- Home
- Investigative
- ข่าวทั่วไปศูนย์ข่าวสืบสวน
- ฉบับเต็ม!รายงานผู้สอบบัญชี ปตท.ชำแหละปัญหาปลูกปาล์มอินโดฯ-โยง บ.นักการเมืองไทย
ฉบับเต็ม!รายงานผู้สอบบัญชี ปตท.ชำแหละปัญหาปลูกปาล์มอินโดฯ-โยง บ.นักการเมืองไทย
“…บริษัท ดีลอยท์ฯ ผู้สอบบัญชีระดับโลก พบว่า ทุกโครงการ PTT.GE ไม่ได้รายงานสาระสำคัญ หรือผลการทำสัญญาที่สำคัญบางอย่างให้กับบอร์ด ปตท. ทราบ รวมถึงพบว่า กระบวนการซื้อขายโครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI ที่มีบริษัทนายหน้า ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทย ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย…”
โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ หรือ PTT.GE ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบตั้งแต่ปี 2550 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ PT.MAR Pontianak PT.Az Zhara PT.MAR Banyuasin PT.FBP และ PT.KPI ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลหลายประการ ทั้งเรื่องการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงการซื้อที่ดินที่อาจสูงเกินจริง
กระทั่ง ปตท. ได้ดำเนินการตรวจสอบพบว่า อาจมีผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งกระทำการทุจริต จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวน เบื้องต้นได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน มี พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน แต่ต่อมาฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาคัดค้าน พล.ต.อ.สถาพร ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงตั้งกรรมการ ป.ป.ช. 9 ราย เป็นองค์คณะไต่สวน มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.โอนสำนวนให้'สุภา'คดีปาล์มอินโด-ไล่เส้นทางเงินเอี่ยว บ.ไทย)
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเอกสารหลักฐานใหม่ในคดีปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียของบริษัท พีทีที.จีอี จำกัด (มหาชน) หรือ PTT.GE บริษัทลูกของ ปตท. ให้กับ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเพิ่มเติม โดยเป็นเอกสารจาก HADISUMARTO&PARTNERS (HSP) บริษัทที่ปรึกษาของ ปตท. ระบุสาระสำคัญว่า เมื่อปี 2553 ได้ทำหนังสือถึงนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ขอให้ตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบมาพากลของผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง (ขณะนั้น) ร้องขอให้ HSP ปกปิดข้อมูลปัญหาเรื่องการซื้อขายที่ดินเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน แต่ HSP ปฏิเสธ ผู้บริหารรายนี้จึงใช้อำนาจระงับการชำระเงินค่าบริการเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน (อ่านประกอบ : เปิดหนังสือลับบ.ที่ปรึกษากม.ร้องเรียนอดีตบิ๊กปตท.! หลักฐานใหม่ป.ป.ช.สอบคดีปาล์มอินโดฯ, พบหนังสือลับคดีปาล์มอินโดฯ 'อดีตบิ๊ก ปตท.'บีบที่ปรึกษากม.ปกปิดข้อมูล-ส่งป.ป.ช.สอบเพิ่ม)
ต่อมา สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบข้อมูลว่า บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (บริษัทลูกของ Deloitte Touche Tohmatsu ผู้สอบบัญชีระดับโลก) ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซียให้ผู้บริหารระดับสูงใน ปตท. รับทราบ โดยพบว่า ทุกโครงการ PTT.GE ไม่ได้รายงานสาระสำคัญ หรือผลการทำสัญญาที่สำคัญบางอย่างให้กับบอร์ด ปตท. ทราบ รวมถึงพบว่า กระบวนการซื้อขายโครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI ที่มีบริษัทนายหน้า ซึ่งเบื้องต้นพบว่า มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทย ได้รับผลประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย (อ่านประกอบ : ซื้อที่โดนหักค่านายหน้า-โยง บ.ไทย! รายงานผู้สอบบัญชี ปตท.ชี้สารพัดปัญหาปลูกปาล์มอินโดฯ)
