11 สภาวิชาชีพ แถลงย้ำค้าน 4 มาตราในร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
ค้านมาเกินครึ่งปี ยังไม่เห็นผล สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เล็งขอเข้าพบ ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบ 6 กันยายนนี้ เพื่อชี้แจงผลกระทบของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. ....
วันที่ 29 สิงหาคม สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภาวิชาชีพการบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวคัดค้านบทบัญญัติ มาตรา 64 มาตรา 65 มาตรา 66 และมาตรา 48 ของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 1 กรมประชาสัมพันธ์
นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ เคยเสนอเรื่องราวเหล่านี้ไปให้ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีอำนาจในการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้วหลายครั้ง ทั้งการทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การแจ้งประเด็นที่ไม่เห็นด้วยในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พร้อมแนบร่างที่จะขอแก้ไข แต่ก็ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้เข้าพบใดๆ จากนั้นมีการยื่นเรื่องผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงยื่นไปถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย
“ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ครม.กลับเห็นชอบและรับทราบ เรื่องร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ..... โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพ.ร.บ.นี้ ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ไปตรวจพิจารณา ก่อนจะเสนอครม.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่า เราพยายามติดต่อ พยายามขอเข้าชี้แจงหลายครั้งแล้วตั้งแต่ต้นปี แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนมาทราบครม.รับพิจารณา จึงรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่สภาวิชาชีพฯ ไม่มีการโอกาสชี้แจงกับผู้มีอำนาจในร่างกฎหมายเลย”
นายทัศไนย กล่าวอีกว่า ทุกสภาวิชาชีพทราบถึงปัญหาที่อาจจะเกิดจากร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ..... แต่ทำไมถึงตัด 11 องค์กรสภาวิชาชีพไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือชี้แจงใด โดยวันที่ 6 กันยายน สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เตรียมขอเข้าพบนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงผลกระทบ และเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักศึกษาและประชาชน อีกทั้งเรายังมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกาเพื่อขอเข้าพบด้วย
“สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย เห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษา อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล แต่เราติดอยู่ที่ว่า การปฏิรูปการศึกษาที่ท่านมองเป็นประโยชน์ เรากลับมองว่า บางเรื่องน่าจะไม่เป็นประโยชน์ และด้วยประสบการณ์ทางวิชาชีพ จึงพยายามชี้แนะแต่ไม่มีโอกาส”
ขณะที่รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ จากสภาการพยาบาล กล่าวถึงการขับเคลื่อนต่อจากนี้ จะนำข้อมูลร่างกฎหมายฉบับนี้ มีมาตราไหนทำลายระบบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวกับวิชาชีพที่ต้องมีใบอนุญาตในการประกอบวิชาชีพ และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยข้อมูลเหล่านี้ต้องถึงประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความไม่ปลอดภัยจากการรับบริการในอนาคต รวมถึงเยาวชน ผู้ปกครองเยาวชน จะไม่ได้รับความเป็นธรรมที่จะเข้าศึกษาในวิชาชีพใน 11 สาขา
ด้านนายแพทย์เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงการขับเคลื่อนเพื่อชี้แจงผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา โดยขณะนี้ร่างกฎหมายอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา จึงอยากให้มีการเชิญผู้ได้รับผลกระทบเข้าให้ข้อเท็จจริงด้วย
“หากร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีบางมาตราส่งผลกระทบต่อสภาวิชาชีพแบบนี้ สุดท้ายผู้เสียหายไม่ใช่สภาวิชาชีพ แต่จะเกิดกับเยาวชนของประเทศในอนาคตหลังจากกฎหมายตัวนี้ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว” นพ.เกรียง กล่าว
ทั้งนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพแห่งประเทศไทย มีมติคัดค้านมาตรา 64,65,66 ของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... โดยขอให้ตัดออกทั้ง 3 มาตรา โดยระบุเหตุผล
มาตรา 64 ที่ห้ามมิให้สภาวิชาชีพเข้าไปมีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้น ซึ่งหมายถึงการจะไม่มีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยเฉพาะวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตผู้ป่วยได้
มาตรา 65 แห่งร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ตราขึ้นตามมาตรา 40 วรรคสาม แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 โดยไม่คำนึงถึงข้อยกเว้นตามมาตรา 40 วรรคสอง เนื่องจากกฎหมายสภาวิชาชีพเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคลเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะตามมาตรา 40 วรรคสอง แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยกเว้นไว้
ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 65 แห่งร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา จึงขัดกับข้อยกเว้นในมาตรา 40 วรรคสอง แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และความไม่ถูกต้องของมาตรา 65 คือการบัญญัติข้อกฎหมายมาก้าวก่าย อำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพ ที่ตรากฎหมายบังคับใช้ไว้ก่อนแล้ว และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสภาวิชาชีพไม่เคยกระทำการเลือกปฏิบัติต่อสถาบันการศึกษา หรือก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด
อีกทั้งการรับรองหลักสูตรของสภาวิชาชีพไม่ใช่การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การรับรองหลักสูตรทำเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค คือการคุ้มครองประชาชนที่ส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล
มาตรา 66 เป็นบทบัญญัติที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของสภาวิชาชีพ การขัดกันของกฎหมายที่มีศักดิ์เป็นพระราชบัญญัติของร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฉบับนี้ กับ พ.ร.บ.ของสภาวิชาชีพต่างๆ นั้นไม่สามารถทำได้ กฎหมายตราขึ้นใหม่ต้องไม่กระทบหรือขัดแย้งกับกฎหมายที่มีสภาพบังคับอยู่เดิม
ส่วนการคัดค้านมาตรา 48 สมาพันธ์สภาวิชาชีพฯ ขอให้ตัดคำว่า “วิชาชีพ” ที่ระบุในมาตรา 48 ออกทั้งหมด
เหตุผลเพราะการให้บริการทางวิชาชีพ และให้คำปรึกษาทางวิชาชีพ มิใช่หน้าที่และอำนาจของสถาบันอุดมศึกษา และยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายเมื่อสถาบันกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายสภาวิชาชีพ ยกตัวอย่าง เมื่อปี 2559 สถาบันการศึกษาของรัฐ 2 แห่ง ฝ่าฝืนพ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ.2543 โดยไปเป็นคู่สัญญากับกรุงเทพมหานคร รับจ้างทำงานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ เส้นขนานที่ 38 - หนามยอกอก ของสภาวิชาชีพ ?
สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งตบเท้าพบรมต.ศธ.ชี้จุดบกพร่องร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
สภาวิชาชีพ 11 องค์กร เสนอความเห็นค้าน ม.56 ในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา