในร่างคำแถลงการณ์ร่วม
ต่อมามีผู้ยื่นฟ้องนาย ข. และคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองกลางว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ขอให้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งตามผู้ยื่นฟ้อง ห้ามมิให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรีดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือการใช้ประโยชน์จากมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง และศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เป็นหนังสือที่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคง และก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมทั้งสองประเทศ
การกระทำของนาย ข. จึงเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กล่าวคือ ความเสียหายที่เกิดจากอาณาเขตของประเทศไทย และการกระทำของนาย ก. ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องทราบดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นที่จะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสังคม นอกจากนี้ นาย ก. ยังเป็นผู้ขอให้นาย ข. ดำเนินการช่วยเหลือ นาย ค. ในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา อันเป็นการนำผลประโยชน์ของชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศ การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. จึงเป็นการส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
@ ทุจริตอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงิน โดยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ข้อเท็จจริง นาย ก. เป็นผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน ได้อาศัยอำนาจในตำแหน่งหน้าที่เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและพวก โดยอนุมัติเงินกู้ให้แก่บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ และลงชื่อผ่านเรื่องรับเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวของลูกค้าโครงการของบริษัท A โดยนาย ก. เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการของบริษัท A เมื่อโครงการดังกล่าวของบริษัท A ถูกชะลอสินเชื่อเนื่องจากลูกค้าที่ยื่นกู้ต่อสถาบันการเงิน สำนักงานใหญ่ มีหนี้ค้างชำระเกินเกณฑ์ที่กำหนด โครงการของบริษัท A จึงนำลูกค้าไปยื่นกู้ต่อสถาบันการเงิน อีกสาขาหนึ่ง นาย ก. ได้โทรศัพท์สั่งการให้ผู้จัดการสถาบันการเงินสาขานั้น ทำบันทึกขออนุมัติผ่อนผันรับลูกค้าของโครงการบริษัท แบบรายย่อยทั่วไปเสนอไปยังนาย ก. ทั้งที่การผ่อนผันดังกล่าวอยู่ในอำนาจของผู้บริหารระดับสูงคนอื่น
นอกจากนี้ นาย ก. กับพวก ได้จัดทำโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ และขอยื่นวงเงินกู้ระยะยาวสำหรับลูกค้าต่อสถาบันการเงิน สำนักงานใหญ่ โดยนาย ก. ได้อาศัยอำนาจของตนลงชื่อผ่านเรื่องรับเป็นแหล่งเงินกู้ระยะยาวของลูกค้าโครงการดังกล่าว และต่อมาได้พิจารณาลงชื่อผ่านเรื่องการขออนุมัติโครงการต่าง ๆ อันเป็นการเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของ นาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 9 และ 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
@ พิจารณาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง เหตุผล และผลประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก
ข้อเท็จจริง มีผู้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการตุลาการ กรณีมีข้อครหาว่ามีการเรียกรับเงินจำนวนมาก และเงินบางส่วนไปให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง กระทรวงยุติธรรมจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานการสอบสวนเสนอปลัดกระทรวงยุติธรรม สรุปได้ว่ายังไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ว่ามีการเรียกหรือรับเงินจากการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดิน และกรณีการไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบหรือไม่ และเห็นว่าการที่กรมบังคับคดีคืนเงิน 70 ล้านบาท ให้แก่คู่ความโดยไม่หักค่าธรรมเนียมไว้เลยเป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีพยานหลักฐานว่ามีการทุจริต ซึ่งมีข้อสังเกต 3 ข้อ คือ
1) มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนแล้วว่า เมื่อมีการเคาะไม้ขายต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทุกครั้ง แต่เหตุใดในกรณีนี้ไม่เรียกเก็บ
2) ผู้อำนวยการกองคดีแพ่งได้ทำความเห็นไว้ชัดเจน นาย ข. รองอธิบดีผู้รับผิดชอบต้องทราบและหากจะรักษาประโยชน์ต้องสั่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
3) เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะรัฐต้องเสียเงินเกือบ 45 ล้านบาท คณะกรรมการเสนอว่ากรณีนี้จะดำเนินการอย่างไรสุดแต่กระทรวงยุติธรรมเห็นสมควร
นาย ค. ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการตุลาการ ได้ทำบันทึกถึงนาย ง. เลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ในฐานะรองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรมและเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ ได้ทำบันทึกสั่งการท้ายรายงานว่า “ให้รายงานกระทรวงฯ ระงับเรื่องตามข้อเท็จจริงที่ได้จากสำนวน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับมูลนิธิให้แยกความเห็น เนื่องจากมูลนิธิไม่ได้เป็นส่วนราชการแต่เป็นเอกชน”
สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ รายงานนาย ก. ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้มีบันทึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมความว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากสำนวนการสอบสวนไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงว่า นาย จ. อธิบดีกรมบังคับคดี และนาย ข. รองอธิบดีกรมบังคับคดี มีเจตนาทุจริตส่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ให้แก่คู่ความโดยไม่หักค่าธรรมเนียมการบังคับคดีไว้ตามกฎหมาย ส่วนประเด็นเกี่ยวกับมูลนิธิ แม้ไม่มีหลักฐานบ่งชัดว่ามีการเรียกรับเงินจากการบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินไปให้มูลนิธิ แต่คณะกรรมการมีข้อสังเกตถึงที่มาของเงินบริจาคที่ไม่โปร่งใส ไม่มีรายละเอียดของผู้บริจาค แต่เนื่องจากมูลนิธิไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ จึงไม่อาจเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ จึงได้พิจารณาให้ระงับเรื่อง ทั้งนี้กรณีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการแตกต่างกัน นาย ก. และนาย ง. ในฐานะผู้บังคับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ควรต้องใช้ดุลพินิจตามภาวะวิสัยของข้าราชการที่อยู่ในฐานะและตำแหน่ง ซึ่งมีหน้าที่จะต้องพิจารณาเรื่องราวด้วยความสุจริต รอบคอบ ระมัดระวัง พิทักษ์ผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง เหตุผล และผลประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก แต่ก็มิได้กระทำดังกล่าว
