กกต.เร่งทำระเบียบรับ กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้ง-ให้พรรคทำไพรมารีโหวต
กกต. เร่งทำระเบียบภายใต้กฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. แจกแจงวิธีสรรหาวุฒิสมาชิก รอ คสช.คลายล็อค เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองทำไพรมารีโหวต ยังไม่ชัดปมให้พรรคเชิญชวนคนมาเป็นสมาชิก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2561 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลประชุมคณะกรรมการ กกต. ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวว่า ภายหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับดังกล่าวประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต. จะเร่งพิจารณาระเบียบ กกต. ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เบื้องต้นจะเร่งรัดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า เพราะกฎหมายลูก ส.ว. มีผลบังคับใช้แล้ว และเมื่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้ กกต. จะประกาศให้มีการลงทะเบียนองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลเข้าคัดเลือกเป็น ส.ว. โดยมี 2 ประเภทคือ 1.องค์กรที่มีกฎหมายจัดตั้ง และ 2.องค์กรนิติบุคคล ที่ก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 3 ปี มีการดำเนินกิจการต่อเนื่อง และไม่แสวงหาผลกำไร โดยจะเปิดรับลงทะเบียนที่สำนักงาน กกต. จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนบุคคลทั่วไปที่จะลงสมัครสามารถยื่นใบสมัครได้ที่ว่าการอำเภอ โดยวันเวลาและการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนน กกต. จะชี้แจงอีกครั้งภายหลังระเบียบ กกต.ฉบับนี้ประกาศใช้ โดยการคัดเลือก ส.ว. ของ กกต. จะดำเนินการให้ได้ ส.ว. 200 รายชื่อ และส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 15 วันก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 50 รายชื่อ และสำรองอีก 50 รายชื่อ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงกรณีการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ยังอยู่ในช่วง 90 วันของการรอให้มีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งว่า กรณีนี้คาดว่าจะครบ 90 วันในวันที่ 10 ธ.ค. 2561 และจะเข้าสู่ระยะเวลาของการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 จนวันสุดท้ายคือ 6 พ.ค. 2562 หากมีการคลายล็อคคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 กกต. จะใช้เวลาช่วง 90 วันดังกล่าว ให้เป็นประโยชน์ตามแนวทางของรัฐบาล โดยเร่งดำเนินการเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง นักการเมือง ประชาชน รวม 10 วัน และคาดว่าจะใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ 55-60 วัน เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นขั้นตอนการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองที่กระบวนการทำไม่ใช่ทำถึงแค่วันสุดท้ายก่อนกฎหมายลูก ส.ส. จะมีผลใช้บังคับ แต่พรรคสามารถทำได้จนถึงวันก่อนรับสมัครลงเลือกตั้ง ถือว่าพรรคมีเวลามากกว่า 30 วันในการดำเนินการ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าระยะเวลาดังกล่าวเพียงพอที่พรรคจะทำไพรมารีโหวต แม้การหาสมาชิกพรรคจะทำได้หลังคลายล็อค และ กกต. ต้องตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค แต่กฎหมายให้สมาชิกรับรองคุณสมบัติของตนเองที่จะนำมายื่นสมัคร อย่างไรก็ดีหากภายหลังพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ บุคคลนั้นต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานแจ้งข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งหากผู้นั้นไปร่วมในกระบวนการไพรมารีโหวตของพรรค ไม่มีผลทำให้ขั้นตอนไพรมารีโหวตของพรรคต้องเสียไป เพียงแต่คนที่ทำต้องถูกลงโทษ
เมื่อถามว่า ภายหลัง คสช. คลายล็อคพรรคการเมืองจะสามารถขึ้นป้ายเชิญชวน หรือขึ้นเวทีปราศรัยเชิญชวนให้บุคคลเข้าเป็นสมาชิกพรรคได้หรือไม่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ไม่ได้ตอบคำถามให้ชัดเจน แต่กล่าวว่า ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี รวมทั้งต้องรอดูคำสั่งคลายล็อคของ คสช. ที่จะออกมาเสียก่อน
อ่านประกอบ :
ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ จาก ไทยรัฐออนไลน์