เบื้องลึก!เส้นทางเงิน ปปง.อายัดที่ดินอาคาร100ปี โชว์เช็ค‘ศุภชัย’จ่ายตรง ‘ธัมมชโย’
“…ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลัง เส้นทางการเงิน ก่อนหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมกับ ปปง. ขยายผลการสอบสวน จนพบว่ามีเช็คมากถึง 27 ฉบับ วงเงิน 1,458 ล้านบาท กระทั่งเจอพฤติการณ์ว่า กลุ่มผลประโยชน์ภายในวัดพระธรรมกาย ‘ร้อนตัว’ และเตรียมจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลอื่น ทำให้ดีเอสไอ ต้องเร่งชงเรื่องให้ ปปง. อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ก่อน มิฉะชั้นหากถึงชั้นศาล และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จะตามกลับคืนมาลำบากนั่นเอง…”
“เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากการสืบสวนว่า กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ในวัดพระธรรมกาย มูลนิธิพระธรรมกาย และมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง มีพฤติการณ์ในการพยายามเร่งรัดดำเนินการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และทรัพย์สินอื่น อันปรากฏชัดเจนจากการสืบสวนว่า เงินที่มูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง นำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
จึงถือว่ามีกรณีที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า อาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินใดที่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงขอให้คณะกรรมการธุรกรรม พิจารณามีมติอายัดทรัพย์สิน คือ อาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งตั้งอยู่บนโฉนดที่ดิน จำนวน 91 แปลงดังกล่าว”
คือใจความสำคัญ กรณีคณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีคำสั่งอายัดอาคารตามโครงการ 100 ปีดังกล่าว ที่ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินจำนวน 91 แปลง ในชื่อมูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิธรรมประสิทธิ์ ซึ่งปรากฏเส้นทางเงินว่า มาจากการเงินในคดียักยอกทรัพย์สินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โดยพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง มูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิธรรมประสิทธิ์ ได้รับเงินจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผ่านเช็คจำนวน 27 ฉบับ รวมวงเงิน 1,458 ล้านบาท และนำไปใช้ก่อสร้างอาคารตามโครงการ 100 ปีดังกล่าว (อ่านประกอบ : ปปง.อายัดอาคาร100 ปีธรรมกาย เอี่ยวเส้นทางเงินศุภชัยตีเช็ค1.4 พันล. ให้ธัมมชโย-พวก)
ประเด็นที่น่าสนใจของการอายัดทรัพย์สินครั้งนี้ตามการสืบสวนของดีเอสไอ และ ปปง. คือ พบพฤติการณ์ว่า กลุ่มผลประโยชน์ภายในวัดพระธรรมกาย เช่น มูลนิธิธรรมกาย มูลนิธิธรรมประสิทธิ์ และมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ได้รับเช็คจากนายศุภชัย และเตรียมโอนถ่าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ใช้เงินดังกล่าวก่อสร้าง ดังปรากฏตามข้อเท็จจริงจากการสืบสวนของ ปปง. ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรายนายศุภชัย กับพวก (กรณีมูลนิธิมหาอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง รับเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น)
พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบรายงานการทำธุรกรรม หรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของบุคคลดังกล่าวแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่า นายศุภชัย กับพวก มีพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือเป็นผู้เกี่ยวข้อง หรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน หรือความผิดฐานฟอกเงิน
จากการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด รวมทั้งจากการรวบรวมพยานหลักฐานของดีเอสไอ ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวได้ไปซึ่งทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ เป็นอสังหาริมทรัพย์ ประเภทอาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง อันเป็นทรัพย์สินที่ปรากฏหลักฐานในทางทะเบียนในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หรือผู้มีสิทธิครอบครอง
