ชื่อไหนมีปัญหา'ธงทอง'รู้ดีที่สุด! เลขาฯ ลูกเสือ รับขั้นตอนขอเหรียญสดุดีไม่กลั่นกรองก่อน
'ประเสริฐ บุญเรือง' เลขาธิการสนง.ลูกเสือแห่งชาติ ยอมรับขั้นตอนพิจารณารายชื่อผู้ขอพระราชทานเหรียญสดุดี ในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคยมีคกก.กลั่นกรองตรวจสอบก่อน แตกต่างจากปีนี้ที่มีการแต่งตั้งเป็นทางการ ก่อนพบปัญหาเพียบ 684 ราย จ่อประกาศใช้หลักเกฑ์ใหม่แก้ปัญหา ส่วนชื่อไหนมีปัญหาบ้างให้ถาม 'ธงทอง จันทรางศุ' รู้รายละเอียดดีที่สุดเอง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานความคืบหน้าล่าสุดกรณีปัญหาการพิจารณารายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี 2556-2559 ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ซึ่งปรากฏข้อมูลว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณารับรองผลการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531 รวมจำนวน 894 ราย พบว่ารายชื่อที่เสนอมาทั้งหมด ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติเพียงแค่ 210 ราย ส่วนที่เหลืออีก 684 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ขณะที่รายชื่อผู้ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษที่ค้างการพิจารณาตั้งแต่ปี 2556 -2559 จำนวน 43 ราย ผ่านการพิจารณาจำนวน 36 ราย (อ่านประกอบ :กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย, กางข้อกม.พระราชทานเครื่องราชฯ เหรียญลูกเสือสดุดี ก่อนพบชื่อผู้ขอมีปัญหาเพียบ684ราย)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสารวาระการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2561 ที่ผ่านมา ที่มีการพิจารณารายชื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ประจำปี 2556-2559 พบว่ามีการระบุเหตุผลที่ทำให้มีผู้ขอพระราชเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 เป็นจำนวนมากถึง 684 ราย จากรายชื่อที่เสนอมาทั้งหมด 894 ราย เป็นเพราะเอกสารหลักฐานผลงานของผู้เสนอขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1-3 ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ.2551 และประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 พ.ศ.2531(อ่านประกอบ:เผยวาระพิจารณาผู้ขอเครื่องราชฯลูกเสือ มีปัญหา684 ราย คกก.ชุด ธงทอง ระบุชัดหลักฐานผลงานไม่ผ่าน)
ล่าสุด นายประเสริฐ บุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราถึงปัญหาขั้นตอนการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ และเหรียญลูกเสือสดุดี ที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวว่า ระบบการพิจารณามอบเหรียญลูกเสือสดุดี ที่ผ่านมา จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่คิดว่าตัวเองเหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อให้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีแต่ละชั้น จะต้องเสนอชื่อไปยังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ที่อยู่ตรงเขตปทุมวันเพียงแค่แห่งเดียวเท่านั้น จากนั้นสำนักงานลูกเสือแห่งชาติก็จะนำเรื่องผู้ที่เสนอตัวเองเข้ารับเหรียญสดุดีเข้าสู่บอร์ดคณะกรรมการลูกเสือเพื่อพิจารณาเรื่องการมอบเหรียญต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ระบบการพิจารณาการมอบเหรียญสดุดีแบบเก่านี้มีปัญหาก็เพราะว่า ผู้เสนอชื่อนั้นจะประสบความลำบากต้องเดินทางมายื่นเรื่องที่สำนักงานลูกเสือแห่งชาติที่เดียวเท่านั้น อีกทั้งยังไม่มีคณะกรรมการกลั่นกรองผู้ที่มีความเหมาะสมว่าจะได้รับพระราชทานเหรียญสดุดี จึงทำให้เกิดปัญหาว่ามีรายชื่อที่ไม่ได้รับการพิจารณาจำนวนมาก ถึง 894 ราย ตั้งแต่ปี 2556-2559
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในปี 2560 ที่ผ่านมา ช่วงเวลาที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯโดยมีนายธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานขึ้นมาเพื่อพิจารณาการมอบเหรียญที่ค้างตั้งแต่ปี 2556 และให้ศึกษาธิการจังหวัดและลูกเสือจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในการรับเรื่องและส่งเรื่องต่อมายังสำนักงานลูกเสือแห่งชาติเพื่อให้บอร์ดคณะกรรมการลูกเสือเพื่อพิจารณาเรื่องการมอบเหรียญต่อไป และในวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง ฯ ก็ได้มีการร่างประกาศคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การขอการขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 และเสนอต่อคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว
"ถ้าหากร่างประกาศดังกล่าวคณะกรรมการบริหารเห็นชอบ ไม่มีการแก้ไขอะไร ก็จะส่งเรื่องให้กับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการลงนามเพื่อให้ประกาศมีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ร่างประกาศดังกล่าวก็น่าจะมีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าภายหลังจากร่างประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การพิจารณารายชื่อผู้ที่มีความเหมาะสมกับการพระราชทานเหรียญสดุดีก็น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามขอให้นายประเสริฐ เปิดเผยรายชื่อผู้ที่คิดว่าตัวเองเหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อให้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีในแต่ละชั้น 1-3 จำนวน 684 ราย ที่มีปัญหาไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติแล้ว แต่นายประเสริฐกล่าวว่า สามารถให้ข้อมูลได้เฉพาะผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์การขอพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1 ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 จำนวน 210 รายและผู้ที่ขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติซึ่งผ่านการพิจารณาจำนวน 36 รายเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้รายชื่อผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาได้ เนื่องจากเป็นอำนาจของนายธงทอง ที่จะพิจารณาเรื่องการเปิดเผยรายชื่อของผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณา และนายธงทองก็เป็นผู้รู้รายละเอียดดีที่สุดว่ามีหลักเกณฑ์ในการคัดผู้ที่มีความเหมาะสมอย่างไรบ้าง
เมื่อถามว่า นับตั้งแต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2550 เป็นต้นมา มีการอนุมัติเหรียญสดุดีลูกเสือในแต่ละปีให้กับผู้ขอเป็นจำนวนนับพันราย กรณีเหล่านี้ได้มีการกลั่นกรองบ้างหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ตนเชื่อว่าสมัยนั้นน่าจะมีการกลั่นกรองเหมือนกัน แต่คงใช้กฎเกณฑ์กติกาที่แตกต่างออกไปจากตอนนี้ อีกทั้งต้องดูด้วยว่าจำนวนผู้เสนอตัวว่าจะรับเหรียญนั้นมีเท่าไร
"แต่ละยุค แต่ละสมัย ก็มีหลักเกณฑ์เป็นของยุคใคร ยุคมัน อย่างตอนนี้ท่านธงทองเขาก็ออกเกณฑ์มาใหม่ หลังจากนี้อาจจะยากกว่านี้อีกก็ได้ เพราะการออกเกณฑ์ใหม่ก็ต้องมีความรอบคอบขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเก็บเงิน เกิดการทุจริต แต่ผมอยากให้ไปถามท่านธงทองให้ช่วยอธิบายด้วยว่าหลักเกณฑ์เก่านั้นเป็นอย่างไร และหลักเกณฑ์ใหม่เป็นอย่างไร เพราะผมก็ไม่ได้เห็นหลักเกณฑ์เดิม"
หมายเหตุ:ภาพ นายประเสริฐ บุญเรือง จากแฟ้มภาพ เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