เพื่อให้สาธารณชนทราบข้อเท็จจริงมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปรายงานรายงานผลการตรวจสอบจากบริษัท ดีลอยท์ฯ เฉพาะประเด็นการอนุมัติการลงทุนของ PTT.GE ใน 5 โครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย ดังนี้
โครงการ PT.MAR Pontianak
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2550 บอร์ด ปตท. (ขณะนั้น) อนุมัติให้ดำเนินการ อ้างถึงข้อมูลที่ JP Morgan (บริษัทให้บริการด้านการเงินระดับโลก) วิเคราะห์ราคากิจการประมาณ 17.7 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดีบริษัท ดีลอยท์ฯ ตรวจสอบแล้ว ไม่พบรายงานของ JP Morgan ที่ถูกกล่าวอ้างในเอกสารประกอบการประชุม นอกจากนี้ในวันที่ 25 พ.ค. 2550 ดังกล่าว มีการอ้างถึงรายงานการด้านเทคนิคและการเกษตร (Agricultural and Technical Due Diligence) หรือ Agri-TDD จากสำนักวิจัยการเกษตร (Agricultural Research & Advisory Bureau) หรือ ARAB หรือ ARABIS แต่บริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า รายงานชิ้นนี้ไม่ได้ถูกอ้างในวันประชุมดังกล่าว แต่เป็นการอ้างภายหลังที่ประชุมอนุมัติให้จัดทำโครงการนี้ไปแล้ว และรายงาน Agri-TDD รายงานไม่ครอบคลุมเนื้อหาทั้งโดย โดยไม่รายงานถึงปัญหาต่าง ๆ ของดิน และศัตรูพืชแต่อย่างใด และไม่รายงานถึงผลการประเมินผลตอบแทนภายใน (IRR) ที่ระดับ 14% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่ามติบอร์ด ปตท. ที่ต้องมีผลดำเนินงานมากกว่า 15% ต่อปี
โครงการ PT.Az Zhara
เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2550 บอร์ด ปตท. อนุมัติให้ดำเนินโครงการนี้ โดยอ้างถึงรายงานของ JP Morgan อย่างไรก็ดีบริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2551 รายงาน Agri-TDD จาก ARABIS ระบุว่า พื้นที่ที่จะให้ผลผลิตดีนั้น มีเพียง 48% จาก 100% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2551 PTT.GE ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (SPA) กับผู้ขาย (Az Zhara) โดยเอาพื้นที่ทั้งหมด (100%) นอกจากนี้ยังไม่พบว่ามีการคำนวณ IRR ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ด้วย ขณะเดียวกันการลงนาม SPA และเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป ไมได้รายงานให้บอร์ด ปตท. รับทราบ
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2551 Ernst & Young บริษัทที่ปรึกษาทางด้านบัญชีของ PTT.GE พบว่างบการเงินของ Az Zhara ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้เดือน พ.ค. 2551 ผู้บริหารระดับสูงใน PTT.GE (ขณะนั้น) ลงนามสัญญาจ้างเอกชนรายหนึ่งเพื่อทำรายงานข้อกำหนดทางด้านการเงินและภาษี (FTDD) และนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุม PTT.GE เพื่อขอสัตยาบันย้อนหลัง ซึ่งที่ประชุมได้ให้สัตยาบันดังกล่าว แต่ไม่พบว่ามีการนำเสนอผล FTDD แก่บอร์ด ปตท. หรือบอร์ด PTT.GE เพื่อรับทราบแต่อย่างใด
โครงการ PT.MAR Banyuasin
