เจาะแบบฟอร์มขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีปี 56-59 ก่อน คกก. ชุด ธงทอง คัดชื่อทิ้ง720 ราย
"...ตามขั้นตอนการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 นั้น ผู้ที่จะทำเรื่องขอพระราชทานจะต้องกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มการขอเหรียญลูกเสือสดุดี ตามที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนดไว้ แยกเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง ข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล สถานที่ติดต่อ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และตำแหน่งทางลูกเสือหรือเนตรนารี, สอง ข้อมูลการผ่านอบรม การได้รับพระราชทานเหรียญ ภูมิหลังการปฏิบัติหน้าที่ เกี่ยวกับกิจการลูกเสือและ สาม ข้อมูลผลงานที่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญชั้น ที่ 1-3 เป็นต้น..."
สืบเนื่องจากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 ผลปรากฎว่า ผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 จำนวนรายชื่อที่มาเสนอมา 894 ราย ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายชื่อ รวมจำนวนรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 720 ราย
โดยผลการพิจารณาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560 มีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามคำสั่งคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ที่ 25/2560 ลงวันที่ 1 พ.ย.2560
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า นอกเหนือจากการสืบค้นข้อมูลพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 เพื่อตรวจสอบหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติรายชื่อผู้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 ตามที่นำมาเสนอไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ :กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดขอข้อมูลรายชื่อผู้ไม่ผ่านการพิจารณาทั้ง 720 ราย มาตรวจสอบ แต่ได้รับการปฏิเสธจากผู้บริหารสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่า ต้องให้ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ที่เป็นผู้รู้ข้อมูลเรื่องนี้ดีที่สุด เป็นผู้อนุญาตก่อน
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากคนในแวดวงลูกเสือประเทศไทย ว่า ตามขั้นตอนการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดีชั้น 1-3 นั้น ผู้ที่จะทำเรื่องขอพระราชทานจะต้องกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์มการขอเหรียญลูกเสือสดุดี ตามที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติกำหนดไว้ แยกเป็น 3 ส่วน คือ
หนึ่ง ข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล สถานที่ติดต่อ ตำแหน่งหน้าที่การงาน และตำแหน่งทางลูกเสือหรือเนตรนารี
สอง ข้อมูลการผ่านอบรม การได้รับพระราชทานเหรียญ ภูมิหลังการปฏิบัติหน้าที่ เกี่ยวกับกิจการลูกเสือ
และ สาม ข้อมูลผลงานที่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญชั้น ที่ 1-3 เป็นต้น
ขณะที่ในแบบฟอร์ม มีการระบุให้ผู้ขอพระราชทานแนบเอกสารหลักฐานประกอบด้วย และจะต้องมีผู้ลงนามรับรอง โดยส่วนกลาง ให้อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ ที่มีฐานะเทียบเท่ากรม หรือผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายต่างๆ หรือนายกสมาคมสโมสรลูกเสือ หรือผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ แล้วแต่กรณีเป็นผู้ลงนาม
สำหรับในส่วนภูมิภาค ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการลูกเสือจังหวัด เป็นผู้ลงนาม (ดูแบบฟอร์มประกอบท้ายเรื่อง)
ส่วนกรณีที่นายปัญญา ศรีบุญเรือง ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการลูกเสือแห่งชาติ ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า จากการทำงานประสานกับคณะอนุกรรมการฯ พบว่าปัญหาเรื่องการเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับพระราชทานเหรียญสดุดีที่ไม่ผ่านการพิจารณาจำนวนมากนั้นเบื้องต้น เป็นเพราะผู้ที่เสนอชื่อยังยื่นเอกสารโดยยึดหลักเกณฑ์เดิม ทางสำนักงานลูกเสือจังหวัดจึงได้ให้ผู้เสนอตัวเองไปเสนอเอกสารมาใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ ตามที่คณะอนุกรรมการฯได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีอยู่หลายคนที่ไม่ได้มายื่นเอกสารใหม่ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ผ่านการเสนอชื่อ นั้น (อ่านประกอบ :ผอ.สนง.ลูกเสือฯ แจงเหตุคนตกอนุมัติรับพระราชทานเครื่องราชฯ720ราย-ส่งเอกสารตามเกณฑ์ใหม่ไม่ทัน)
แหล่งข่าวในแวดวงลูกเสือแห่งชาติ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า คำชี้แจงดังกล่าว น่าจะขัดแย้งกับขั้นตอนการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการฯ เพราะเท่าที่ทราบหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่งจะมีการเสนอขออนุมัติร่างต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ซึ่งเป็นวันที่มีการพิจารณาเสนอรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาขอเหรียญสดุดีในชั้นที่ 1-3 แค่ 210 ราย จากรายชื่อที่เสนอมาทั้งหมด 894 ราย ส่วนผู้ขอรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ ที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 ทั้งสิ้น 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายชื่อ ดังกล่าว ขณะที่ในการพิจารณาเสนอรายชื่อผู้ไม่ผ่านหลักเกณฑ์ ครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ระบุไว้ชัดเจนว่า พิจารณาจากเอกสารหลักฐานผลงานแล้วไม่ผ่านหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 ที่กำหนดไว้
อ่านประกอบ :
พบชื่อผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย-รมว.ศึกษา ชง ปปท.สอบหวั่นไม่ชอบมาพากล
กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย
เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน
ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน
เช็คยอดผู้ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ จาก 'ทักษิณ-บิ๊กตู่' ยุคไหนเสนอชื่อมากสุด?
เปิดหมดชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือชั้นพิเศษ+1-3 จำนวน 246 ราย
ผ่าปมปัญหาขั้นตอนขอพระราชทานเครื่องราชฯเหรียญลูกเสือ-สะพัดชื่อไม่เหมาะสมปะปนเพียบ?
ผอ.สนง.ลูกเสือฯ แจงเหตุคนตกอนุมัติรับพระราชทานเครื่องราชฯ720ราย-ส่งเอกสารตามเกณฑ์ใหม่ไม่ทัน