โดยผู้มีชื่อเป็นเจ้าของ (มูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิธรรมประสิทธิ์) อาจดำเนินการทางนิติธรรม โอนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิครอบครองทางทะเบียนได้ หากมิได้มีการออกคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว เมื่อเจ้าของหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีสิทธิ์ในทรัพย์สินดำเนินการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าวไปเสีย และหากต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำนักงาน ปปง. อาจไม่สามารถติดตามทรัพย์สินดังกล่าวกลับคืนมาได้
จึงเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ารายนายศุภชัย กับพวก (กรณีมูลนิธิมหาอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง รับเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และอาจมีการโอน จำหน่าย ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินดังกล่าว ประกอบกับจากการแถลงข้อเท็จจริงของ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ผู้แทน ดีเอสไอ ต่อคณะกรรมการธุรกรรมว่า ภายหลังจากที่ดีเอสไอ หน่วยงานด้านความมั่นคง และหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม ได้เข้าตรวจสอบการกระทำผิดของพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายแล้ว ได้มีการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย กับพวก กว่า 200 คดี ทำให้มีความพยายามที่จะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของวัดพระธรรมกาย มูลนิธิธรรมกาย และมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เพื่อหลบเลี่ยงการดำเนินการจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และย่อมทำให้อาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ถูกจำหน่ายจ่ายโอนไปด้วย (อ่านคำสั่งอายัดทรัพย์สินดังกล่าว ฉบับเต็ม : คลิกที่นี่ )
เส้นทางการเงินในส่วนนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบตั้งแต่ช่วงปี 2558 ว่า นายศุภชัย ได้สั่งจ่ายเช็คโดยตรงไปยังพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย รวมถึงเครือข่ายคนใกล้ชิดภายในวัดพระธรรมกาย เบื้องต้นที่พบขณะนั้น มีจำนวน 11 ฉบับ วงเงินรวมประมาณ 1.1 พันล้านบาท จำแนกได้ ดังนี้
หนึ่ง เช็คที่จ่าย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ชื่อเดิมหลวงพ่อธัมมชโย ปัจจุบันคือพระเทพญาณมหามุนี) และวัดพระธรรมกาย โดยตรง 4 ใบ รวม 316,780,000 บาท (ดูเอกสารประกอบท้ายข่าว)
สอง เช็คที่จ่าย เครือข่ายอื่น ๆ (วัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ -สหกรณ์บริการชุมชนรัฐประชา-ธ.กรุงเทพ เพื่อซื้อเงินตราต่างประเทศ) 3 ใบ 484,061,150 บาท
สาม เช็คที่จ่าย เป็นเงินสด ไม่ระบุชื่อผู้รับ 4 ใบ มูลค่า 311,339,661 บาท
เบ็ดเสร็จเป็นเงิน 1,112,180,811 บาท
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ ภายหลังสำนักข่าวอิศรา นำเช็คดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ดีเอสไอ ที่เป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบคดีดังกล่าว ได้เข้ามาดำเนินการสอบสวนขยายผล จนพบข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีเช็ครวมทั้งหมด 27 ฉบับ รวมวงเงินกว่า 1,458 ล้านบาท ซึ่งตรงกันกับคำสั่งของ ปปง. ที่ระบุไว้ในครั้งนี้
พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเมื่อปี 2559 ระบุว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินก่อนหน้านี้ มีพบว่ามีเช็คสั่งจ่ายให้พระ และเครือข่ายวัดกว่า 600 ล้านบาท ต่อมาพบว่าเพิ่มขึ้นรวมเป็น 1,200 ล้านบาท ล่าสุดพบเช็คเพิ่มเติมอีก 7 ฉบับ มูลค่า 400 ล้านบาท ดังนั้นยอดเงินที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในคดีฟอกเงินดังกล่าวจึงมีจำนวน 1,458 ล้านบาท จากเช็ครวม 27 ฉบับ
ทั้งนี้ดีเอสไอ เคยประสานขอข้อมูลจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อขอทราบว่าพื้นที่ภายในวัดพระธรรมกายว่ามีพื้นที่ส่วนใดเป็นธรณีสงฆ์ส่วนใดเป็นของมูลนิธิ แต่ยังไม่ได้รับข้อมูล นอกจากนี้ดีเอสไอยังตรวจสอบเส้นทางการเงินที่รับบริจาคมาอย่างละเอียด โดยธุรกรรมการเงินระบุชัดว่า เงินแต่ละก้อนถูกนำไปใช้ในกิจการใดบ้าง