เมื่อช่วงปลายปี 2550-ต้นปี 2551 บอร์ด ปตท. อนุมัติให้ PTT.GE เข้าซื้อหุ้นของ PT.SHS (ชื่อเดิมของ PT.MAR Banyuasin) แต่บริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า ไม่มีการรายงานเรื่องการประมาณราคาหุ้นในการซื้อหุ้นดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2551 มีการลงนามข้อตกลงในการซื้อขายทรัพย์สิน (Asset Sale Purchase greement) หรือ ASPA แต่เป็นการลงนามโดยไม่มีการขออนุมัติจากบอร์ด ปตท. หรือบอร์ด PTT.GE แต่อย่างใด
โครงการ PT.FBP
เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2551 PTT.GE ได้ขอความเห็นชอบดำเนินโครงการนี้ โดยอ้างผลวิเคราะห์การเงินที่ Project Manager ได้ร่วมกับ JP Morgan สร้าง Finacial Model ขึ้นมาว่าโครงการนี้จะให้ IRR 17.1-17.8% แต่บริษัท ดีลอยท์ฯ ไม่พบเอกสารแสดงรายละเอียด และที่มาของโครงการนี้
ขณะเดียวกันบริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า ในการดำเนินการของบอร์ด PTT.GE ชุดที่ 2 ช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 2552 ระบุว่า ฝ่ายจัดการดำเนินการเปลี่ยนคณะกรรมการจัดหาที่ดินที่ขาดความรับผิดชอบ และทำการจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ นอกจากนี้ฝ่ายจัดการยังขาดความมั่นใจในคุณภาพของทีมงานของที่ปรึกษา HSP จึงได้จ้างที่ปรึกษาชุดใหม่ที่มีนักบริหารสวนปาล์มมาเลเซียเข้าทำการศึกษา โดยไม่ได้เน้นประเด็นปัญหาทางกายภาพ และพื้นที่ทับซ้อนอีก เนื่องจากสภาพปัญหาคือเรื่องการขนส่งเป็นไปในทางลบต่อการลงทุนเนื่องจากจำกัดอยู่ที่ทางบกเท่านั้น
โครงการ PT.KPI
โครงการนี้เป็นส่วนขยายของโครงการ PT.Az Zhara โดยช่วงปี 2550 บอร์ด ปตท. ได้กำหนดมูลค่าซื้อที่ดินโครงการนี้ 600 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ ประมาณ 6 ไร่) ต่อมาเมื่อปี 2551 ได้ปรับมูลค่าเป็น 900 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ ทั้งนี้บริษัท ดีลอยท์ฯ ไม่พบเอกสารแสดงที่มาของการคำนวณมูลค่าที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด
ต่อมาฝ่ายจัดการ PTT.GE ระบุมูลค่าการเข้าซื้อ 1,325 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ โดยอ้างว่า 900 เฮกตาร์มาจากค่า HGU และอีก 425 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ มาจากโอกาสในการเข้าทำถ่านหิน แต่บริษัท ดีลอยท์ฯ ไม่พบเอกสารแสดงที่มาของมูลค่าโอกาสการทำถ่านหินแต่อย่างใด
เดือน ต.ค. 2553 PTT.GE ลงนาม SPA กำหนดอัตราซื้อขาย 1,325 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ แต่จะชำระเฉพาะพื้นที่ที่ได้ HGU และไม่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อน รวมพื้นที่ 31,801 เฮกตาร์ รวมมูลค่า 31.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาเมื่อปี 2554 PT.KPI เสนอให้ PTT.GE ซื้อพื้นที่ทั้งหมด 78,877 เฮกตาร์ และลดราคาเหลือ 890 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ และ PTT.GE ได้แก้ไขสัญญา SPA เพื่อซื้อที่ดินดังกล่าวทั้งหมด รวมเป็นเงิน 52.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
บริษัท ดีลอยท์ฯ พบอีกว่า PTT.GE ได้ระบุว่า การซื้อที่ดิน PT.KPI ที่อยู่ในเขตใกล้เคียงกับ PT.Az Zhara เพื่อชดเชยพื้นที่ที่ขาดหายไปในโครงการ PT.Az Zhara แต่ในความเป็นจริงพื้นที่ทั้งสองแห่งอยู่ห่างไกลราว 1,300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ราว 27 ชั่วโมง
