ดร. พนา ทองมีอาคม : ควันหลงเรื่องการดักฟังวิทยุของสื่อมวลชน
"...การสื่อสารวิทยุของทางราชการ จัดเป็นโครงข่ายการสื่อสารประเภทที่สอง ผู้ประกอบการมีโครงข่ายและมีวัตถุประสงค์ให้บริการเป็นการเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เจตนาจะให้คนทั่วไปฟังกัน ดังนั้น กรณีนี้ใครไปดักฟังเข้า ไม่ว่าจะใช้เครื่องฟังที่มีใบอนุญาตหรือไม่ก็ตามผิดกฎหมายทั้งนั้น (พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม 98) เพราะผู้ใช้โครงข่ายไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ แม้อ้างว่ามีคนอื่นทำมาก่อน แต่ใครเอาไปใช้ช่วงโดยรู้ก็ต้องผิดไปด้วย ส่วนเครื่องรับถ้าไม่มีใบอนุญาต ก็อาจได้แถมอีกกระทงหนึ่ง..."
จากกรณีนายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ เผยเเพร่คำชี้แจงข้อกล่าวหาดักฟังวิทยุราชการ กรณีรายงานข่าว 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน (อ่านประกอบ:เวิร์คพอยท์ชี้แจงกรณีดักฟังวิทยุราชการ- สื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่)
วันที่ 12 กรกฎาคม บริษัทไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด เวิร์คพอยท์นิวส์ ช่อง 28 ออกประกาศ กรณีการนำเสนอข่าวของบรรณาธิการข่าวภูมิภาค เวิร์คพอยท์นิวส์ ทางสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ที่นำมาเผยแพร่ออกอากาศทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆ
การกระทำดักงล่าว ทางบริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจได้ทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และพบว่า บรรณาธิการข่าวได้กระทำโดยพลการและขาดการใช้วิจารณญานในการปฏิบัติงาน อันเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการนำเสนอข่าวของบริษัท จึงได้กำหนดบทลงโทษให้ นายฤทธิชัย ชูวงษ์ ตำแหน่งบรรณาธิการข่าวภูมิภาค พักงานโดยไม่มีกำหนด และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป
ทางบริษัทฯ ขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่า จะใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดที่จะกำกับดูแลไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก (อ่านประกอบ : เวิร์คพอยท์ สั่งพักงานบก.ข่าวภูมิภาค ไม่มีกำหนด -พร้อมขอน้อมรับความผิดพลาด)
สำหรับประเด็นนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พนา ทองมีอาคม ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาบุคลากรและวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ และอดีตกรรมการกองทุนวิจัย และพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โพสต์ข้อความในเฟชบุค (https://www.facebook.com/pana.thongmeearkom) โดยระบุว่า วันนี้ควันหลงเรื่องการดักฟังวิทยุของโทรทัศน์สถานีหนึ่งได้สร่างซาลงระดับหนึ่งแล้ว จึงอยากแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนที่ยังสนใจในเรื่องนี้ โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่ตรงจุดที่ล่อแหลมต่อความผิด
"ก่อนอื่นเลยขอทำความเข้าใจในเรื่องโครงข่ายโทรคมนาคมก่อน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2548 กำหนดให้การประกอบกิจการโทรคมนาคมแบ่งออกเป็นสามประเภทที่ต้องขออนุญาตกับ กสทช. คือ
1.ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและสมควรให้บริการได้โดยเสรี
2.ผู้ประกอบกิจการที่มีหรือไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและมีวัตถุประสงค์ให้บริการเป็นการเฉพาะกลุ่มบุคคล
3. ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองและมีวัตถุประสงค์จะให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปเป็นจำนวนมาก...นอกจากนี้ยังมีคลื่นความถี่จำนวนหนึ่งที่ประชาชนสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เช่นพวกไวไฟ บลูทูธ หรือวอล์คกี้ ทอล์คกี้ ซีบี (วิทยุสื่อสารสีแดง)
ในกรณีการดักฟังวิทยุราชการที่เกิด มีประเด็นให้ศึกษาได้หลายประเด็น
เบื้องต้นเลยคือการสื่อสารวิทยุของทางราชการ จัดเป็นโครงข่ายการสื่อสารประเภทที่สอง ผู้ประกอบการมีโครงข่ายและมีวัตถุประสงค์ให้บริการเป็นการเฉพาะกลุ่ม ไม่ได้เจตนาจะให้คนทั่วไปฟังกัน ดังนั้น กรณีนี้ใครไปดักฟังเข้า ไม่ว่าจะใช้เครื่องฟังที่มีใบอนุญาตหรือไม่ก็ตามผิดกฎหมายทั้งนั้น (พ.ร.บ.วิทยุโทรคมนาคม 98) เพราะผู้ใช้โครงข่ายไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ แม้อ้างว่ามีคนอื่นทำมาก่อน แต่ใครเอาไปใช้ช่วงโดยรู้ก็ต้องผิดไปด้วย ส่วนเครื่องรับถ้าไม่มีใบอนุญาต ก็อาจได้แถมอีกกระทงหนึ่ง
หลักคิดในเรื่องนี้ยังกระทบไปถึงเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เพราะสิ่งที่สื่อสารกันในข่ายนั้นเป็นเรื่องเฉพาะส่วนตัวของกลุ่ม แม้ไม่ได้เข้ารหัสแต่ก็ไม่ได้ต้องการให้เล็ดลอดออกไป การไปแอบฟังเขาสนทนากันในข่ายจึงผิด
นี่ยังไม่พูดถึงเรื่องมารยาทที่เป็นเรื่องทั่วไป
ยังมีเรื่องสิทธิในทางทรัพย์สินที่ต้องพิจารณาอีก โครงข่ายสื่อสารก็เหมือนโครงข่ายขนส่ง ตัวสารหรือเนื้อหาที่ส่งกันบนนั้นถือเป็นทรัพย์สิน ดังนั้นจะเป็นข่ายสื่อสารของราชการการหรือไม่ก็ตาม ใครไปแอบดักเอาสัญญาณเขามาใช้ เช่น การสอยสัญญาณของทีวีดาวเทียมมาดูหรือเผยแพร่ซ้ำ เอาเรื่องราวในนั้นมาเผยแพร่เพื่อการพาณิชย์ ก็มีความผิดไม่ต่างจากการขโมย เพียงแต่สิ่งที่ขโมยนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาหรือเป็นความลับที่มีค่า มีราคา
ถ้าจะมีอะไรที่เราเรียนรู้ได้จากกรณีที่ผ่านมา การดักฟังวิทยุโทรคมนาคม ไม่ว่าราชการหรือเอกชน นั่นผิดกฎหมายแน่นอน นอกจากนั้นยังผิดในเรื่องละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิในทรัพย์สินที่สามารถไปไล่เอาจากกฎหมายอื่นๆได้ การดักฟังสิ่งที่คนอื่นสนทนากันโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจยินดีให้ฟัง ก็เป็นการผิดมารยาทอย่างแรงอีกด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:ผอ.ศอร. เผยตร.สอบปมสื่อเสนอเสียงสัญญาณวิทยุ - เรียกคนผิด 'โดรนบิน' รายงานตัวเเล้ว