ชัด!คณะกก.ตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ มีมติบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัคราฯ รั่วซึม
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยมติคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบมจ.อัครา ระบุชัด บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) มีการรั่วซึม และอาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของโลหะหนัก
วันที่ 21 กรกฎาคม นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน และผู้แทนของบริษัท อัคราฯ มีมติว่า บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) มีการรั่วซึม และอาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของโลหะหนัก เพิ่มเติมจากโลหะหนักที่อาจเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติ หลังจากที่ได้มีการรับฟังและพิจารณาจากรายงานผลการศึกษาโครงการ “การสำรวจตรวจสอบโอกาสการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 (TSF1) ของเหมืองทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร” ซึ่งมี ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะ เป็นผู้ศึกษาโครงการ
โดยผลการศึกษามีข้อบ่งชี้ว่า พบความผิดปกติทางความต้านทานไฟฟ้าแสดงถึงการรั่วไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และพบความผิดปกติของธรณีเคมีร่วมกับไอโซโทป โดยระบุว่ามีร่องรอยการไหลของน้ำเหมืองจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ไปถึงบ่อสังเกตการณ์ และบริเวณนาข้าวตามที่มีการร้องเรียนจากชาวบ้าน
ประกอบกับข้อมูลการเพิ่มความถี่ในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และรายงานการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่พบว่า ภายหลังหยุดการประกอบกิจการ ในปี 2560 - 2561 คุณภาพน้ำผิวดินและน้ำบ่อสังเกตการณ์มีค่าโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และเมื่อตรวจสอบข้อมูลทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการก่อสร้างบ่อกักเก็บกากแร่ พบว่า น้ำในบ่อกักเก็บกากแร่สามารถซึมผ่านชั้นดินเหนียวได้หลังจากมีการใช้งานไปแล้วประมาณ 1 ปี อีกทั้งพบว่า คุณภาพน้ำในบ่อ Seepage ซึ่งรองรับน้ำซึมใต้ชั้นดินเหนียว และน้ำในบ่อ Underdrain มีคุณสมบัติของน้ำใกล้เคียงกัน
นอกจากนี้ ข้อมูลการประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโลหะหนักในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำของ กพร. ซึ่งใช้ข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินของบริษัท อัคราฯ ในปี 2544 - 2558 ที่คณะทำงานย่อยประมวลผลข้อมูลและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้การรับรองแล้ว เปรียบเทียบกับข้อมูลคุณภาพน้ำใต้ดินช่วงหยุดการประกอบกิจการทำเหมืองและโลหกรรม ในปี 2560 - 2561 ที่บริษัท อัคราฯ รายงานต่อ กพร. พบว่า ภายหลังการหยุดการทำเหมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 พื้นที่เสี่ยงที่มีการกระจายตัวของแมงกานีส สารหนู และเหล็ก เพิ่มขึ้นจากปี 2544 - 2558
“คณะกรรมการฯ ได้รับฟังความเห็นและพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งจากรายงานทางวิชาการ และข้อมูลข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ก่อนที่คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่จะมีมติดังกล่าว แม้ผู้แทนของบริษัท อัคราฯ จะไม่เห็นด้วยก็ตาม” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำบ่อสังเกตการณ์มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และมีการตรวจสอบพบว่า มีการแพร่กระจายของโลหะหนักบริเวณรอบพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ ได้สั่งการให้บริษัท อัคราฯ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ปรับปรุงแก้ไขคุณภาพน้ำที่เป็นกรดบริเวณพื้นที่โครงการและคุณภาพน้ำในบ่อสังเกตการณ์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันผลกระทบออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกพื้นที่โครงการ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ กพร. พิจารณาแนวทางในการดูแลประชาชนในพื้นที่เสี่ยงด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กพร.แพร่งานวิจัยบ่อเก็กกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัครารั่ว กระทบแหล่งน้ำใต้ดินโดยรอบ
ปลัดก.อุตฯ ยันพบข้อบ่งชี้การรั่วไหลน้ำจากบ่อเก็บกากแร่ที่ 1 เหมืองทองอัคราฯ
ที่ประชุมกพร.ยังไม่เปิดผลสอบบ่อเก็บแร่เหมืองทองรั่ว ขอเวลา 10 วัน-อัครา เล็งออกหนังสือแจง
เหมืองทองอัครฯ แจงสื่อเห็นแย้งในผลตรวจสอบการรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1
ครม.สั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร อนุญาตให้ บ.อัคราฯ ขนเเร่ถึงสิ้นปี 59
"อิศรา" บุก "อัคราฯ" ลัดเลาะดูรอบเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตร