ความเชื่ออยู่เหนือความโลภ
ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์ And justice for all ฉบับวันพุธที่ 13 มิ.ย.61 เสนอแนวทางดับไฟใต้ ด้วยการค้นหาต้นเหตุของการเลือกใช้ความรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบ และให้รัฐแก้ไขตรงจุดนั้น
ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช เขียนบทความชิ้นนี้ในห้วงเวลาที่สถานการณ์ในพื้นที่กลับมาปะทุรุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ฆ่ารายวัน มีคนตายถึง 12 ศพในระยะเวลาเพียง 5 วัน ขณะที่งบดับไฟใต้ปีล่าสุดที่เพิ่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้งบก้อนนี้พุ่งทะลุ 3 แสนล้านบาทไปแล้ว ต้ังแต่ไฟใต้ปะทุรอบใหม่เมื่อปี 47 เป็นต้นมา
----------------------
ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้รับเกียรติให้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง "หลากทัศนะการปฏิบัติการทางข่าวสาร" ของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ของประเทศไทย โดยผู้เขียนได้วิเคราะห์ในมุมมองของนักอาชญาวิทยาในหัวข้อ "การก่อการร้าย: ความเชื่ออยู่เหนือความโลภ" ว่าพฤติกรรมการก่อการร้ายนั้นมีปัญหามาจากกระบวนการในการออกกฎหมายของรัฐ
การควบคุมประเทศโดยรัฐไทยอันมีหลักพื้นฐานในการออกกฎหมายมาจากศาสนาพุทธนั้น ส่งผลต่อกลุ่มคนที่มิได้มีฐานความเชื่อที่สอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ของกลุ่มคน และนำไปสู่พฤติกรรมการก่อการร้ายขึ้น
พฤติกรรมการก่อการร้ายนั้นมีความแตกต่างไปจากพฤติกรรมของการก่ออาชญากรรมโดยทั่วไป โดยเฉพาะในด้านของแรงจูงใจที่มีที่มาจาก "ความเชื่อ" มิใช่ "ความโลภ" ดังนั้นในเมื่อแรงจูงใจของพฤติกรรมการก่อการร้ายมาจากความเชื่อ ซึ่งแตกต่างจากการตัดสินใจของอาชญากรโดยทั่วไป กฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม อาจไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพพอในการหยุดพฤติกรรมการก่อการร้าย เพราะกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมสามารถระงับได้เพียงความโลภ ความโกรธ ความหลง ของตัวอาชญากรเท่านั้น
ดังนั้นแนวทางแก้ที่ดีที่สุดของการยับยั้งพฤติกรรมการก่อการร้าย ผู้เขียนเห็นควรว่าวิธีการดังกล่าวนั้นคือ "การหยุดความเชื่อหรือทำลายความเชื่อดังกล่าวนั้นลง" ซึ่งเครื่องมือหรือวิธีการที่จะใช้ในการทำลายความเชื่อหรือหยุดความชื่อดังกล่าวนั่นคือ การปฏิบัติการข่าวสาร หรือ Information Operation (IO) นั่นเอง
หากเชื่อมโยงการปฏิบัติการทางข่าวสารกับการทำลายความเชื่อของผู้ก่อการร้ายในมุมมองของการระงับพฤติกรรม หรือการทำลายความตั้งใจ ตามแนวคิดของนักอาชญาวิทยาแล้วนั้น อาจกล่าวได้ว่าการบิดเบือนความเชื่อของผู้ก่อการร้าย หรือการทำลายความเชื่อของผู้ก่อการร้าย อันเป็นแรงจูงใจหลักของผู้ก่อการร้ายนั้น หากสามารถกระทำได้สำเร็จจะสามารถหยุดยั้งหรือระงับพฤติกรรมการก่อการร้ายได้ในลักษณะเดียวกันกับที่ "กฎหมาย" และ "กระบวนการยุติธรรม" สามารถกระทำได้ในการหยุดพฤติกรรมอาชญากรรมของอาชญากร
ตัวอย่างเช่น หากผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งมีความเชื่อหรือสร้างความเชื่อขึ้นว่า พื้นที่หรือดินแดนที่กลุ่มของตนอาศัยอยู่นั้น แต่เดิมมิได้อยู่ในการปกครองของรัฐที่ปกครองอยู่ในปัจจุบัน และสามารถปลุกปั่นความเชื่อดังกล่าวนี้จนกลายเป็นแรงจูงใจหรือแรงผลักดันให้ผู้ก่อการร้ายในกลุ่มมีพฤติกรรมการก่อการร้ายต่อรัฐได้ สิ่งที่รัฐพึงที่จะกระทำในการทำลายความเชื่อดังกล่าวคือ ค้นหาประวัติศาสตร์ที่แท้จริง หรือวิเคราะห์เปรียบเทียบประวัติศาสตร์ในการครอบครองพื้นที่ในดินแดนอื่นๆ ทั่วโลกที่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน และดำเนินการเผยแพร่ "ข้อเท็จจริง" และ "ทัศนคติ" เหล่านั้นให้กระจายสู่ตัวผู้ก่อการร้าย หรือกลุ่มคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เพื่อทำลายความเชื่อหรือความตั้งใจของผู้ก่อการร้าย สามารถลดความรุนแรงของความตั้งใจนั้นลงได้ และยังสามารถยับยั้งแนวร่วมที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง
อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น หากผู้ก่อการร้ายมีความเชื่อที่ว่า หากเขาสามารถสละชีวิตเพื่อศาสนาของเขาได้แล้วนั้น เขาจะได้พบกับสิ่งที่ดีงาม แม้ว่าสิ่งที่เขาทำในอดีตจะเป็นการทำลายเพื่อนมนุษย์ก็ตาม ความเชื่อเหล่านี้ รัฐ (State) หรือกลุ่มต่อต้านการก่อการร้าย (Counter-Terrorism) จะต้องกำหนดวิธีการในการทำลายความเชื่อเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในด้านการปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อทำลายความเชื่อ การใช้ผู้นำศาสนาเข้าทำการสอนหลักศาสนาที่ถูกต้อง การต่อต้านการโฆษณาหรือการเผยแพร่ความเชื่อเหล่านั้นของกลุ่มผู้ก่อการร้าย การให้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
หากกระบวนยุติธรรมที่เข้มแข็งสามารถหยุดยั้งพฤติกรรมอาชญากรรมของอาชญากรได้ การปฏิบัติการทางข่าวสารที่เข้มข้นย่อมหยุดยั้งพฤติกรรมก่อการร้ายของผู้ก่อการร้ายได้เช่นกัน และหากรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องยังคงใช้นโยบายหรือแนวทางการป้องกันแก้ไขพฤติกรรมการก่อการร้ายด้วยวิธีการเดียวกันกับการป้องกันอาชญากรรมดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่า "รัฐจะสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์ และอาจจะไม่มีทางประสบความสำเร็จกับการแก้ไขสถานการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นและคงอยู่เรื่อยมา"
ดังนั้นการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย โดยรัฐ หรือ กลุ่มต่อต้านการก่อการร้ายอื่นใด ควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านแผนการ วิธีการ และการปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม การรบภาคสนามยังคงมีความจำเป็นในการต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่การปฏิบัติการทางการข่าวที่เข้มแข็งนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็น "เครื่องมือ" สำคัญที่มีความสามารถในการหยุดยั้งพฤติกรรมการก่อการร้ายได้ตั้งแต่เริ่มมีการก่อตัว และอาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติการทางการข่าวที่เข้มแข็งดังกล่าวนั้น จะเป็น "เครื่องมือ" สำคัญที่จะทำลายความเชื่อ อันเป็นแรงจูงใจหลักของผู้ก่อการร้าย และจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยุติสถานการณ์การก่อการร้ายที่เกิดขึ้น และคงอยู่ในปัจจุบัน ดังคำกล่าวในตำราพิชัยสงครามของซุนวูที่ว่า
"การชนะร้อยทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีอันวิเศษยิ่ง"
---------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
5 วัน 12 ศพ! รัฐสั่งคุมเข้มโค้งสุดท้ายรอมฎอน ปัตตานีผวาฆ่าหมู่