ละเอียดคำพิพากษายกฟ้อง‘สันติสุข’ หมิ่น‘นิพิฐ’ ปมรายงานข้อพิพาทคดีปาล์มอินโดฯ
เปิดรายละเอียดศาลพิพากษายกฟ้องคดี ‘นิพิฐ’ ฟ้อง ‘สันติสุข’ หมิ่นประมาท ปมข้อพิพาทโครงการปลูกปาล์มอินโดฯ ศาลชี้การกระทำของจำเลยเป็นการรายงานข้อเท็จจริง บอกเล่าที่มาที่ไปโครงการ ตั้งคำถามถึงผู้เกี่ยวข้อง พยานหลักฐานนำสืบไม่ได้ว่ามีส่วนใดพาดพิง-ทำให้โจทก์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
จากกรณีเมื่อเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา ศาลอาญา พิพากษายกฟ้อง คดีที่นายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ หรือ PTTGE เป็นโจทก์ ฟ้องนายสันติสุข มะโรงศรี ผู้ดำเนินการรายการวิทยุ FM101 เป็นจำเลย ในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีนำเสนอข้อพิพาทระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE กับนายนิพิฐ กรณีลงทุนในโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียนั้น (อ่านประกอบ : ศาลอาญา ยกฟ้องคดี 'สันติสุข' หมิ่น 'นิพิฐ' ชี้ตั้งข้อสังเกตกรณีปลูกปาล์มอินโดโดยสุจริต)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในคำพิพากษาฉบับเต็มคดีดังกล่าว ผู้พิพากษาได้พิจารณาข้อเท็จจริงของคดีนี้ จากทั้งฝั่งนายนิพิฐ และนายสันติสุข ปรากฏประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับรายงานข้อพิพาทดังกล่าว สรุปได้ ดังนี้
นายนิพิฐ นำเทปบันทึกรายการ ‘ห้องข่าว 101’ และ ‘แฟ้มลับ 101’ ที่จัดรายการโดยนายสันติสุข มาแสดงต่อศาล พร้อมยกคำพูดของนายสันติสุขหลายคำว่า เป็นการชี้ช่องทางให้ผู้ฟังสับสน และเชื่อได้ว่าโจทก์ (นายนิพิฐ) มีส่วนพัวพันกับความไม่ชอบมาพากลในโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียดังกล่าว ส่วนนายสันติสุข ชี้แจงว่า สิ่งที่พูดไปเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงของโครงการ และต้องการให้เกิดการตรวจสอบที่ตรงไปตรงมาอย่างโปร่งใส
ศาลพิจารณาทั้ง 2 รายการดังกล่าวที่นายสันติสุขเป็นผู้จัดรายการ นำเสนอข้อพิพาทคดีดังกล่าวระหว่างเดือน ก.ค. 2558-ส.ค. 2558 โดยนายสันติสุขพูด สรุปได้ว่า โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย มีการซื้อขายที่ดินแพงเกินจริงนั้น คำพูดดังกล่าวอาจทำให้คนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจว่า มีการซื้อที่ดินโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบ ปตท.
เห็นว่า ข้อความดังกล่าวของจำเลย (นายสันติสุข) มิได้กล่าวยืนยันว่าเป็นการกระทำของโจทก์โดยตรง ทั้งไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ แม้ในตอนท้ายจะเอ่ยถึงผู้บริหารที่ถูกสอบสวน ถูกเลิกจ้าง และถูกฟ้องแพ่งเป็นคดี ก็ยังไม่อาจเชื่อได้ว่าจะทำให้คนฟังทั่วไปเข้าใจได้ว่าคนที่จำเลยกล่าวถึงคือโจทก์ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าคำพูดของจำเลยดังกล่าว จะทำให้คนฟังทั่วไปรู้ได้ว่าหมายถึงตัวโจทก์ อันจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ส่วนที่จำเลย พูดถึงปัญหาแต่ละโครงการ และตั้งคำถามว่าลำพัง ‘นาย น.’ คนเดียวจะทำให้เกิดปัญหาได้จริงหรือ หากทำคนเดียวทำไมตรวจสอบได้เนิ่นช้า และกล่าวถึงที่มาของโครงการว่าใครเป็นผู้ริเริ่มนั้น เห็นว่า การดำเนินรายการของจำเลยเป็นเพียงการท้าวความถึงที่มาของโครงการว่าโจทก์บริหารโครงการได้อย่างไร และนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนตั้งข้อสังเกตว่า ‘นาย น.’ ทำให้เกิดความเสียหายผู้เดียวหรือไม่ ดังนั้นข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผู้อื่นรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ไม่ได้เป็นการยืนยันใส่ความโจทก์อันจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ส่วนกรณีจำเลย เล่าว่า โจทก์เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการใน PTTGE ได้อย่างไร จนกระทั่งถูก ปตท. ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแต่ยังดำรงตำแหน่งผู้บริหารอยู่ในบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. นั้น จำเลยนำเสนอข่าวไปตามความจริง และไม่มีข้อความใดพาดพิงถึงโจทก์อันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับการดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
ส่วนกรณีจำเลยดำเนินรายการต่อเนื่องกันโดยเล่าที่มาที่ไปของโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่ผู้เป็นเสาหลักในการริเริ่มโครงการ การศึกษาข้อมูล รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับโครงการแต่ละโครงการ จนกระทั่ง ปตท. ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีแพ่งเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทเศษ โดยจำเลยพูดว่า สื่อมวลชนรายงานชัดเจนว่า คนถูกฟ้องคดีแพ่งคือโจทก์ และอธิบายถึงระบบการตรวจสอบของ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ PTTGE ได้สอบสวนและลงมติเลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ยังคงอยู่ที่ ปตท.สผ. นอกจากนี้จำเลยยังบอกว่า แต่ละโครงการมีพฤติกรรมพิศวงพิสดาร ลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนนั้น
เห็นว่า ข้อความทั้งหมดย่อมเข้าใจได้ว่า จำเลยหมายถึงการดำเนินโครงการว่ามีความซับซ้อนและพิสดาร สืบเนื่องมาจากการที่ PTTGE ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติจดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์ แต่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ไม่สามารถเป็นเจ้าของปลูกปาล์มน้ำมันได้ จึงต้องใช้วิธีการซื้อหุ้นในโครงการต่าง ๆ ที่ปลูกปาล์มน้ำมันอยู่แล้ว ดังนั้นคำว่าซับซ้อน พิศวงพิสดาร ที่จำเลยกล่าวในรายการนั้น เชื่อว่า จำเลยมีเจตนาหมายถึงโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน มิใช่ตัวโจทก์ เมื่อข้อความดังกล่าวไม่ได้หมายถึงโจทก์ กรณีดังกล่าวจึงไม่เป็นการใส่ความโจทก์
ส่วนกรณีจำเลยสัมภาษณ์ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบโครงการนี้นั้น จำเลยไม่ได้เป็นผู้กล่าวชื่อของโจทก์ แต่ พล.ต.อ.สถาพร เป็นผู้พูดมาก่อน นอกจากนี้จำเลยจะกล่าวชื่อโจทก์ในตอนท้าย แต่ก็เพื่อย้ำว่าโจทก์ยังไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิด เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้นแม้จำเลยจะมีการกล่าวชื่อ-นามสกุลโจทก์ แต่ก็เป็นไปในลักษณะเพื่อให้คนฟังให้ความเป็นธรรมกับโจทก์ ไม่ได้เป็นไปในทางใส่ความที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเช่นกัน
ส่วนกรณีจำเลยอ่านรายงานผลการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปตท. ที่ส่งมายังรายการของจำเลยนั้น ส่วนข้อความที่ว่า คนที่ถูกสอบเตรียมเสนอตัวเป็นแคนดิเดตเป็นผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.สผ. คนต่อไปนั้น เป็นเพียงการรายงานข้อเท็จจริง และพูดในทำนองว่ารู้ทันว่า ‘นาย น.’ จะสมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้บริหารของ ปตท.สผ. แต่ข้อความโดยรวมทั้งหมด ไม่ได้เป็นการใส่ความโจทก์ทำให้คนฟังรู้สึกต่อโจทก์ไปในทางลบ
