องคมนตรี ห่วงสังคมไทยไม่ปรับทัศนคติ มองผู้เสพยา เป็นโรคต้องบำบัดรักษา แทนติดคุก
พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี ชี้สังคมไทยต่อสู้กับยาเสพติดมานาน ยังปรับทัศนคติคนในชาติไม่ได้ ว่าคนเสพยา เป็นโรคทางสมอง ต้องแก้ด้วยหมอ และได้รับการบำบัดดูแล ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา
วันที่ 9 สิงหาคม สำนักกิจการในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมกับศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดสัมมนาเรื่อง "การเสพติดย้อนอดีตสู่อนาคต: ปัญหาและทางออก" (Back to the Future of Addiction:Problems and Solutions" ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพ โดยพลอากาศเอกประจิน จั่นทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากาารกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดงาน
จากนั้น พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงที่จะแก้ปัญหายาเสพติดด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยเลือกจะใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาเท่านั้น เพราะยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง วันนี้เรากำลังพูดถึงสิ่งเสพติดที่มีผลต่อสมอง ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ สิ่งเสพติดและยาเสพติดเป็นโรคทางสมองต้องแก้ด้วยแพทย์ ไม่ใช่กระบวนการทางอาญา
"เราต่อสู้กับยาเสพติดมานานยังไม่สามารถปรับทัศนคติของคนในชาติได้เลยว่า การนำผู้เสพมาติดคุกไม่ช่วยให้เลิกยาเสพติดได้ ในประเทศเยอรมันและกลุ่มสแกนดิเนเวียร์คนเสพติดไม่ถูกจับติดคุก แต่บ้านเราไม่กล้าทำจึงยังไม่สามารถเอาชนะยาเสพติดได้ ซึ่งปัญหาคือจะอยู่กับมันอย่างไร ต่างประเทศเขาก้าวไปแล้ว คุกของเขาจึงว่าง"
องคมนตรี กล่าวถึงการแก้กฎหมายยาเสพติด ไม่ได้ทำเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ ไม่ใช่การปล่อยอาชญากร แต่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไปแก้ไขที่อาการทางสมอง ซึ่งเป็นกลไกทางการแพทย์ที่กำหนดอยู่ในร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดฯ
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ต่อไปนี้ยาเสพติดจะอยู่ในกระบวนการของป.ป.ส. มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาอย่างเป็นเอกภาพ ส่วนในเรื่องของสิ่งเสพติดต้องหาเจ้าภาพให้เจอ เพราะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการแพทย์รู้กันมานานแล้ว เป็นห่วงนโยบายแห่งรัฐ ห่วงว่ากระทรวงสาธารณสุขเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากแค่ไหน หลายประเทศเอายาเสพติดไปอยู่กับสาธารณสุขไม่ได้อยู่กับกระทรวงความมั่นคงแบบของไทย
"สิ่งเสพติดไม่มีใครสามารถนำออกไปจากโลกนี้ได้ จะทำอย่างไรให้คนเสพไม่เป็นภัยต่อสังคม ให้คนเสพกลับตัวเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคมไม่ใช่ภาระ และคนเสพที่ไม่ใช่อาชญากร ขณะเดียวกันคนในสังคมต้องไม่มองเขาเป็นขยะสังคม รวมถึงงกฎระเบียบจำเป็นต้องมี และต้องทำความเข้าใจควบคู่ไปด้วย “
องคมนตรี กล่าวถึงพฤติกรรมการเสพติด ที่อาจเกิดได้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากยาเสพติด อย่างกรณีประเทศฝรั่งเศสที่ห้ามเด็กนักเรียนประถมและมัธยมใช้โทรศัพท์และแทปเล็ต เพราะสังคมเขายอมรับแล้วว่าสิ่งเหล่านี้ทำลายสมอง ขณะที่ประเทศของเรายังไม่ได้คิดถึงตรงนี้