ร่วมด้วย ช่วยกันคิด หลัง 13 ชีวิตทีมหมูป่าปลอดภัย
การค้นประวัติ ภาพ และข้อมูลของเด็กมาใช้ เพื่อเล่าว่าเด็กเป็นใคร ทำอะไร ตามไปบ้าน ไปโรงเรียน ไปดูการใช้ชีวิต ไปเกาะติด ไม่ทำได้ไหม เราควรปล่อยให้เด็กกลับสู่การใช้ชีวิตที่เป็นปกติ มากกว่า ต้องเป็นจุดสนใจตลอดเวลา ไม่ใช่ทุกคนจะชอบ สิทธิเด็ก ยังต้องคำนึง
วันที่ 3 กรกฎาคม อ.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โพสต์ข้อความลงเฟชบุค Sakulsri Srisaracam หลังเจ้าหน้าทีไทยพบตัวเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนแล้ว
"เขียนไว้ให้ช่วยกันคิด คิดในฐานะแม่ และ นักวิชาการผสมกัน"
1. เป็นได้ไหม ถ้าจะสัมภาษณ์เด็ก ไม่มีการรุมแย่งคิวกัน แต่สัมภาษณ์กลาง pool ข้อมูลสัญญาณไปเลย การพูดถึงเหตุการณ์บ่อยๆ ซ้ำๆ คงไม่ดีนัก การเดินสายไปให้สัมภาษณ์ก็เสียเวลาการใช้ชีวิต และฟื้นฟู .. แต่ทุกคนต้องการข่าว ก็น่าจะจับมือ pool กันเลย ทีเดียวจบ
2. คำถามประเภท รู้สึกยังไง พยายามดึงดราม่า ขอผ่าน ไม่เอาได้ไหม
3. การค้นประวัติ ภาพ และข้อมูลของเด็กมาใช้ เพื่อเล่าว่าเด็กเป็นใคร ทำอะไร ตามไปบ้าน ไปโรงเรียน ไปดูการใช้ชีวิต ไปเกาะติด #ไม่ทำ ได้ไหม เราควรปล่อยให้เด็กกลับสู่การใช้ชีวิตที่เป็นปกติ มากกว่า ต้องเป็นจุดสนใจตลอดเวลา ไม่ใช่ทุกคนจะชอบ สิทธิเด็ก ยังต้องคำนึง
4. หวังว่าจะไม่ได้ยินคำถาม หรือ การแสดงความเห็นในทางที่ทำให้โค้ชเสียหาย
5. อย่าพยายามแค่หาคนผิดของเหตุการณ์ แต่มีการรายงานที่เรียกว่า #solution คือในเชิงการจัดการ ที่ป้องกันปัญหา ถือเป็นโอกาสการจัดระบบระเบียบการเข้าถ้ำ เรียนรู้จากหลายๆ ที่ แล้วมามองว่า เราจะทำอย่าไรให้เป็นระบบจริงจังในไทย #จะเห็นการขยายประเด็นสู่ภาพรวมเชิงระบบได้ไหม
"ไม่เอาดราม่าเพราะทุกคนมีอารมณ์ต่อเรื่องนี้อยู่แล้ว เรื่องดีๆจากนี้หวังว่าจะเห็นการรายงานที่ดีของสื่อ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ ส่งต่อความคิด ใครมีข้อเสนอ ก็ช่วยกันส่งต่อให้สื่อกันได้ คนสะท้อนสื่อ สื่อจะได้เชื่อว่าคนต้องการข่าวที่ดีมากกว่าข่าวดราม่า"
ขณะที่ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ @dr_mana ว่า หลังจากนี้ข้อพึงระวังของนักข่าวเวลาสัมภาษณ์ ทีมหมูป่า อย่าถามจี้ทำนองกล่าวโทษโค้ชและเด็กที่เข้าไปในถ้ำหลวง "จบเคส ถ้ำหลวง ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทุกแพลตฟอร์มควรถือโอกาสถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน เพื่อวางกรอบการรายงานข่าวอย่างมีจริยธรรมในอนาคต"
ส่วนดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการด้านสื่อมวลชนศึกษา ระบุ เยาวชนทั้ง 13 คนต้องการช่วงเวลาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ครอบครัวต้องการเวลาและความเป็นส่วนตัว ทั้งภาครัฐและสื่อ อย่าคุกคามสิทธิเพื่อสร้างผลงานและเนื้อหาข่าว
ด้านนายจักร์กฤษ เพิ่มพูล อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ระบุถึงการรายงานข่าวในสถานการณ์อ่อนไหว โดยเฉพาะ ข่าวการค้นพบ 13 ชีวิตเจ้าหมูป่า เป็นข่าวที่มี News Values หรือคุณค่าข่าว ครบองค์ประกอบเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องความสำคัญ ความสดใหม่ ความใกล้ชิด ความต่อเนื่อง ความมีเงื่อนงำ ความผิดปกติ และสำคัญสุดคือ Human Interest
"การทำให้คนสนใจ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่สื่อแต่ละสำนักจะต้องพยายาม ฉีกแนว หาประเด็นที่แตกต่าง ตั้งแต่ดราม่า 9 วันในถ้ำหลวง อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนที่เกี่ยวข้อง และทุกสำนักจะต้องพุ่งเป้าไปที่แหล่งข่าวพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมเจ้าหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต
หากจะต้องยกเว้น ความเป็นส่วนตัว หรือ สิทธิส่วนบุคคล ของแหล่งข่าวเหล่านี้ เพื่อให้โอกาสพวกเขาได้ฟื้นฟูจิตใจได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยินดี โดยรายงานข่าวเฉพาะเหตุการณ์ สัมภาษณ์ เก็บข้อมูลเอาจากแหล่งข่าวปฐมภูมิที่รู้เห็นเรื่องราว โดยไม่ต้องอ้างแหล่งข่าว ก็สามารถได้ข่าว รายงานพิเศษ หรือบทวิเคราะห์คุณภาพชิ้นหนึ่งได้
ด้วยความเคารพในความคิด ความอ่านของคนข่าวรุ่นใหม่ ผู้บริหารสำนักข่าวทั้งหลาย เราสามารถทำให้ผู้คนให้การยอมรับนับถือ ให้เกียรติ ให้ความเคารพในวิชาชีพนี้ได้ ถ้าเราเข้าใจ และตระหนักว่า เราเองก็เป็นหน่วยหนึ่งในสังคม ที่ต้องมีความรับผิดชอบและเข้าใจถึงหัวจิตหัวใจของเพื่อนมนุษย์เช่นเดียวกัน"