ส่วนการดำเนินรายการของโจทก์ จำเลยนำเสนอข้อเท็จจริงมีใจความเกี่ยวกับกรณี PTTGE ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันโดยการซื้อที่ดิน ซื้อหุ้นในโครงการที่ลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย 5 โครงการ บางโครงการผู้ขายที่ดินทำข้อตกลงกับเอกชนที่ขายว่า ถ้าสามารถขายที่ดินให้กับ PTTGE ในราคาตามที่ตกลง จะยอมจ่ายค่าคอมมิชชั่น หรือเงิน Consultancy Services ให้กับบริษัทดังกล่าวร้อยละ 35 นอกจากนั้น จำเลยยังกล่าวว่า การซื้อดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมินยังมีการซื้อที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ทับที่ป่า ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ ปตท. ได้รับความเสียหาย ต่อมามีการตั้งกรรมการตรวจสอบภายในบริษัท และมีมติว่าโจทก์ทำนอกขอบอำนาจ จึงมีมติให้ลงโทษเลิกจ้างโจทก์ ต่อมามีการฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 2 หมื่นล้านบาทเศษ และ ปตท. ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการนั้น
เห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการของบริษัท PTTGE ว่ามีการตกลงทำสัญญาจ่ายค่าคอมมิชชั่นระหว่างเจ้าของที่ดินกับเอกชน และจำเลยได้อธิบายให้ผู้ฟังรายการเข้าใจว่าค่าคอมมิชชั่นคืออะไร และกล่าวถึงที่มาของการทำข้อตกลงนั้น โดยมีการพูดถึงบุคคลที่มาเป็นพยานในสัญญาดังกล่าว รวมทั้งกล่าวถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ปตท. ว่าเสียหายจำนวนประมาณใด
ซึ่งในความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องพิจารณาว่า เมื่อวิญญูชนโดยทั่วไปได้พบเห็น หรืออ่านข้อความ หรือฟังถ้อยคำพูดแล้ว จะส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ เมื่อข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับค่าคอมมิชชั่น เพียงแต่เป็นการอธิบายกระบวนการที่มาที่ไปของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ ปตท. เท่านั้น ไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าเป็นผู้ทุจริตบริหารงานโดยไม่ชอบแต่อย่างใด
ส่วนที่โจทก์เบิกความว่า จำเลยพูดทำนองทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์รู้จักกับกลุ่มของผู้ซื้อขายและมีการตกลงราคากันไว้แล้วนั้น ทำให้เข้าใจในทำนองว่า ถ้าคนฟังเชื่อว่า PTTGE ไม่รู้เห็นในเรื่องการซื้อขายราคาที่ดินสูง แสดงว่าคนฟังคิดผิด เห็นว่า คำพูดของจำเลยไม่ได้ยืนยันว่าโจทก์รู้จักกับบริษัทนายหน้าหรือผู้ขายที่ดิน จำเลยเพียงแต่ตั้งคำถามว่า บริษัทนายหน้ารู้ได้อย่างไรว่าจะขายที่ดินได้ในราคาเท่าไร
และข้อความว่า “ใครจะเชื่อก็เชื่อ” เป็นเพียงการกล่าวทิ้งท้ายหลังจากเสนอข่าวในทำนองเปิดโอกาสให้ผู้ฟังใช้วิจารณญาณของตนเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ได้ คำพูดดังกล่าวไม่สามารถตีความได้ว่า หากใครเชื่อว่า PTTGE ไม่รู้ไม่เห็นจะเป็นคนคิดผิดดังที่โจทก์เบิกความ ดังนั้นข้อความดังกล่าวจึงไม่ได้มีส่วนใดพาดพิงถึงโจทก์ คำพูดของจำเลยจึงไม่เป็นการใส่ความโจทก์
พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงกลางเดือน ก.ย.2560 ที่ผ่านมา นายนิพิฐ ยังได้ยื่นเรื่องฟ้องศาลแพ่ง กับ สำนักข่าวอิศรา ในข้อหาละเมิด และเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาทด้วย หลังติดตามนำเสนอข้อมูลข่าวกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซียของบริษัท พีทีที.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ฯ (PTTGE) ด้วย (อ่านประกอบ : 'นิพิฐ-บ.ปาล์ม บิซ' โนติสเตือนอิศราหยุดเสนอข่าวป.ป.ช.สอบคดีปลูกปาล์มอินโด)
อ่านประกอบ :
ยังสาวไม่ถึง!ป.ป.ช.เผยเหตุ‘บิ๊ก ปตท.’ หลุดคดีปาล์มอินโดฯ-สรุปได้ก่อนสิ้นปี’61ชัวร์
ฉบับเต็ม!รายงานผู้สอบบัญชี ปตท.ชำแหละปัญหาปลูกปาล์มอินโดฯ-โยง บ.นักการเมืองไทย
เปิดลำดับเหตุการณ์สำคัญคดีปลูกปาล์มอินโดฯก่อนกรณีค่านายหน้า32ล.ดอลลาร์
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายนิพิฐ จาก tnews, ภาพนายสันติสุข จาก naewna