- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เขื่อนแตก เรื่องของลาว –เรื่องของเรา
เขื่อนแตก เรื่องของลาว –เรื่องของเรา
ภาวะจิตใจผู้ประสบภัย อาจเกิดภาวะซึมเศร้าได้ กลับไปไม่เห็นบ้าน เพราะบ้านไม่มีแล้ว มันพอๆ กับ สึนามิ แต่นี่คือโคลนถล่ม การฟื้นฟูเรื่องประกอบอาชีพ จึงทำได้ไม่ง่ายนัก
อุทกภัยจากการแตกของเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ในแขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย รวมถึงผู้ประสบภัยจำนวนมาก ไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด มีบริษัทไทยร่วมลงทุน และใช้เงินลงทุนจากสถาบันการเงินไทยด้วยนั้น เราต้องเรียนรู้อะไรบ้าง
“เขื่อนแตก เรื่องของลาว กับเรื่องของเรา” คือ หัวข้อในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 15 จัดขึ้น ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 โดยเชิญนักวิชาการด้านทรัพยากรแหล่งน้ำ พลังงาน นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านโยธา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากจุฬาฯ มาร่วมกับวิเคราะห์เหตุการณ์ในแง่มุมต่างๆ
มุมมองด้านน้ำ
ความจริงเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ไม่ใช่ตัวเขื่อนหลักที่แตก แต่ที่แตกเป็นเขื่อนปิดช่องเขา (saddle dam) D
ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ให้มุมมองทางด้านน้ำเวลามีคนพูดเอ๊ะอะ อะไรก็โทษ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เรียกว่า climate change เป็นแพะ น้ำมากผิดปกติ น้ำน้อยผิดปกติ ก็ climate change ล้วนๆ
"ผมอยากให้กลับมาดู หาก climate change จริงๆ ขอให้ดู เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยเพิ่งสร้างเสร็จ เก็บน้ำครั้งแรก หาก climate change จริงจะไม่ล้นข้ามแค่เขื่อนเดียว เพราะโดยปกติช่องเขาขาด หลักการคือ แยกออกเป็น 2 ส่วน เขื่อนหลักตั้งระดับสันเขื่อนไว้สูงสุด saddle dam สูงเกือบเท่าเขื่อนหลัก แต่ไม่มีวันสูงกว่าเขื่อนหลัก
สปิลเวย์ (spillway) ทางระบายน้ำล้น จะเป็นจุดต่ำที่สุด เรียกว่าองครักษ์พิทักษ์เขื่อนมีหน้าที่ปกป้องไม่ให้เขื่อนพัง สาเหตุเขื่อนพัง จากงานวิจัยพบว่า อันดับ 1 คือ เกิดจากการน้ำล้นสันตัวเขื่อน รองลงมา สาเหตุจากเขื่อนทรุดตัวลง เนื่องจากฐานรากไม่ดี และมาจากการสไลด์ตัวของชั้นดิน ”
ผศ.ดร.อนุรักษ์ ยังเปรียบ saddle dam เหมือน emergency spillway สำหรับกรณีที่น้ำเยอะมากๆ
พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงกรณีเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ไปพังที่ saddle dam ซึ่งเป็นเขื่อนตัวเล็ก โดยมีหลักฐานหลายอย่างที่พบ เช่น เป็นการเก็บน้ำครั้งแรก น้ำยังไม่ล้นสันเขื่อนเลย มีการล้นสัน spillway บ้าง และหาก climate change จริง น้ำก็น่าจะล้นทุก saddle dam
สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลทะลักลงมาท่วมบ้านเรือนประชาชน นักวิชาการด้านแหล่งน้ำ เชื่อตัวเลข 500 ล้านลูกบาศก์เมตร คำนวณจากพื้นที่ท่วมอยู่ในระดับจังหวัด ยังไม่ข้ามจังหวัด
มุมมองด้านดิน
ขณะที่รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พยายามอธิบายให้เห็นประเภทของเขื่อน โดยแบ่งตามวัสดุ ทั้งเขื่อนคอนกรีต (Concrete Dam) เขื่อนดิน เขื่อนหินถม (Earth and Rock fill Dam) รวมถึง การออกแบบเขื่อนแต่ละแบบอย่างไรให้ปลอดภัย โดยเน้นลักษณะของเขื่อนปิดช่องเขา ความเสียหายที่พบได้ในเขื่อนดิน
รศ.ดร.ฐิรวัตร ได้ลำดับเหตุการณ์ และลักษณะความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงของ saddle dam D เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย โดยพบว่า เขื่อนแห่งนี้ที่เคยมีข่าวสร้างเสร็จก่อนกำหนดถึง 5 เดือน วันที่ 20 กรกฎาคม พบว่า ตัวเขื่อนทรุดหลายจุด ประมาณ 11 เซนติเมตร จนวันที่ 23 กรกฎาคม ทรุดถึง 1 เมตร