ต่อมาปี 2559 ดีเอสไอ ชง ปปง. อายัดทรัพย์สินนายศุภชัย ที่โอนจ่ายเช็คไปยังวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และเครือข่าย รวม 27 ฉบับ มูลค่า 1,458 ล้านบาทด้วย ระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างปี 2552 -2555 นั้น นายศุภชัย กับพวก ได้เขียนเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด จำนวน 27 ฉบับ จำนวนเงิน 1,458,560,000 บาท สั่งจ่ายให้แก่ พระเทพญาณมหามุนี หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย เป็นจำนวนเงิน 538,160,000 บาท มูลนิธิมหารัตน์อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นเงินจำนวน 125,000,000 บาท วัดพระธรรมกาย เป็นเงินจำนวน 778,400,000 บาท และนางสาวศศิธร โชคประสิทธิ์ เป็นเงินจำนวน 17,000,000 บาท โดยมีเจตนาทุจริตและมีลักษณะของการโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหลายรูปแบบ เพื่อซุกซ่อน ปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือปกปิดอำพรางการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด (อ่านประกอบ : เบ็ดเสร็จ27ใบ1.4 พันล.! 'ศุภชัย'จ่ายเช็ค'ธรรมกาย' ก่อนโดนปปง.อายัดบัญชีเงินฝาก50 ล., ดีเอสไอพบอีกเช็คกว่า400ล. คดีคลองจั่นโอนวัด-ธัมมชโย)
ปัจจุบันคดีฟอกเงินเฉพาะกลุ่ม ‘ธรรมกาย’ ถูกกล่าวหา มีอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีกล่าวหา นายศุภชัย พระธัมมชโย กับพวก และคดีกล่าวหาวัดพระธรรมกาย มูลนิธิรัตนคีรี วัดบ้านขุน วัดพระพุทธบาท วัดแม่สะนาม วัดสามพระยา สมาคมพุทธศาสตร์ล้านนา และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี โดยทั้ง 2 คดี มีความเกี่ยวเนื่องกัน และมีมูลค่าความเสียหายรวมกัน 2,993,141,973 บาท
โดยทั้งหมดดีเอสไอพบว่า มีเส้นทางการเงินไปยังกลุ่มบุคคลข้างต้น มีปลายทางถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเงินปลายทางนั้น เป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้โอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน อาจเข้าข่ายกระทำความผิดฐานฟอกเงินได้ (อ่านประกอบ : INFO: 13 คดียักยอก-ฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯในมือดีเอสไอ-เบ็ดเสร็จ 2 หมื่นล.)
ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาคือ อาคารตามโครงการ 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง จัดสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ?
เว็บไซต์มูลนิธิธรรมกาย ระบุข้อมูลว่า อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์ฯ จะใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานซึ่งเป็นศูนย์กลางในการติดต่อสื่อสารกับวัดสาขาและศูนย์สาขาของวัดพระธรรมกายในทวีปต่างๆ ทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมสายสัมพันธ์กับพุทธบุตรและองค์กรพุทธจากทั่วทุกมุมโลก โดยส่วนหนึ่งของอาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์ฯ จะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังใหม่ของวัดพระธรรมกาย เพื่อใช้รองรับการศึกษาพระบาลีและนักธรรมของพระภิกษุสามเณร ที่นับวันจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต (อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์มูลนิธิธรรมกาย)
ทั้งหมดคือเบื้องลึก-ฉากหลัง เส้นทางการเงิน ก่อนหน้าที่ดีเอสไอ ร่วมกับ ปปง. ขยายผลการสอบสวน จนพบว่ามีเช็คมากถึง 27 ฉบับ วงเงิน 1,458 ล้านบาท กระทั่งเจอพฤติการณ์ว่า กลุ่มผลประโยชน์ภายในวัดพระธรรมกาย ‘ร้อนตัว’ และเตรียมจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวให้บุคคลอื่น ทำให้ดีเอสไอ ต้องเร่งชงเรื่องให้ ปปง. อายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ก่อน มิฉะชั้นหากถึงชั้นศาล และศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จะตามกลับคืนมาลำบากนั่นเอง
ท้ายสุดดีเอสไอ และ ปปง. จะขยายผลไปอายัดทรัพย์สินใดเพิ่มเติมบ้าง และบุคคลใดที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องต้องการจะซื้อทรัพย์สินดังกล่าว ต้องรอติดตามผลต่อไปอย่างใกล้ชิด !
(เช็ค 4 ฉบับที่จ่ายตรงเข้าบัญชี พระธัมมชโย)
อ่านประกอบ :
เปิดครบพฤติการณ์ฟอกเงิน'ศุภชัย-อนันต์-ธัมมชโย'! ปปง.โชว์หมดคำสั่งอายัดที่ดินฉบับเต็ม
โชว์เช็ค 11 ใบพันล.! “ศุภชัย”เซ็นจ่ายถึง“ธมมชโย-ธรรมกาย-เครือข่าย”
ยันแจ้งข้อหา‘ธัมมชโย’นอกสถานที่ได้! ดีเอสไอชงอัยการฟ้อง‘ศุภชัย-พวก’คดีฟอกเงิน