เหมืองทองอัครฯ แจงสื่อเห็นแย้งในผลตรวจสอบการรั่วซึมบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1
เหมืองทองอัครฯ แจงสื่อได้แนบประเด็นโต้แย้ง 257 หน้า ในรายงานผลตรวจสอบการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ก่อนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเปิดเผยผลสรุปจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใน 10 วันต่อจากนี้
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ด้านกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ชี้แจงสื่อมวลชน เรื่อง:กรณีกระแสข่าว ผลสรุปการดำเนินงานของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมทองคำ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม
จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีผลสรุปการดำเนินงานของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมทองคำ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ข้อความว่า “เป็นไปได้ว่ามีโอกาสเกิดการรั่วซึมของบ่อกักเก็บการแร่ที่ 1 ของบริษัทฯ” นั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดจากกรณีการจงใจให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จึงขอชี้แจงข้อมูลอีกด้านให้ทุกท่านทราบดังต่อไปนี้
· การประชุม คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ซึ่งมอบหมายให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นประธาน ณ ห้องประชุมทองคำ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ในวันนี้นั้นเป็นวาระการประชุมเพื่อรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องผลกระทบด้านฝุ่นละออง และข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บการแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่วาระการประชุมเพื่อพิจารณาผลแต่อย่างใด
· การรายงานความคืบหน้าของทีมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมฯ ดำเนินงานโดย ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ ที่มีประธานคณะทำงานชุดดังกล่าวเป็นผู้รายงานว่า “เป็นไปได้ว่ามีโอกาสเกิดการรั่วซึมของบ่อกักเก็บการแร่ที่ 1 ของบริษัทฯ” ไม่ใช่ผลสรุปหรือข้อชี้ชัดว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทฯ นักวิชาการจากหลายหน่วยงานได้เคยมีการท้วงติง และโต้แย้งการทำงานของนักวิชาการชุดดังกล่าวถึงความเหมาะสมของวิธีการดำเนินการตรวจสอบมาตั้งแต่เริ่มมีการนำเสนอโครงการแล้ว
· กล่าวคือธรณีฟิสิกข์ ไม่ใช่เครื่องมือที่ถูกต้อง เนื่องจากธรณีฟิสิกข์ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบการรั่วไหลของสาร ประกอบกับในพื้นที่มีตัวแปรทางธรรมชาติค่อนข้างมาก เช่น ชั้นดินลูกรัง ชั้นดินเหนียว การแปรสภาพของหินในบริเวณแหล่งแร่ หรือแม้กระทั่งความชื้น เป็นต้น ซึ่งธรณีฟิสิกข์ไม่สามารถแยกแยะได้อย่างละเอียดชัดเจน จึงทำให้เกิดข้อโต้แย้งมากมายหลายสิบครั้ง จากทั้งบริษัทฯ เอง และนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มากมาย อาทิ กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งได้บันทึกไว้ในบันทึกการประชุมตลอดมา ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะวิธีการและเทคนิคที่ใช้ไม่ถูกต้อง
· ทั้งนี้รายงานการดำเนินงานของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ของทีมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมฯ ที่ทำการศึกษาโดย ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ นั้นได้ถูกแก้ไขรายงานฯ ถึง 30 ครั้ง ซึ่งเท่าที่ทราบ ไม่เคยมีรายงานการศึกษาวิจัยใด ที่ต้องได้รับการแก้ไขมากถึง 30 ครั้ง นี่จึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาในการทำงานตั้งแต่วิธีการที่ใช้ การแปลความหมาย และการให้ข้อมูลโดยมีอคติของผู้ดำเนินงาน เห็นได้จากการไม่นำเสนอข้อมูลต่างๆ อย่างครบถ้วน ตลอดจนถ้อยคำที่ใช้ในรายงานมัความกำกวมตลอดทั้งเล่ม อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับสาธารณชนได้
· อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เข้าใจเป็นอย่างดีว่า เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศในที่ประชุม และให้การทำงานสามารถดำเนินต่อไปได้ ประธานในที่ประชุมคณะทำงานเรื่องนี้ จึงให้ผู้ที่เห็นแย้งแนบเอกสารข้อโต้ประกอบกับผลรายงานชิ้นดังกล่าว ซึ่งบริษัทฯ ได้นำส่งข้อโต้แย้งการทำงานและสรุปผลรายงานชุดดังกล่าวอย่างละเอียดจำนวน 257 หน้า ร่วมแนบไปกับประเด็นโต้แย้งรายงานดังกล่าวจากหน่วยงานอื่นๆ จากภาครัฐเช่น กรมทรัพยากรธรณี ก่อนจะมีการเปิดเผยผลสรุปจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องใน 10 วันต่อจากนี้
· ตลอดระยะเวลาที่เกิดขึ้น บริษัทฯ ได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ ในการให้ความร่วมมือเร่งหาข้อสรุปตามวิชาการ บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงที่ปราศจากอคติ มาโดยตลอด ในขณะเดียวกันก็ไม่นิ่งนอนใจในการหาข้อมูลเปรียบเทีย ทำการศึกษาด้านวิชาการต่างๆ ควบคู่ไปกับให้การสนับสนุน ดูแลชุมชนที่เราอาศัยอยู่ด้วยความหวัง และอดทนรอ ตลอดมา และในครั้งนี้ก็เช่นกัน
· บริษัทฯ ยังคงยืนยันว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่เปิดดำเนินกิจกรเหมืองแร่ทองคำชาตรีในพื้นที่รอยต่อจังหวัด พิจิตร และเพชรบูรณ์ นั้น บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน และประเทศชาติเสมอมา ตลอดจนปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ด้วยสำนึกของการเป็นสมาชิกที่ดีในชุมชน
ท้ายนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ขอพระขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านในการให้โอกาสพิจารณาข้อมูลต่างๆ อย่างรอบด้านอยู่เสมอ ตลอดจนการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ของบริษัทฯ ในยามวิกฤติเช่นนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสะท้อนข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับรู้ ชาวอัคราทุกคนแม้จะเหลือเพียงไม่กี่ชีวิตในขณะนี้ ขอขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงกับน้ำใจที่มีให้กันเสมอมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ที่ประชุมกพร.ยังไม่เปิดผลสอบบ่อเก็บแร่เหมืองทองรั่ว ขอเวลา 10 วัน-อัครา เล็งออกหนังสือแจง