“บริษัทมีการส่งบันทึกแจ้งเตือนไปยังทางการของลาว เพื่อเตรียมการอพยพคน วันรุ่งขึ้นเขื่อนแตก ซึ่งจะเห็นว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉียบพลัน แต่อาจเกิดจากแนวทางเลือกการบริหารจัดการเตือนภัยเร็วแค่ไหน”
นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา ยังชี้ให้เห็นถึงแนวเลื่อน และแนวสไลด์ของสันเขื่อนที่พัง เห็นสภาพน้ำกัดเซาะตัวเขื่อนจนเห็นถึงชั้นหิน กระทั่งพาดินไปหมดเหลือแต่หิน
แม้ว่า รศ.ดร.ฐิรวัตร จะไม่ได้ฟันธง หรือสรุปสาเหตุของเขื่อนแตก แต่ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยทำให้เกิดความเสียหายของเขื่อน saddle dam D มากที่สุด ดังนี้
- กำลังของวัสดุไม่เพียงพอ ใช้วัสดุไม่เหมาะสม ประเมินไม่ถูก ระหว่างก่อสร้างบดอัดไม่เพียงพอ/ไม่เหมาะสม/ไม่แน่น และประเมินกำลังวัสดุไม่ถูกต้อง
- การไหลซึมผ่านตัวเชื่อม ประเมินอัตราการไหลไม่ถูกต้อง ออกแบบโครงสร้างระบายน้ำไม่เหมาะสม ซึ่งกรณีนี้ต้องเกิดรูให้เห็น
- การไหลซึมผ่านใต้เขื่อน ประเมินสภาพทางธรณีวิทยาไม่ถูกต้อง และอัดฉีดน้ำปูนไม่เพียงพอ
- กำลังของชั้นดินใต้เขื่อนไม่เพียงพอ กรณีนี้ตัวเขื่อนจะทรุดตัวลง
- ปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางธรรมชาติ
“ทางวิชาการ มีดินบางแบบโดนน้ำยุบตัวได้ ถ้ามีการบดอัดไม่ดี” นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา กลับมาเน้นย้ำ
กรณีเขื่อนแห่งใดแห่งหนึ่ง มีกระบวนการการออกแบบดีแล้ว มีการควบคุมงานดีแล้ว รศ.ดร.ฐิรวัตร ชี้อีกว่า ตามธรรมชาติก็อาจเกิดความไม่แน่นอนที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้นเช่นกัน แต่ก็มีวิธีจัดการความเสี่ยงโดยการประเมินผลกระทบหากมีความเสียหายจะกระทบกี่หมู่บ้าน แผนการอพยพคน ซึ่งต้องทำก่อนเริ่มโครงการ
“ระหว่างการก่อสร้าง ก็มีวิธีป้องกัน ลดภัยพิบัติได้ เช่น ตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างระหว่างการก่อสร้าง การบดอัดตามสเปกหรือไม่ โดยระหว่างก่อสร้างไปต้องตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน รวมถึงเมื่อก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ ต้องสังเกตตัวเขื่อนมีพฤติกรรมจะสไลด์ออกทางด้านซ้าย หรือขวาหรือไม่ หากพบต้องทบทวนการออกแบบว่า มีจุดอ่อนตรงไหน เพื่อได้แก้ไข”
เขื่อนกรณีสร้างเสร็จใหม่ๆ หากมีการกักเก็บน้ำมากๆ หรือเติมน้ำครั้งแรก อย่างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา เชื่อว่า โดนทดสอบจากการเก็บกักน้ำครั้งแรก ซึ่งเป็นไปได้ว่า ตอนเติมน้ำควรมีการมอนิเตอร์ หรือมีมาตรการในการจัดการปัญหาเมื่อเกิดขึ้น หากพบว่า อาการไม่ดีวิธีที่ต้องทำคือหยุดเติมน้ำ ด้วยการระบายทางเขื่อนหลักให้มากและซ่อมแซมก่อน หรือกรณีหากเกิดระหว่างพายุก็ต้องระบายผ่าน สปิลเวย์ มีความเป็นไปได้อาจระบายผ่านสปิลเวย์ไม่พอ เพราะมีขัดจำกัด ขั้นต่อไปก็คือระบายผ่าน saddle dam
“เขื่อนใหม่ๆ ปกติหากผ่านการเติมน้ำครั้งแรกได้ ตัวเขื่อนจะมีการปรับตัว ยุบลงเรื่อยๆ และจะหยุดยุบ ช่วงปีที่ 2 3 4 ดีขึ้นเวลาผ่านไป 5-6 ปี เขื่อนก็จะเสถียรภาพ”
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง กรณี saddle dam D พัง รศ.ดร.ฐิรวัตร วิเคราะห์ถึงน้ำที่ไหลออกไปทั้งภูเขา เมื่อน้ำลดเร็วๆ แบบนี้ มันจะดึงตัวเขื่อนลงมาด้านล่าง อาจทำให้เขื่อนที่เหลือ A B C E F มีเสถียรภาพต่ำกว่าปกติ ยิ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหว มีแรงเขย่าอีก อาจทำให้เสถียรภาพเขื่อนยิ่งต่ำลงไป
“นี่คือขั้นตอนการออกแบบจะคิดไว้หมดแล้ว ยิ่งหากเขื่อนมีการออกแบบได้เต็มกระบวนการก็เชื่อว่า พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้ ระหว่างใช้งานก็มีการตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน ซึ่งเขื่อนในไทยจะมีอุปกรณ์วัดพฤติกรรมเขื่อน หากมีความเสียหาย มีน้ำรั่ว สามารถอุดได้ สำคัญคือเรื่องการบำรุงรักษาเขื่อนอย่างถูกต้อง ปัญหาใหญ่ๆจะไม่ค่อยมี”
