จรัญ ภักดีธนากุล กับมุมมองพฤติกรรมการเสพติด ไม่ใช่เฉพาะยาเสพติด
คนไทยจำนวนไม่น้อยเสพติดพฤติกรรมรุนแรง เราถึงเจอเหตุการณ์แค้นต้องฆ่า แค่เหม็นขี้หน้าก็ฆ่ากันเสียแล้ว แล้วอะไรเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมเหล่านั้น พฤติกรรมสำส่อนทางเพศ เสพติดอบายมุขทุกประเภท ทำลายสถาบันครอบครัว-คุณภาพชีวิตผู้คน พฤติกรรมเสพติดการกินอาหารที่ขาดความรู้ นำสู่โรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ
ศ. (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง หลากหลายมุมมองต่อปัญหาการเสพติดและคนล้นคุก ภายในงานสัมมนาเรื่อง "การเสพติดย้อนอดีตสู่อนาคต: ปัญหาและทางออก" (Back to the Future of Addiction:Problems and Solutions" จัดโดย สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพ
ศ. (พิเศษ) จรัญ ได้ให้มุมมองต่อพฤติกรรมการเสพติดที่ไม่ใช่เฉพาะยาเสพติด แต่เป็นการเสพติดพฤติกรรมอันตรายทุกเรื่อง ซึ่งวิธีการเสพติดเหล่านั้นทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น โสเภณี โรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพอนามัยของประชาชน และปัญหาอุบัติอุบัติภัยบนท้องถนน
ถามว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากอะไร และแนวทางแก้ไขที่สาเหตุคืออะไร
ศ. (พิเศษ) จรัญ มองไปที่องค์ความรู้ พฤติกรรมต่างๆของมนุษย์ถ้าทำไปโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ ทำแล้วได้ผล พอใจ สบายใจ พ้นทุกข์ชั่วระยะหนึ่ง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ก็จะทำซ้ำ จนถึงระดับหนึ่งกลายเป็นความถนัด เป็นนิสัย และเป็นพฤติกรรมเสพติด ซึ่งไม่ต่างจากการเขียนหนังสือด้วยมือซ้าย และมือขวา อยู่ที่เราฝึกกันมาจึงถนัดอย่างนั้น พร้อมกับเชื่อว่า ความรู้ ป้องกันและยับยั้งพฤติกรรมเสพติดทุกชนิด แต่เพราะไม่รู้พฤติกรรมแบบใดนำสู่ความเสื่อม นำสู่ภัยพิบัติทั้งแก่ตัวเราเองและต่อสังคม เราก็จะทำซ้ำ และพัฒนาเป็นพฤติกรรมเสพติดแก้ไขยาก ยิ่งกว่านั้น พอทำไปได้ประโยชน์สุข ก็เกิดการพัฒนาจากความไม่รู้ เป็น "รู้ผิด คิดผิด เชื่อผิด" แก้ยากยิ่งกว่าไม่รู้
"เวลาเราให้ความรู้คนไม่รู้ ง่ายกว่าให้ความรู้คนที่มีความรู้ผิดๆ สิ่งที่เราพลาดเพราะเราไม่เข้าใจสาเหตุตรงนี้ เราก็ใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ใช้โทษทางอาญา เข้าไปกดข่ม ปล่อยให้เขาผิด ให้รู้ผิด ทำผิด คิดผิดจนกลายเป็นอาชญากรรม แล้วลากตัวเขามาประหารด้วยโทษทัณฑ์ทางอาญา เพราะเราไม่รู้เท่าทันของพฤติกรรมเสพติดอย่างนี้ เราก็กำหนดนโยบายผิด ยุทธศาสตร์ของชาติก็ผิด ยุทธวิธีผิด ปฏิบัติการผิดติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 40 ปี กับการแก้ไขปัญหายาเสพติด"
สำหรับปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้น ศ. (พิเศษ) จรัญ กล่าวว่า ได้ขยายตัวไปเกิดกับพฤติกรรมเสพติดชนิดอื่นๆ ในทิศทางเดียวกัน ที่ชัดเจนที่สุดในสังคมไทย ได้แก่ พฤติกรรมความรุนแรงทุกรูปแบบ คนไทยจำนวนไม่น้อยเสพติดพฤติกรรมรุนแรง เราถึงเจอเหตุการณ์แค้นต้องฆ่า แม้แต่เพียงแค่เหม็นขี้หน้าก็ฆ่ากันเสียแล้ว แล้วอะไรเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมเหล่านั้น พฤติกรรมสำส่อนทางเพศ พฤติกรรมเสพติดอบายมุขทุกประเภท ทำลายสถาบันครอบครัว ทำลายคุณภาพชีวิตผู้คน พฤติกรรมเสพติดการกินอาหารที่ขาดความรู้ นำสู่โรคภัยไข้เจ็บ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ เกิดเบาหวาน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสพติด หรือพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ผิดๆ นำสู่อุบัติเหตุบนท้องถนน ฆ่าคนไทยเป็นหมื่นคนต่อปี พิการอีกนับแสนคน น่าเศร้าสลด จะทำอย่างไร
ต้นเหตุใหญ่ของพฤติกรรมเสพติด เขาเห็นว่า เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดโอกาส ซึ่งมีคนไทยจำนวนมากอยู่ในแวดวงที่ไม่มีโอกาสได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งจากครอบครัว ชุมชน สื่อสาธารณะต่างๆ