เป็นมูลเหตุให้มีผู้สงสัยในพฤติกรรมของนาย ก. และนาย ง. รวมทั้งไม่ได้เห็นด้วยกับกระทรวงยุติธรรม โดยมีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกิดกรณีพิพาทระหว่างข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงกับนาย จ. อธิบดีกรมบังคับคดี และนาย ข. รองอธิบดีกรมบังคับคดี ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีแก่สถาบันตุลาการ และควรตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัยแก่นาย ข. รองอธิบดีกรมบังคับคดี รวมทั้งแจ้งให้อธิบดีกรมบังคับคดีแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 8 แต่นาย ก. และนาย ง. กลับมีความเห็นให้ระงับเรื่อง
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และ นาย ง เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรค 2
@ ไม่สั่งการหรือยอมกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อความปลอดภัยของประชาชน
ข้อเท็จจริง นาย ก. ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องมีการแถลงต่อรัฐสภา แต่มีกลุ่มผู้ชุมนุมขัดขวางการเข้าประชุมของสมาชิกรัฐสภาเพื่อมิให้รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยเคลื่อนขบวนมาปิดล้อมรัฐสภา ต่อมานาย ก. ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี และเรียกพลตำรวจเอก ข. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจโท ค. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้ารับฟังนโยบายของรัฐบาลต่อสถานการณ์การชุมนุม นาย ง. รองนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมได้ จนกระทั่งถึงวันที่จะแถลงต่อรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการใช้แก๊สน้ำตาชนิดยิงและขว้างกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากเพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภา
ต่อมาเมื่อนาย ก. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดทางเข้าออกรัฐสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ผลักดันโดยใช้แก๊สน้ำตาจนเปิดทางได้
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
1) นาย ก. และนาย ง. ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีต้องบริหารบ้านเมืองให้ประชาชนมีความปลอดภัย แต่กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการที่รุนแรงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
2) พลตำรวจเอก ข. ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงที่ได้รับนโยบายมาจากฝ่ายการเมือง กลับเพิกเฉยไม่สั่งการให้หยุดยั้งการกระทำ หรือยอมกระทำการอันเป็นการเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อประชาชน เพื่อสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง พลตำรวจเอก ข. อ้างว่าไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของพลตำรวจเอก ข. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (5) (6) และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
3) พลตำรวจโท ค. ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมบังคับบัญชาของพลตำรวจโท ค. ได้ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต พลตำรวจโท ค. ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดทุกสถานการณ์ การกระทำของพลตำรวจโท ค. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทำร้ายประชาชนในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการกระทำการอันได้ชื่อว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และกระทำหรือละเว้นการกระทำใด ๆ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 79 (3)(5) (6) และเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
------------
สัปดาห์หน้าจะมีคดีสำคัญๆ เกี่ยวกับการพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนอะไรอีกบ้าง โปรดติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
x-files (1) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต รมต.-ผอ.รพ.รัฐ เอื้อปยจัดซื้อจ้างบ.พวกพ้อง
x-files (2) : พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บทลงโทษ พลเอก 'ก.' เลี่ยงระเบียบซื้อที่ดิน32ล.
x-files (3): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต คดีใหญ่รถดับเพลิง-นายกอบจ.งาบมุ้งไข้เลือดออก
x-files (4):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตที่ปรึกษารมต.จัดซื้อยา-เชือดอธิบดีงาบเรือขุด
x-files (5):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต อบต.ตรวจงานเท็จ -ประปาร้อยเอ็ดเรียกเงินผู้รับจ้าง
x-files (6):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ.ยักยอกATM ผู้ต้องหาคดียาบ้ากดเงินใช้ 7 แสน
x-files (7):พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พันเอก พ. อมค่าโฆษณาวิทยุกองทัพภาคที่ 2
x-files (8): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต สจ. 'ข.' เอารถหลวงจำนำร้านคาราโอเกะ
x-files (9): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต พ.ต.ต. แก้ใบเสร็จยักยอกเงินซื้อรองเท้า 3แสน
x-files (10): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ดาบตำรวจ ‘ก.’ เรียกรับเงินงบซ่อมถนน 7 แสน
x-files (11): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต บิ๊กตำรวจ ‘ก.’ รับเคลียร์หนี้พนันละเว้นจับกุม
x-files (13): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต จ.ส.ต. ‘ส.’ รับสินบนละเว้นตรวจหนังสือเดินทางปลอม
x-files (14): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต เจ้าพนักงานเรียกรับเงิน ช่วยลดโทษผู้ต้องหายาเสพติด
x-files (15): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ. ‘ก’ แจ้งข้อกล่าวหาคดีเช็คไม่ครบถ้วน
x-files (16): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาง ‘จ’ จนท.ปกครอง ช่วยคนไร้สัญชาติทำบัตรประชาชนเท็จ
x-files (17): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นายอำเภอ-ปลัด ปลอมใบเกิดช่วยต่างด้าวได้สัญชาติไทย
x-files (18): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต นาย ‘ก’ จนท.ทะเบียน เรียกเงินช่วยเปลี่ยนชื่อ-สวมเลขปชช.
x-files (19): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต การสอบคัดเลือกข้าราชการเข้าอบรม กรรมการ-ผู้สอบ รวม122คน
x-files (20): พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต 3 จนท.กองสลาก ร่วมโกงล็อครางวัลที่1