เปิดบันทึก 'วิษณุ' รายงาน บิ๊กตู่ จ้างผลิตพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล.ไร้ทุจริต
"...ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้สิทธิตามเงื่อนไขข้อ 26 ในสัญญาเดิม ต่อไปอีก 180 วัน และเมื่อครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มดำเนินการตามสัญญาจ้างเพิ่ม (Repeat Order) ต่อไป โดยไม่ต้องใช้ข้อความตามสัญญาข้อ 26 ซ้ำอีก โดยการทำสัญญา RO สามารถทำสัญญาได้ในช่วงเวลา 180 วัน ของการบังคับใช้ข้อ 26 ซึ่งถือว่าสัญญาโครงการฯ ระยะที่ 2 ยังไม่สิ้นสุด..."
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกโครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 วงเงิน 2.7 พันล้านบาท และงานประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 จำนวน 15,000,000 เล่ม (สิบห้าล้านเล่ม) หรือ ภายในระยะเวลา 7 ปีแล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน กำหนดราคากลาง 12,438,750,000 บาท หรือเล่มละ 829.25 บาท มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ขมวดปม กต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล. ฝ่าฝืนRepeat Order -บิ๊กขรก.ชิงลาออก?, 2 ปม‘ให้คะแนน’ ประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม ไฉน'เจ้าเดิม' โอกาสสูง?)
โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา นายชาตรี อรรจนานันท์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางมาที่สำนักข่าวอิศรา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดำเนินงานโครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางทั้ง 2 โครงการดังกล่าว โดยในส่วนโครงการจัดจ้างผลิตช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 วงเงิน 2.7 พันล้านบาท ได้รับความเห็นชอบจากผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว (อ่านประกอบ : 'อิศรา' ถาม 'อธิบดีกรมการกงสุล' ตอบ! ประเด็นร้อนจ้างผลิตพาสปอร์ต2ช่วง 1.47 หมื่นล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างงานผลิตหนังสือเดินทางระยะที่ 2 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความ ที่ กงน. (กร 6) 49 / 2560 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2560 ถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานให้ทราบถึงการแก้ไขปัญหาโครงการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงการต่างประเทศ ระบุถึง ผลการหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ระยะที่ 2 ไป ระยะที่ 3 โดยประชุมหารือเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2560 ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการกงสุล, อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด และ นายชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษากรมบัญชีกลาง
สรุปผลการหารือว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 ให้กระทรวงการต่างประเทศใช้สิทธิตามเงื่อนไขข้อ 26 ในสัญญาเดิม ต่อไปอีก 180 วัน และเมื่อครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มดำเนินการตามสัญญาจ้างเพิ่ม (Repeat Order) ต่อไป โดยไม่ต้องใช้ข้อความตามสัญญาข้อ 26 ซ้ำอีก โดยการทำสัญญา RO สามารถทำสัญญาได้ในช่วงเวลา 180 วัน ของการบังคับใช้ข้อ 26 ซึ่งถือว่าสัญญาโครงการฯ ระยะที่ 2 ยังไม่สิ้นสุด
และใช้เวลาเตรียมการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding ในระยะต่อไป (ระยะที่ 3) อาจกำหนดระยะเวลาสัญญาจ้างเพิ่มเป็น 2 ปี หรือครบจำนวน 4 ล้านเล่ม ซึ่ง สำนักอัยการสูงสุดชี้แจงแล้วว่า สามารถพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร โดยเฉพาะในเรื่องกำหนดเวลา หากไม่กระทบสาระสำคัญในส่วนอื่นของสัญญา ทั้งนี้ ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยที่โครงการระยะต่อไป (ระยะที่ 3) ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนไม่สูงกว่า เล่มละ 1,000 บาท และค่าจ้างในการจัดซื้อจัดจ้างไม่สูงกว่า เล่มละ 829.25 บาท โดยมีกำหนดเวลาดำเนินการไม่เกิน 2 ปี
โดยหน่วยงานที่ร่วมหารือเห็นตรงกัน ว่า ข้อแนะนำดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความไม่สุจริต ไม่มีข้อขัดข้องกับการดำเนินการของกระทรวงการต่างประเทศ และสามารถดำเนินตามแนวทาง ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางแก่ประชาชน
รายละเอียดหนังสือ ดังนี้
ตามที่ได้รายงานในที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2560 เกี่ยวกับสภาพปัญหาในการดำเนินโครงการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-passport) ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการให้บริการ และ คสช. ให้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว และหากมีความจำเป็นจึงเสนอหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557
การนี้จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2560 ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, อธิบดีกรมการกงสุล, อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, นายเข็มชัย ชุติวงศ์ รองอัยการสูงสุด และ นายชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษากรมบัญชีกลาง เห็นว่า กรณีนี้สามารถดำเนินการโดมาตรการบริหารปกติต่อไปโดยยังไม่มีความจำเป็นต้องเสนอให้ใช้อำนาจในการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. สรุปผลการพิจารณาดังนี้
สืบเนื่องมาจากที่ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ดำเนินโครงการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-passport) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อหาผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการในระยะต่อไปโดยวิธีการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่โดยสัญญาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน (ระยะที่ 2) กำลังจะสิ้นสุดลง เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการจัดทำหนังสือเดินทางเป็นจำนวนมาก (เฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 เล่ม) จนครบจำนวนตามที่กำหนดในสัญญาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเดิมที กต. ได้เตรียมการที่จะทำสัญญาจ้างผู้รับจ้างรายเดิมโดยวิธีการจ้างเพิ่ม (Repeat Order : RO) และได้มีการเจรจายกร่างสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นไปตามที่กำหนดก็จะดำเนินการในระหว่างรอยต่อของสัญญาเดิม (ระยะที่ 2) กับสัญญาใหม่ (ระยะที่ 3)
ทั้งนี้ในชั้นการตรวจร่างสัญญา สำนักอัยการสูงสุด (อส.) มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ควรนำสิทธิในข้อ 26 ตามสัญญา ที่กำหนดให้ กต. มีสิทธิกำหนดให้ผู้รับจ้างจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในราคาเล่มละ 400 บาท ต่อไปได้อีก 180 วัน มาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างตามสัญญาใหม่ด้วย
กรณีจึงเกิดความสงสัยว่า กต. ควรนำสิทธิดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาแค่ไหน เพียงใด จึงจะเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ และควรจะต้องเจรจาต่อรองราคาเล่มละเท่าใด จึงจะไม่เป็นการทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ ในขณะที่มีเงื่อนเวลาเร่งรัดว่าสัญญาเดิมจะสิ้นสุดลงภายในสัปดาห์นี้
สรุปความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้รับจ้างรายเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า จะดำเนินการโดยใช้RO ต่อไปอีกระยะหนึ่ง คาดว่าจะดำเนินการต่อไปประมาณ 1-2 ปี เพื่อรองรับการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยเจรจาต่อรองค่าจ้างไว้ที่ราคาเล่มละ 791 บาท (ราคาเดิม 829.25) และถึงเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเนื่องจากผู้รับจ้างโต้แย้งว่า เงื่อนไขสัญญาเดิมที่กำหนดให้ผู้รับจ้างจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปอีก 180 วัน ในราคาเล่มละ 400 บาท เป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง หาก กต. บังคับใช้สิทธิดังกล่าวก็จะขอสงวนสิทธิเพื่อฟ้องร้องต่อไป ประกอบกับสัญญาฉบับเดิมจะครบจำนวนและสิ้นสุดลงภายในไม่เกิน วันที่ 3 มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างกระชั้น อาจทำให้การจัดทำหนังสือเดินทางต้องหยุดชะงัก จึงต้องตัดสินใจโดยเร็วเพื่อให้การบริการจัดทำหนังสือเดินทางเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สำนักอัยการสูงสุด (อส.) ชี้แจงว่า การตั้งประเด็นข้างต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ กต. พิจารณาใช้สิทธิตามสัญญาเดิม รวมทั้งข้อเท็จจริงอื่น เช่น การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น มาใช้ในการต่อรองราคาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐมากขึ้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า จะต้องกำหนดค่าจ้างตามสัญญาใหม่ไว้ที่ราคา 400 บาทต่อเล่มเสมอไป ซึ่งหาก กต. ได้นำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาแล้ว ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็ไม่มีข้อขัดข้อง
