เมื่อคนอเมริกันถามแต่เรื่อง'ถ้ำหลวง' ไขคำตอบทำไมข่าวนี้โด่งดังข้ามโลก?
“ในเมื่อมันเหมือนละคร ทุกคนต่างเฝ้ารอดูหน้าจอ เฝ้าติดตามว่า เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป สื่อจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยรายงานข่าวเรื่องนี้ ดังนั้นทำให้ข่าวนี้จากประเทศไทย ได้รับความสนใจในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ซึ่งต่างกับข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่าบทสรุปจะเป็นแบบไหน”
“สวัสดี คุณมาจากประเทศไทยใช่ไหม ผมขอแสดงความยินดีด้วยที่มีข่าวดี ทางการไทยช่วยเหลือเด็ก ๆ ออกมาจากถ้ำได้แล้วใช่ไหม พวกผมสวดภาวนาให้ตลอดเลย มันเป็นข่าวดีมาก ๆ”
“สวัสดี คุณมาจากประเทศไทยใช่ไหม ฉันเสียใจมากกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และรู้ว่าคุณอาจตกอยู่ในความสลด แต่ในที่สุดมันก็มีข่าวดีเกิดขึ้นแล้ว พวกเราติดตามข่าวนี้ในไทยมาตลอด และสวดภาวนาให้เด็ก ๆ ปลอดภัยทุกคน”
ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างบทสนทนาที่ผมได้ยินตลอดช่วง 3 วันที่ผ่านมา เวลาได้พบปะ หรือเจอชาวอเมริกันเข้ามาทักทาย นับตั้งแต่เครื่องบินแลนดิ้งที่วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา
ไม่เว้นแม้แต่กับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ในกระทรวงสำคัญของสหรัฐอเมริกา หลายรายที่ผมมีโอกาสได้พบปะพูดคุย สิ่งแรกที่เขาพูดถึงคือ การแสดงความเสียใจกับชาวไทย และขอให้เด็ก ๆ ที่เข้าไปติดในถ้ำหลวงออกมาได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ดีเท่าที่ทราบข่าวล่าสุดคือ เด็ก-โค้ชทีมหมูป่ารวม 13 ราย ออกมาจากถ้ำได้อย่างปลอดภัยทั้งหมด ท่ามกลางความช่วยเหลือจากทั่วทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามา
หากใครได้ติดตามข่าวระดับ ‘ปรากฏการณ์’ ชิ้นนี้ นอกเหนือจากหน่วยงานรัฐ-เอกชน-องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากหลายประเทศระดมบุคคล-ทรัพยากรเข้าช่วยเหลือเด็กแล้ว ยังมีชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก กล่าวถึงกรณีนี้ ไม่ว่าจะเป็น จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า เชิญเด็ก-โค้ชทั้ง 13 ราย ให้ไปชมฟุตบอลโลก 2018 นัดชิงชนะเลิศ หรืออภิมหาเศรษฐี และนักวิศวกรรมระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์ ได้เข้ามาร่วมในภารกิจค้นหาเด็ก ๆ ดังกล่าวด้วยในช่วงท้าย หรือแม้แต่ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลก เตรียมเขียนบทภาพยนตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ผลักดันให้เกิดขึ้นในระดับฮอลลีวู้ด เป็นต้น
จากข่าวเล็ก ๆ ในสื่อท้องถิ่น ขยายใหญ่กลายเป็นข่าวระดับประเทศ ลุกลามเป็นข่าวระดับทวีป และกลายเป็นข่าวระดับโลกได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์
คำถามสำคัญแล่นเข้ามาในหัวทันทีว่า ทำไมเหตุการณ์นี้ที่ประเทศไทย ถึงกลายเป็นข่าวโด่งดังข้ามซีกโลกมาถึงประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงระดับโลกได้ ?
