คุยกับ ‘ผจก.ใหญ่ เครดิตบูโร’ กับ 4 เงื่อนไข นำข้อมูลเบี้ยวหนี้ กยศ. เข้าระบบ
“การออกแบบระบบจึงต้องระมัดระวัง เพราะ กยศ. เป็นกลไกถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มโอกาสทางการศึกษามากขึ้น จึงไม่ควรนำความเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้และรับชำระหนี้มาใช้ เนื่องจากเป็นคนละวิธีคิด”
ปัญหาการค้างชำระหนี้กู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังคงหาวิธีการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ปัจจุบัน กยศ.ปล่อยเงินกู้ไปแล้วประมาณ 5 ล้านราย ราว 5.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,528,703 ราย (ร้อยละ 65) อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,061,534 ราย (ร้อยละ 19) ชำระหนี้เสร็จสิ้น 805,034 ราย (ร้อยละ 15) และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 52,917 ราย (ร้อยละ 1)
โดยหากนับเฉพาะผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ พบว่า มีผู้ชำระหนี้ปกติ 1,378,429 ราย (ร้อยละ 39) และผิดนัดชำระหนี้ 2,150,274ราย (ร้อยละ 61) เงินต้นผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด 6.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งกยศ.ได้ดำเนินคดีฟ้องผู้กู้ยืมเงิน ตั้งแต่ปี 2547-2560 ไปแล้ว จำนวน 1.1 ล้านราย หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนคน
ทำให้ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอให้ใช้แนวทางการเข้าเป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เพื่อแก้ไขปัญหา
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า การนำ กยศ. เข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ทำได้ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ คือ
1) กฎหมายของ กยศ. ต้องให้อนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิก ขณะเดียวกันกฎหมายของเครดิตบูโรต้องอนุญาตด้วย
2) ข้อมูลที่จะนำเข้ามาสู่ระบบของเครดิตบูโร ต้องเป็นข้อมูลของลูกหนี้เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ค้ำประกัน
3) ข้อมูลลูกหนี้ กยศ. ต้องได้คุณภาพตามมาตรฐาน ถูกต้อง ครบถ้วน และทันสมัย จะผิดฝาผิดตัวไม่ได้
4) พิจารณาในมิติเชิงสังคมควบคู่ว่า เมื่อข้อมูลลูกหนี้ชั้นไม่ดีเข้ามาอยู่ในเครดิตบูโรแล้ว จะส่งผลกระทบกับผู้กู้ยืมอย่างไร
ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร ระบุเพิ่มเติมข้อเสียของการนำเข้าระบบเครดิตบูโร สมมติ ผู้กู้ยืมเงิน กยศ. มีบัญชีเดิมของสถาบันการเงิน 4 บัญชี ผ่อนชำระดี แต่กลับไม่ได้ชำระหนี้ กยศ. จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แสดงว่า มีบัญชีหนึ่ง เป็นลูกหนี้ชั้นดี อีกบัญชีหนึ่ง เป็นลูกหนี้ชั้นไม่ดี ฉะนั้น หากนำบัญชีหลังมารวมในประวัติเครดิตบูโร จะกลายเป็น 5 บัญชี เมื่อไปยื่นกู้กับสถาบันการเงินรายใหม่ สถานะจะขึ้นว่า ค้าง จึงถูกปฏิเสธการให้กู้ ทั้งที่เป็นคนอยากจะใช้หนี้ก็ได้
“การออกแบบระบบจึงต้องระมัดระวัง เพราะ กยศ. เป็นกลไกถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มโอกาสทางการศึกษามากขึ้น จึงไม่ควรนำความเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้และรับชำระหนี้มาใช้ เนื่องจากเป็นคนละวิธีคิด”
ขณะที่ข้อดี ผู้กู้ยืมผ่อนชำระหนี้ กยศ. ดี และไม่มีหนี้อื่น ฉะนั้น จึงมีประวัติดี ทำให้เมื่ออยากเริ่มต้นธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ สามารถใช้ประวัติจากลูกหนี้ กยศ. ได้ ดังนั้น กรณีเช่นนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญ และหลักประกันดีที่สุดของผู้กู้ เพราะข้อมูลดังกล่าวสะท้อนวินัยทางการเงินของผู้กู้เอง ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ ต้องจัดการกับปัญหาผู้ค้างชำระ กยศ. ให้อยู่ในระดับเหมาะสม จะต้องเหลือเฉพาะลูกหนี้ชั้นไม่ดี ที่มีความสามารถชำระหนี้ แต่ไม่ชำระเท่านั้น เพราะเครดิตบูโรไม่ต้องการคนประเภทนี้
สำหรับผู้กู้ยืม กยศ. ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 52,917 ราย (ร้อยละ 1) นายสุรพล กล่าวว่า ผู้กู้ยืมกลุ่มนี้มีความตั้งใจชำระหนี้ แต่ไม่มีความสามารถ กยศ.จึงต้องกลับไปปรับโครงสร้างหนี้ให้เรียบร้อยก่อน พร้อมเน้นย้ำ อย่านำระบบเครดิตบูโรไปลงโทษผู้กู้ผิดฝาผิดตัว เพราะจะทำร้ายตัวระบบให้เสียไปด้วย
“กยศ. ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งค้าหากำไร หรือให้เป็นสถาบันการเงิน แต่ได้ออกแบบให้เป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นต้องกลับไปสู่ปรัชญานี้” ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวทิ้งท้าย
อ่านประกอบ:10 ปี กยศ. ฟ้องเบี้ยวหนี้ 1.1 ล้านราย สาเหตุยากจน-ขาดวินัย-ไร้จิตสำนึก
ภาพประกอบ:http://sau.singlelicense.com