เครือข่าย ปชช.จี้ บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ขอโทษคนลาวอย่างเป็นทางการ ปมเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก
เครือข่ายภาค ปชช. จี้ บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ -กลุ่มลงทุน สร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในลาวแตก ร่วมขอโทษอย่างเป็นทางการ พร้อมชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้รับผลกระทบ ‘ผู้แทนกลุ่มรักเชียงของ’ ชี้กระบวนการรับผิดเอกชนแย่ ขาดธรรมาภิบาล ด้านนักข่าวอาวุโส เดอะเนชั่น แนะ รบ.ลาว ทบทวนยุทธศาสตร์ หันมาส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี ดึงรายได้เข้าประเทศ
วันที่ 9 ส.ค. 2561 เครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว จัดเวทีสนทนาประชาชน เรื่อง เขื่อนในลาว (แต่) ไม่ใช่เขื่อนลาว บริษัทเกาหลี การไฟฟ้าไทย และเงินช่วยเหลือข้ามชาติในธุรกิจเขื่อนที่แตกพัง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว กลุ่มรักเชียงของ กล่าวถึงเขื่อนในลาวเป็นเขื่อนที่มีอันตราย เพราะสร้างอยู่ในหุบเขา จึงเสี่ยงเขื่อนแตก หากมีปริมาณน้ำฝนมาก หรือแม้เขื่อนไม่แตก แต่ถือว่าสร้างความเสียหายทางนิเวศสะสมแล้ว ซึ่งเขื่อนสร้างเสร็จปีแรก อาจมีผลกระทบระดับหนึ่ง แต่ยิ่งนานวันจะยิ่งมีผลกระทบมากขึ้น อนาคต 20-30 ปี รวบรวมความเสียหายกลายเป็นภัยพิบัติ จึงเห็นว่า ปัจจุบันหมดยุคการสร้างเขื่อนแล้ว
“กรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ขาดกระบวนการรับผิดชอบ จากที่เขื่อนแตกไม่นาน บริษัทฯ ออกมาให้ข้อมูลว่า ยังสามารถก่อสร้างต่อไปได้ ตั้งคำถามว่า กลุ่มผู้สร้างเขื่อนกำลังคิดอะไร” ผู้แทนกลุ่มรักเชียงของ กล่าว และว่า เพียงแค่บริษัทฯ พูดว่า จะเดินหน้าก่อสร้างเขื่อนต่อ แสดงถึงการขาดธรรมาภิบาล ซึ่งไม่ควรพูดเช่นนั้น แต่ควรมาช่วยเยียวยาชีวิตที่สูญหายไปเป็นร้อยคน แผ่นดินถิ่นเกิด ที่อยู่อาศัย ทุ่งนา หายไปทั้งหมด รวมไปถึงความรู้สึกของคนอยู่กับเขื่อน
นายนิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากบริษัทฯ แล้ว ยังรวมถึงกลุ่มให้ทุนที่ต้องทบทวนธรรมาภิบาลด้วย ต้องพิจารณาว่า เงินที่ให้กู้ไปนั้นนำไปทำอะไร แม้จะอ้างว่า ผู้กู้เป็นฝ่ายทำ แต่กลุ่มให้ทุนเป็นผู้ให้เงิน ซึ่งไม่ใช่บาทสองบาท ฉะนั้นเมื่อให้กู้ต้องสอบถามว่า ทำแล้วจะเกิดปัญหาหรือไม่ ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไรอย่างเดียว
ด้านนายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักข่าวอาวุโส สำนักพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า เขื่อนแตกครั้งนี้ทำให้รัฐบาลลาวเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมวาระพิเศษ มีนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว เป็นประธาน และมีมติให้ตรวจสอบความปลอดภัยของเขื่อนทั่วประเทศ รวมถึงระงับหรือแขวนโครงการลงทุนใหม่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศว่าด้วยการเป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลลาวอาจยังปกปิดข่าวเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากเขื่อนแตกอยู่ที่กว่า 100 คน ทั้งที่ความจริงอาจมีจำนวนมากกว่าตัวเลขที่ระบุไว้
นักข่าวอาวุโส สำนักพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวถึงข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลลาวต้องหยุดสร้างเขื่อน เพราะจำนวนเขื่อนที่มีอยู่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าใช้สอยในประเทศและขายให้แก่ไทย และหันมาทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยเน้นการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมประเพณีแทน ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศได้ใกล้เคียงกับการขายไฟ เนื่องจากลาวไม่สามารถเป็นแบตเตอรี่ให้ใครได้อีก ต่อให้มีภูเขาและแม่น้ำจำนวนมาก จนสามารถสร้างเขื่อนได้ทั่วประเทศ แต่เราไม่สามารถควบคุมหรือทำนายธรรมชาติได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงท้ายเครือข่ายประชาชนจับตาการลงทุนในเขื่อนลาว และคณะทำงานภาคประชาสังคมเกาหลีเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ลาวแตก ออกแถลงการณ์ โดยเรียกร้องให้มีการขอโทษอย่างเป็นทางการและเป็นกิจลักษณะจากบริษัท เอส เค เอ็นจิเนียร์แอนด์คอนสตรัคชั่น, บริษัท เกาหลีเวสเทิร์นพาวเวอร์, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว โดยความร่วมมือของรัฐบาลลาว รวมถึงต้องมีการชดเชย ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแตกของเขื่อนฯ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทผู้ลงทุนและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องต้องไม่กระทำการใด ๆ ที่ทำให้ค่าชดเชยที่เกิดขึ้น ย้อนกลับมาเป็นค่าไฟฟ้าหรือนำมาจากเงินทุนสาธารณะที่ประชาชนไทย เกาหลี และลาวจะต้องเป็นผู้ชดใช้ บริษัทและกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ต้องรับค่าใช้จ่ายในการชดเชยเองในความเสียหายที่เกิดขึ้น .
อ่านประกอบ:เขื่อนแตก เรื่องของลาว –เรื่องของเรา