เหตุเพิ่งผ่านการตื่นกลัวอย่างสุดขีด รองปลัดยธ.แนะสื่อระยะแรกไม่ควรสัมภาษณ์ 13 ทีมหมูป่า
ควรให้เด็กพักผ่อน-บำบัดตามอาการจากแพทย์หรือจิตแพทย์ "ธวัชชัย ไทยเขียว" รองปลัดยธ. แนะสื่อระยะแรกไม่ควรสัมภาษณ์ 13 ทีมหมูป่า เหตุเพิ่งผ่านตื่นกลัวอย่างสุดขีด หวั่นคำถามอาจไปจี้หรือกระทบภาวะจิตใจได้ ด้านสมาคมจิตแพทย์ฯ ทำจม.ถึงนายกสมาคมนักข่าวฯ ให้คำแนะนำละเอียดในการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย
วันที่ 3 กรกฎาคม นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์เฟซบุ๊ก หลังมีคำถามมากมายจากสื่อมวลชนสอบถามว่า จะสัมภาษณ์เด็กหรือเยาวชน 13 ราย ออกสื่อได้หรือไม่
นายธวัชชัย ยกข้อกฎหมาย โดยระบุว่า หากพิจารณาการปกป้องคุ้มครองเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 27 ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ” ดังนั้น จึงสำคัญที่เจตนาว่า หากทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบแล้ว ย่อมสามารถกระทำได้
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุอีกว่า ที่ต้องระมัดระวังคำถาม เพราะการที่เด็กหรือเยาวชนที่อยู่ในภาวะที่เพิ่งผ่านตื่นกลัวอย่างสุดขีด คำถามที่ถามออกไปอาจไปจี้หรือกระทบภาวะจิตใจทำให้เกิดผลกระทบจิตใจไปในทางที่รุนแรงเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงบางคำถาม สื่อไม่ควรถามนำที่จะส่งเสริมให้เด็กไปกระทำผิดหรือมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ให้ไปกระทำผิดกฎหมายอีก เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 26(3) ที่เป็นผู้ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดได้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
"ผมว่าระยะแรกสื่อควรให้เด็กพักผ่อนอย่างเพียงพอ และได้รับบำบัดตามอาการจากแพทย์หรือจิตแพทย์จนอยู่ในภาวะถึงพร้อมเสียก่อนดีกว่า และการจะนำตัวเด็กไปทำอะไรโน่นนี่นั่น ควรได้รับการอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อนด้วย"
ข้อควรระวังของสื่อมวลชน
ขณะที่รองศาสตราจารย์นายแพทย์ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ทำจดหมายถึงนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่อง คำแนะนำในการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัย สำหรับสื่อมวลชนเพื่อจะช่วยกันระมัดระวังในบางประเด็น
โดยเฉพาะ ข้อควรระวังของสื่อมวลชน การสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยควรให้ผู้ประสบภัยได้พักและได้รับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัว จนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวก่อน
การสัมภาษณ์ควรสอบถามมุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกำลังใจในกลุ่มผู้ประสบภัย ใช้อะไรในการสร้างความหวัง และควรมีการป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ (Retraumatization) เช่น การสอบถามในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เวลาเล่าจะเป็นการกระตุ้นให้ระลึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำจนทำให้ผู้ประสบภัยเกิดอาการของความหวาดกลัว ตกใจ หดหู่จิตใจขึ้นมาอีก
บางครั้งผู้สัมภาษร์เจตนาถามให้เกิดอาการร่วมด้วยมากๆ เพื่อให้ภาพข่าวมีอารมณ์ มีสีสัน กระตุ้นความรู้สึกผู้ชม แต่การทำเช่นนั้นเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์อย่างมาก รบกวนการฟื้นตัวทางจิตใจอาจทำให้อาการของโรคเป็นเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมภาษณ์ซ้ำๆ ทำให้เครียดมาก การสัมภาษณ์ควรเลือกสัมภาษณ์บุคคลไม่ให้ซ้ำกัน
การนำเสนอข่าว
ข่าวที่เสนอย่างตื่นเต้นสมจริงสมจังมากกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย จนเมื่อชมมากๆ หรือบ่อยๆ จนเกิดอาการทางจิตเวชได้ บางคนเกิดอาการได้มากเหมือนผู้ที่เผชิญภัยจริงๆ ที่คนเผชิญภัยพิบัติมาแล้วได้มาชมเช่นนี้จะเกิดการซ้ำเติมทางจิตใจได้เช่นกัน
การป้องกันแก้ไข
1.การนำเสนอข่าวควรมีการสอดแทรกและนำเสนอทางออก ทางแก้ไข คำแนะนำทางสุขภาพจิต เพื่อให้ความรู้การปฎิบัติตัว เช่น ให้เข้าใจสำหรับผู้ประสบภัยว่า ความรู้สึกไม่ดีที่เกิดในระยะแรกนั้น เป็นเรื่องธรรมดา หายได้ ควรทำตัวอย่างไร
2. นำเสนอเรื่องผ่อนคลายสลับเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
ข่าวทีเกี่ยวข้อง:
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ แนะเสนอข่าวการกู้ภัย-ส่งกลับ ผู้ประสบภัยถ้ำหลวงฯ
ร่วมด้วย ช่วยกันคิด หลัง 13 ชีวิตทีมหมูป่าปลอดภัย
สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ขอความร่วมมือเสนอข่าวทีมหมูป่า-ถ้ำหลวง อย่างถูกต้อง