หากพิจารณาตาม ‘คุณค่าข่าว’ ซึ่งเป็นหลักความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตำราวารสารศาสตร์ แบ่งออกเป็น 7 อย่าง ได้แก่ 1.ความสด/ทันเหตุการณ์ 2.ความใกล้ชิดประชาชน 3.ความโดดเด่นของแหล่งข่าวหรือสถานที่ 4.ความประหลาดของเหตุการณ์ หรือแหล่งข่าว หรือสถานที่ 5.ผลกระทบเทือนต่อประชาชน 6.ความขัดแย้งด้านต่าง ๆ และ 7.ความมีเงื่อนงำ หรือลึกลับซับซ้อน
สำหรับข่าวเด็กติดถ้ำหลวงนั้น ข่าวชิ้นนี้มี ‘คุณค่าข่าว’ เกือบครบทุกข้อ จึงทำให้กลายเป็นจุดสนใจในวงกว้าง และขยายลุกลามไปเรื่อย โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบกระเทือน ‘ทางจิตใจ’ ต่อประชาชน ที่จะเห็นได้ว่า ทุกคนต่างเอาใจช่วยขอให้เด็ก-โค้ชทั้ง 13 ราย รอดปลอดภัยออกมาได้
อย่างไรก็ดีนั่นเป็นเพียงหลักการเบื้องต้นเท่านั้น
ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชนที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เคยเกริ่นถามผมกลางวงสนทนาว่า รู้หรือไม่ ทำไมสื่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงสื่อทั่วโลกถึงรายงานข่าวชิ้นนี้
“เพราะข่าวชิ้นนี้เกี่ยวกับเด็ก และเรื่องราวดราม่า เหมือนข่าวภัยพิบัติทั่วโลก รวมถึงมีเจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกาหลายรายเข้าช่วยเหลือ” ผมตอบ
ศาสตราจารย์รายนี้ ยิ้ม ก่อนบอกว่า “ถูกส่วนหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงคือ เหตุการณ์นี้เปรียบเสมือน ‘ละคร’ มันดราม่ามากกว่าเรื่องราวทั่วไป เหมือนเรื่องราวการผจญภัย และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต จุดสิ้นสุดเรื่องนี้จะอยู่ตรงไหน และนั่นคือสิ่งที่คนอเมริกันชอบมาก มันถูกใจชาวอเมริกัน”
“ในเมื่อมันเหมือนละคร ทุกคนต่างเฝ้ารอดูหน้าจอ เฝ้าติดตามว่า เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป สื่อจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่คอยรายงานข่าวเรื่องนี้ ดังนั้นทำให้ข่าวนี้จากประเทศไทย ได้รับความสนใจในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก ซึ่งต่างกับข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ ที่หลายคนอาจทราบดีอยู่แล้วว่าบทสรุปจะเป็นแบบไหน”
“เมื่อประชาชนสนใจ สื่ออเมริกัน รวมถึงสื่อต่างชาติอื่น ๆ เห็นว่ามันเป็นช่องทางเรียกเรตติ้งจากประชาชนในประเทศตัวเองได้จำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันโหมกระพือกันรายงานข่าวนี้”
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้สื่อในสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องเรียกเรตติ้งขนาดนี้ ศาสตราจารย์ไม่ได้ให้รายละเอียด แต่คาดกันว่า เป็นเพราะ ‘โลกหมุนไว’ การปรับแพลตฟอร์มข่าวจาก ‘สื่อสิ่งพิมพ์-โทรทัศน์’ ไปสู่ ‘สื่อออนไลน์’ ย่อมทำให้เม็ดเงินโฆษณามหาศาลที่อยู่ในอาณาจักรสิ่งพิมพ์-โทรทัศน์ ไหลไปสู่ออนไลน์มากขึ้น ทำให้ ‘สื่อเก่า’ อยู่ยาก และค่อย ๆ ตายจากไป
ไม่เว้นแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาที่สื่อมี ‘เสรีภาพ’ อันดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม ?
อย่างไรก็ดีประเด็นสำคัญที่ทำให้การรายงานข่าวของสื่อในสหรัฐอเมริกา แตกต่างจากสื่อไทยอย่างมากคือเรื่อง 'จรรยาบรรณ' ที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่มีการละเมิดสิทธิเด็ก-สิทธิมนุษยชนอยู่เลย ในการรายงานข่าวชิ้นนี้ ทุกอย่างรายงานไปตามกระบวนการ และไม่เคย 'ล้ำเส้น' เน้น 'ข้อเท็จจริง' แทบไม่ใส่ความเห็น เพราะสื่อสหรัฐอเมริกา มีหลักการสำคัญที่แบ่งการรายงานอย่างชัดเจนว่า นี่คือ 'ข่าว' ต้องเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่ 'การวิพากษ์วิจารณ์' ที่เป็นความเห็น
แตกต่างจากสื่อไทยอย่างมาก เพราะมีบางแห่ง 'ล้ำเส้น' เรื่องการ 'อินไซด์ข้อมูล' บางอย่าง ทั้งที่ประเด็นข่าวชิ้นนี้มันไม่ใช่เรื่องต้องทำเช่นนั้น (ขณะที่การทำข่าวเชิงสืบสวน หรือข่าวตรวจสอบทุจริตในไทย สื่อเหล่านี้แทบไม่เคย 'อินไซด์ข้อมูล' ให้เป็นประโยชน์) แถมยังอ้างอิงคำพูดของ 'โหร-ร่างทรง' (ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่) มาปั่นกระแสเรียกเรตติ้งให้ช่องตัวเองอีกด้วย
เพียงแค่นี้คงพอสะท้อนอะไรบางอย่างออกมาได้บ้าง ?
อ่านประกอบ :
ชำแหละขบวนการ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เมื่อสื่อเต็มใจตกเป็นเครื่องมือกลุ่มทุน-การเมือง?
เลาะ‘ดี.ซี.’เล่าฉากหลัง 4สถานที่ประวัติศาสตร์-ตามไปดู รร.ต้นกำเนิดล็อบบี้ยิสต์