ตามไปดู กม.ลูก ส.ส.-ส.ว.เลือกตั้งเมื่อไหร่ วุฒิสมาชิกสรรหายังไง-กองทัพจอง 6 ที่
ชำแหละบทเฉพาะกาล กฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. แกะรอยไทม์ไลน์เลือกตั้ง เร็วสุด 24 ก.พ. 62 แต่อุปสรรคเพียบ ช้าสุด พ.ค. 62 สอดคล้องคำพูด ‘วิษณุ’ เปิดวิธีสรรหา ส.ว. 250 ราย ตั้ง กก. แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ต้องทำให้เสร็จ 3 วันหลังเลือกตั้ง ส.ส. ‘บิ๊กเหล่าทัพ’ จองคิว 6 เก้าอี้
ในที่สุดร่างกฎหมายลูก หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ 4 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อปี 2560 ประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
ต่อมา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 (อ่านประกอบ : มีผลแล้ว!กม.ลูก ส.ส.-ส.ว. ขีดเส้น กกต. 150 วันกำหนด ลต.-คสช. ตั้ง กก.สรรหา ส.ว.)
การประกาศใช้กฎหมายลูกสำคัญทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว มีผลให้การเลือกตั้ง ส.ส. ต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วัน โดยถูกระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญปี 2560
แม้ว่าใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บทเฉพาะกาล มาตรา 171 จะบัญญัติไว้อีกขยักหนึ่งคือ เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้มีการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 90 วัน ก็ตาม
นั่นหมายความว่า หากนับตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 รัฐบาลมีเวลาอย่างช้าที่สุดถึงประมาณเดือน ธ.ค. 2561 ในการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง หลังจากนั้นมีเวลา 150 วันในการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จคือภายในเดือน พ.ค. 2562
ตรงตามที่ ‘เนติบริกรครุฑ’ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เคยเน้นย้ำหลายครั้งหลายหนว่า วันเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดคือภายในเดือน พ.ค. 2562 โดยวางตุ๊กตากำหนดวันเลือกตั้งไว้ 4 วันใน 4 เดือน ได้แก่ เร็วที่สุดคือวันที่ 24 ก.พ. 2562 หลังจากนั้นคือวันที่ 31 มี.ค. 2562 วันที่ 28 เม.ย. 2562 และช้าที่สุดคือวันที่ 5 พ.ค. 2562 (อ่านประกอบ : ม.44ปลดล็อคประชุมพรรค-เลือกตั้งช้าสุด พ.ค.62 นักการเมืองต้านไพรมารีโหวต)
อย่างไรก็ดีพรรคการเมืองเกือบทั้งหมดต่างประสานเสียงตรงกันว่า ต้องการให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดคือภายในวันที่ 24 ก.พ. 2562
ดังนั้นหากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ภายในเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของเส้นตาย จะทำให้เหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษเท่านั้น หากต้องการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 จริง ทั้งการหาเสียง กำหนดนโยบายของพรรคการเมือง การสรรหา ส.ส. ลงสมัครชิงชัยในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ การจัดปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่แบ่งเขตเลือกตั้งไปแล้ว เตรียมทำคูหาเลือกตั้ง และว่าจ้างจัดทำหีบบัตรเลือกตั้ง และบัตรเลือกตั้งใหม่
นั่นอาจทำให้หลายฝ่ายมองว่า ไม่น่าจะทัน สวนทางกับบรรดานักเลือกตั้งมืออาชีพที่สะท้อนออกมาตรงกันว่า ยังไงก็ทัน!
อีกปัจจัยหนึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกรอบการสรรหา ส.ว. ล็อตแรก ที่ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนเลือกด้วยจำนวน 250 ราย โดยในจำนวนนี้มีบุคคลที่เป็นโดยตำแหน่งรวม 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และปลัดกระทรวงกลาโหม
สำหรับกรอบเวลาการสรรหา ส.ว. โดย คสช. นั้น ถูกระบุไว้ในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. สรุปได้ว่า ให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. มีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 รายแต่ไม่เกิน 12 ราย หลังจากนั้นแบ่งการคัดเลือกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการเลือกตั้งทางอ้อม ให้กลุ่มบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านกฎหมาย ด้านการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุข หรือเปิดรับสมัครจากบุคคลภายนอก เป็นต้น สรรหากันเองทั้งในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ให้ได้รวม 200 รายชื่อ หลังจากนั้นรวบรวมรายชื่อให้ คสช. โดยในกลุ่มนี้ต้องสรรหาให้ครบถ้วน 50 วันก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.
กลุ่มสอง ดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการดำรงตำแหน่ง ส.ว. และมีความสามารถในการปฏิรูปประเทศ รวม 400 รายชื่อ ให้ คสช.
หลังจาก คสช. ได้รับรายชื่อทั้ง 2 กลุ่มแล้ว จะคัดเลือกกลุ่มแรก 200 รายชื่อให้เหลือ 50 รายชื่อ ตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ส่วนกลุ่มสองจะคัดเลือกให้เหลือ 194 รายชื่อ โดยจะใส่อีก 6 รายชื่อที่เป็นโดยตำแหน่งข้างต้น รวมเป็น 200 รายชื่อ รวมทั้งสิ้น 250 รายชื่อ ก่อนนำทูลเกล้าฯต่อไป
กระบวนการทั้งหมดในการสรรหา ส.ว. นี้ ต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนทูลเกล้าฯภายใน 3 วันหลังการเลือกตั้ง ส.ส. แล้วเสร็จ โดย ส.ว. ล็อตแรกนี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นั่นหมายความว่า มีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรี ตามช่องที่กำหนดในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ 2 วาระ
ทั้งหมดคือ ‘ไทม์ไลน์’ การเลือกตั้งที่ใกล้เข้าทุกที ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองก็กำลังฝุ่นคลุ้งไปด้วย ‘พลังดูด’ และการควานหาตัวหัวหน้าพรรคของ 2 พรรคใหญ่ ได้แก่ เพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ที่ยังไม่ลงรอยกัน เชื่อได้ว่า หลังจากนี้การ ‘ดีล’ ทางการเมืองคงใกล้ถึงจุดลงตัว และเมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งคลอดออกมา คงได้เห็นโฉมหน้ากันว่า ใครเป็นใคร
อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้เป็นเพียงการพิจารณาตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายลูกของ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น แต่หากในอนาคตเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น การเลือกตั้งอาจจะไม่เป็นไปตามนี้ก็เป็นไปได้ ?