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความเห็นว่า กรณีนี้ หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ต้องมีเหตุผลชี้แจงให้ได้ว่า เหตุใดจึงเจราจาต่อรองราคาไว้เช่นนั้น ซึ่งหากมีการนำประเด็นข้อสังเกตต่างๆ มาประกอบการพิจารณาต่อรองราคาให้เป็นประโยชน์ต่อภาครัฐแล้ว ย่อมสามารถชี้แจงได้ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า น่าจะสามารถเจรจาต่อรองเพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายบางรายการที่ไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากเดิม ตามความเห็นของของสำนักงานอัยการสูงสุด
กรมบัญชีกลาง มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การดำเนินการจัดจ้างโดยวิธี RO อาจกำหนดให้สัญญามีผลบังคับ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 180 วัน นับแต่สัญญาเดิมสิ้นสุดก็ได้ เพื่อให้มีการใช้สิทธิบังคับให้ผู้รับจ้างปฏิบัติตามเงื่อนไขตามสัญญาเดิมไปก่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อรัฐมากขึ้น
สรุปผลการหารือ
1.ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า ควรให้คำแนะนำ กต. ให้ดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป โดยใช้การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธี RO ตามแนวทางเดิม แต่ให้ไปต่อรองราคากับผู้รับจ้างเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่เหลือก่อนสัญญาเดิมสิ้นสุด เพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ตามข้อสังเกตของ อส. และ สตง. โดยจะต้องไม่เกินไปกว่าราคาตามที่กำหนดในสัญญาเดิม (เล่มละ 829.25)
2.ในช่วงแรกให้ กต. ใช้สิทธิตามเงื่อนไขข้อ 26 ในสัญญาเดิม ต่อไปอีก 180 วัน ไปก่อน และเมื่อครบกำหนดดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มดำเนินการตามสัญญาจ้างเพิ่ม (Repeat Order) ต่อไป โดยไม่ต้องใช้ข้อความตามสัญญาข้อ 26 ซ้ำอีกในสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมในระยะเปลี่ยนผ่าน
การทำสัญญา RO ให้ กต. สามารถทำสัญญาได้ในช่วงเวลา 180 วัน ของการบังคับใช้ข้อ 26 ซึ่งถือว่าสัญญาโครงการฯ ระยะที่ 2 ยังไม่สิ้นสุด และใช้เวลาเตรียมการเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-bidding ในระยะต่อไป (ระยะที่ 3) อีกช่วงหนึ่ง กต. อาจกำหนดระยะเวลาสัญญาจ้างเพิ่มเป็น 2 ปี หรือครบจำนวน 4 ล้านเล่ม ซึ่งเรื่องนี้ อส. ชี้แจงแล้วว่า กต. สามารถพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาได้ตามที่เห็นสมควร โดยเฉพาะในเรื่องกำหนดเวลา และสามารถดำเนินการต่อไปได้เลยหากไม่กระทบสาระสำคัญในส่วนอื่นของสัญญา
ทั้งนี้ กต. ต้องเร่งดำเนินการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างระยะต่อไปให้เร็วที่สุด โดยที่โครงการระยะต่อไป ต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนไม่สูงกว่าอัตราเดิม คือ เล่มละ 1,000 บาท และค่าจ้างในการจัดซื้อจัดจ้างไม่สูงกว่าราคาเดิม คือ เล่มละ 829.25 บาท โดยมีกำหนดเวลาดำเนินการไม่เกิน 2 ปี
3. จากการหารือดังกล่าว ทุกหน่วยงานมีความเข้าใจตรงกันและเห็นว่า เป็นการชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความไม่สุจริต ไม่มีข้อขัดข้องในการดำเนินการของ กต. และคาดว่าจะสามารถดำเนินตามสรุปผลการหารือ ข้อ 2 ได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางแก่ประชาชน
เบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามในบันทึกผลสรุปการหารือดังกล่าว เพื่อทราบ และเก็บเป็นหลักฐานแล้ว เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2560
อ่านประกอบ :
'อิศรา' ถาม 'อธิบดีกรมการกงสุล' ตอบ! ประเด็นร้อนจ้างผลิตพาสปอร์ต2ช่วง 1.47 หมื่นล.
เมินข้อตกลงคุณธรรม? ไม่เปิดเผยรายชื่อเอกชนยื่นประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม
ขมวดปม กต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน2.7พันล. ฝ่าฝืนRepeat Order -บิ๊กขรก.ชิงลาออก?
อสส.ทักเล่มละ400บ.แต่ทำสัญญา790 บ.! เบื้องหลังกต.ซื้อพาสปอร์ตช่วงเปลี่ยนผ่าน 2.7 พันล.
2 ปม‘ให้คะแนน’ ประกวดราคาพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม ไฉน'เจ้าเดิม' โอกาสสูง?
ดูชัดๆ เกณฑ์ให้คะแนนประกวดพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม เจ้าเดิม-หน้าใหม่ ใครเข้าวิน?
เปิดตัว 4 บิ๊กบริษัท ชิงพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม - เผยเกณฑ์ให้คะแนน 60 : 40
ผ่าเล่มพาสปอร์ต ‘เครื่องบันทึกข้อมูล’ จุดชี้ขาด ใครกวาด 15 ล้านเล่ม?
ห้ามผู้ยื่นเข้าดูพื้นที่จริง-เปิดข้อมูลทางเทคนิคไม่ได้! คำชี้แจงกรณีพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม
ชื่อบ.จันวาณิชย์เข้าร่วมด้วย! 'ดอน' ยันจัดซื้อพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 1.2 หมื่นล.โปร่งใส
ยุคทักษิณ-บิ๊กตู่ ใครคือรายใหญ่ กวาด PASSPORT- Visa Sticker 1.6 หมื่นล.?
เผย 4 รายประกวดทำพาสปอร์ต 15 ล้านเล่ม 1.2 หมื่นล.-กรมบัญชีกลางปิดชื่อเอกชน