สำหรับบริษัทนายหน้าใน 2 โครงการ คือ PT.Az Zhara และ PT.KPI บริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า ในกระบวนการซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับ PTT.GE นั้น บริษัทนายหน้าจะได้ค่าคอมมิสชั่นถึง 35% (โครงการ PT.Az Zhara) และค่าให้บริการอีก 325 เหรียญสหรัฐฯ/เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ ประมาณ 6 ไร่ โครงการ PT.KPI มีการซื้อขายกันประมาณ 7 หมื่นเฮกตาร์)
บริษัทนายหน้าแห่งนี้ บริษัท ดีลอยท์ฯ พบว่า จดทะเบียนในสาธารณรัฐโดมินิกัน และปรากฏชื่อของบุคคลสัญชาติไทยรายหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนาม โดยบุคคลสัญชาติไทยรายนี้ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทยด้วย ซึ่งบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยนี้ มีบุคคลที่อาจเชื่อมโยงกับนักการเมืองไทยรายหนึ่งด้วย
นี่คือข้อมูลเบื้องต้นจากรายงานผลการตรวจสอบของบริษัท ดีลอยท์ฯ หนึ่งในบริษัทผู้สอบบัญชีระดับโลกที่สภาพปัญหาในโครงการดังกล่าวให้ ปตท. ทราบเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่ที่สาธารณชนอาจไม่เคยรับทราบมาก่อน
โดยชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการอนุมัติการลงทุนที่อาจไม่รายงานสาระสำคัญให้บริษัทแม่ หรือ ปตท. รับทราบ นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงบริษัทนายหน้าในการซื้อขายที่ดิน ที่มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบางแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไทย และนักการเมืองไทยด้วย
อย่างไรก็ดีปัจจุบันกรณีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นองค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.โอนสำนวนให้'สุภา'คดีปาล์มอินโด-ไล่เส้นทางเงินเอี่ยว บ.ไทย
ซีอีโอใหญ่ ปตท.ให้ถ้อยคำ ป.ป.ช.ปมปลูกปาล์มฯเจ๊งแล้ว สาวลึกใครเอี่ยวบ้าง
ป.ป.ช.ลุยเฟ้นหาข้อมูลปมอ้างชื่อ‘บิ๊กป้อม’หักหัวคิว-จ้างช่วงขุดคลองอผศ.
“นิพิฐ”ขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. อ้างบอร์ด ปตท.ทำปลูกปาล์มฯเจ๊ง
เจาะคำแก้ต่างคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ “นิพิฐ”อ้างไม่เคยทุจริต-ทำเจ๊ง!
“นิพิฐ”ดอดขอความเป็นธรรม ป.ป.ช. อ้างบอร์ด ปตท.ทำปลูกปาล์มฯเจ๊ง
“นิพิฐ”อ้างบอร์ด ปตท.สมคบกันทุจริตทำโครงการปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง
สั่งถอนลงทุน-ฟ้องแพ่งผู้บริหาร! ปตท.พร้อมร่วมมือสอบทุจริตปลูกปาล์มอินโดฯ
เปิดผลสอบ ปตท.ปมปลูกปาล์มอินโดฯ ชนวนทำ“บิ๊ก ปตท.สผ.”พ้นเก้าอี้
บอร์ด ปตท.สผ.ให้ “นิพิฐ”พ้นสภาพพนักงานปมปลูกปาล์มอินโดฯ-ฟ้องอาญาสู้
ป.ป.ช.ยกคำร้อง“บิ๊ก ปตท.สผ.”ค้านอนุฯสอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
“บิ๊ก ปตท.สผ.”ทำหนังสือค้าน 5 อนุฯป.ป.ช.สอบปมปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ
ศาลไฟเขียว“บิ๊ก ปตท.สผ.”ขอเลื่อนคำให้การคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 4 ก.ย.-ทนายถอนตัว
ปตท.สผ.แจงเหตุสอบช้า “บิ๊ก” คดีปลูกปาล์มฯ ยันเอกสารเยอะ-ย้ายมาส่วนกลางแล้ว
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1)
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(จบ)
ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
ปตท.ระทึก!อนุฯ ป.ป.ช.พบปมซื้อที่ดินปลูกปาล์ม ปท.อินโดฯ เล็งชี้มูล 2 โครงการ
ป.ป.ช.พบตัวละครคดีข้าวจีทูจีโยงซื้อขายมันเส้น!-สอบปตท.ปมปลูกปาล์มในอินโดฯ
ป.ป.ช.เหลือสอบพยานคดีปลูกปาล์มอินโดฯ 6-7 ปาก ขีดเส้น 2 เดือนเสร็จ