"ความด้อยโอกาส ขาดโอกาสทำให้เขายิ่งผิดพลาดลงอีกไปในพฤติกรรมอันตราย และแม้ว่า เขาจะได้รับบทเรียนจากการทำพฤติกรรมเสพติดเหล่านั้น แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ต้องวนเวียนซ้ำซ้อน เข้าออกโรงพยาบาล เข้าออกเรือนจำ ขึ้นโรงขึ้นศาลวนเวียนอยู่อย่างนั้น เพราะขาดกำลังใจ ไม่มีกำลังใจเข้มแข็งพอที่จะทลายเปลี่ยนพฤติกรรมอันตรายเหล่านั้นได้ เพราะเสพติดเสียแล้ว เหมือนเราไม่สามารถเปลี่ยนการเขียนหนังสือด้วยมือขวาที่เราถนัดมาตั้งแต่เด็ก ไปเป็นการเขียนด้วยมือซ้ายได้ ทำอย่างไรถึงจะทำให้การขาดแคลนทั้งความรู้ โอกาส กำลังใจของประชาชนเหล่านั้นได้"
ศ. (พิเศษ) จรัญ ยังชี้ว่า พฤติกรรมเสพติด เป็นเรื่องใหญ่ และเป็นสาเหตุใหญ่สาเหตุหนึ่งของปัญหาสังคม หากเราสามารถช่วยกันแก้ปัญหานี้ที่สาเหตุได้ สร้างระบบงานกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช่อาญาเข้าไปลงโทษเขาเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ช่วยเหลือ บำบัดรักษา แก้ไขเขาได้ด้วย คนเหล่านั้นไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยเชื้อโรค แต่ป่วยด้วยพฤติกรรมของเขาที่ผิดพลาด กระบวนการยุติธรรมต้องออกแบบมาแก้ปัญหานี้ คู่ขนานไปกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ต้องทำให้เขากลับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ถูกไม่ควร ให้มีพฤติกรรมปลอดภัยให้ได้ไล่ตั้งแต่ในชั้นสอบสวน การฟ้องคดี การพิจารณา พิพากษา ตลอดจนถึงชั้นบังคับโทษ ขณะที่ในเรือนจำต้องเป็นโรงพยาบาลบำบัดรักษาโรคพฤติกรรมอันตรายที่เขาเสพติดมา ให้คลาย ให้หายให้ได้ และคืนคนดี คนสุขภาพดี สู่สังคม สังคมก็จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงขึ้น คนใหม่ที่จะเข้ามาสู่กระบวนการที่เป็นปัญหากับสังคมก็จะน้อยลง
สุดท้าย ศ. (พิเศษ) จรัญ มองไปที่สถาบันครอบครัว วันนี้เราสูญเสียสถาบันครอบครัวไปเกือบหมดแล้ว ครอบครัวของคนทำงานไม่ได้เลี้ยงลูกเอง เพราะพ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ ลูกอ่อนเกิดขึ้นมาส่วนใหญ่ส่งกลับไปให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง โดยไม่มีเวลาสั่งสอนเด็กในครอบครัว เราทำอย่างไรจึงจะเติมส่วนที่ขาดของครอบครัวไทยในปัจจุบันให้เต็มขึ้นมาได้ ให้เด็กได้รับความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินชีวิต เหมือนเด็กในครอบครัวอื่นๆ
"ปัญหายังลามไปที่โรงเรียน โรงเรียนของเราหมดสภาพไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมเสพติดอะไรเลย เขาให้แต่ความรู้ทางการศึกษา ทำความเป็นเลิศทางวิชาการเท่านั้น ย่อหย่อนมากในวิชาการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย พฤติกรรมที่อันตรายที่ควรละเว้น เชื่อว่า เด็กและเยาวชนถ้าได้รับความรู้ความเข้าใจพฤติกรรมใดนำสู่ความเสื่อม และอันตรายต่อชีวิตก็จะไม่ทำ แม้จะสั่งให้ทำยังไม่ทำ แต่ที่ทำอย่างเต็มกำลัง เพราะไม่รู้ โรงเรียนก็พัง บ้านก็พัง สถาบันศาสนาก็พังไม่ได้ให้ความรู้ที่แท้จริงการดำเนินชีวิต รวมตลอดถึงสื่อสาธารณะก็ยังมีไม่น้อยที่ให้ "ข้อมูลสีดำ" กับประชาชน ให้ความรู้ที่ผิดพลาดกับประชาชน รวมถึงระบบราชการก็เพี้ยนอย่างที่เห็น ถึงเวลาเอาผู้รู้ทุกศาสตร์ทุกแขนงแลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาไปพร้อมๆ ทำสังคมไทยให้เป็นสังคมของปัญญา"
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/profile.php?id=100008644639451
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
จรัญ ภักดีธนากุล ชี้ถึงเวลาต้องขยายสถานพินิจเอกชน ตามม. 55 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ
คาดไทยต้องใช้เวลาอีก 30 ปี แก้ยาเสพติดได้หมดเหมือนรัฐแวนคูเวอร์ แคนนาดา
องคมนตรี ห่วงสังคมไทยไม่ปรับทัศนคติ มองผู้เสพยา เป็นโรคต้องบำบัดรักษา แทนติดคุก
สังคมก้มหน้า! เปิดผลสำรวจความคิดเห็น เสพติดสมาร์ทโฟน ชีวิตหายไป 6.2 ปี