มุมมองด้านพลังงาน
รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ไดให้มุมมองมิติด้านพลังงาน ไล่ตั้งแต่กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของไทย ปี 2560 ที่ไทยพึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจากลาวแค่ 8% หรือ 3,578 เมกกะวัตต์ โดยส่วนใหญ่โรงไฟฟ้าของไทยใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงเป็นหลัก ซึ่งเหตุผลที่ซื้อไฟจากลาว รัฐบาลต้องการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง
เหตุเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ลาวจะเปลี่ยนบทบาท จากที่วางตัวเองเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย ทำหน้าที่แหล่งจ่ายพลังงานหลักให้ประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่นั้น รศ.ดร.กุลยศ ชี้ให้เห็นว่า ลาวมีศักยภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเยอะมาก และปี 2560 ลาวมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้ไทยรวมมูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นพลังงานน้ำ 23,280 ล้านบาท พลังงานถ่านหิน (หงสา) 17,300 ล้านบาท
เรียกว่า ลาวมีรายได้จากการขายไฟให้ไทย คิดเป็น 7.24% ของ GDP ลาวในปี 2560
นี่อาจเป็นข้อมูลเพื่อตอบคำถามที่ว่า ลาวจะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์แบตเตอรี่ของเอเชีย หลังงจากนี้หรือไม่
นายอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศลาว จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ตอกย้ำนโยบายหม้อไฟของเอเชีย จะเห็นชัดว่า 6 เดือนแรกปี 2561 ไฟฟ้า คือสินค้าส่งออกลำดับแรกๆ ของลาว เพิ่มขึ้น 14-15% หลักๆ คือขายให้ไทย
“30 ปีผ่านมา การสร้างเขื่อน การขายไฟฟ้ามีผลต่อเศรษฐกิจของลาวจริงๆ บริษัทที่เข้าไปลงทุนในบริษัทผลิตไฟฟ้า ไม่จากไทย ก็เวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ซื้อไฟฟ้า ขณะที่เกาหลี ฝรั่งเศส จีนก็ต้องมาร่วมลงทุนกับรัฐวิสาหกิจของลาวในธุรกิจพลังงานด้วยเช่นกัน” นักวิจัยผู้จากสถาบันเอเชียศึกษา ฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันและกัน ระหว่างไทยกับลาว ไทยและมาเลเซีย การเป็นตัวกลางแง่การเป็นฮับ (hub) ส่งกระแสไฟฟ้าในอาเซียน
จุดนี้เป็นความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจไทยและลาว ที่เหมือน 'ลมหายใจ' ซึ่งกันและกัน จนกระทั่งมีคำพูดที่ว่า การเจรจาระหว่างประเทศ ไม่มีการเจรจาครั้งไหนไทยกับลาว เจรจากันได้ดี เท่ากับเรื่องการซื้อขายไฟฟ้า
สุดท้าย นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศลาว เชื่อว่า อุทกภัยครั้งใหญ่ที่แขวงอัตตาปือ ขอบเขตการฟื้นฟูกินบริเวณที่ใหญ่มาก ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ อีกทั้งอัตตาปือ เป็นพื้นที่ฮาร์คอร์ อยู่ส่วนของลาวใต้ ส่วนใหญ่ประชากรยากจน เป็นพวกลาวเทิง การเข้าถึงพื้นที่นี่เอง คาดว่า อาจต้องใช้เวลาฟื้นฟู และกว่าจะกลับมาประกอบอาชีพได้ไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี
พร้อมกันนี้ เขายังแสดงความเป็นห่วงภาวะจิตใจผู้ประสบภัยที่อาจเกิดภาวะซึมเศร้า เมื่อกลับไปไม่เห็นบ้าน เพราะบ้านไม่มีแล้ว มันพอๆ กับ สึนามิ
แต่นี่คือโคลนถล่ม
ที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญท่านนี้ เห็นว่า วันนี้คนลาวเริ่มจะคิดและทบทวนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับเขื่อน เขาไม่ได้มองน้ำท่วมเป็นเรื่องของโชคชะตา หรือกรรมแล้ว แต่มองเห็นถึงผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน แม้การเมืองในลาวจะไม่เปลี่ยน แต่ความความคิดและเชื่อมั่นของประชาชนได้เปลี่ยนไปแล้ว...
ที่มาภาพ:https://www.chula.ac.th/news/11571/