กอ.รมน.-กศน. ประสานเสียงแจง 'อิศรา' ยัน ไม่มีผูกขาดวิทยากรอบรมประวัติศาสตร์ชาติ
กอ.รมน. -กศน. แจง 'อิศรา' ยันไม่มีผูกขาดวิทยากรอบรมประวัติศาสตร์ชาติ เผยกระบวนการสร้างวิทยากรย่อยพื้นที่เพิ่มเท่านั้น ย้ำเบิกจ่ายงบโปร่งใส ตรวจสอบได้ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง
สืบเนื่องจาก นายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับการจัดทำโครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อน้อมรำลึกบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย และการจัดกระบวนการเรียนการสอน ในการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้กับ ผู้บริหารกศน. ผู้เรียน กศน. เยาวชน และประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 และมีการจัดทำโครงการในปี 2561 ต่อเนื่องอีกหลายพื้นที่ ว่า เป็นการดำเนินงานโครงการร่วมกันระหว่าง กศน.กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดย กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวิทยากรมาให้กับ กศน. เนื่องจากรูปแบบการจัดอบรมจะเป็นการสร้างต้นแบบให้คนปฏิบัติตาม ดังนั้น วิทยากรจะต้องเป็นบุคลากรแม่แบบ มิฉะนั้นจะมีความสะเปะสะปะได้ นั้น (อ่านประกอบ : เปิดคำสั่ง กศน. ยันที่มาจัดอบรมประวัติศาสตร์ชาติ ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วม 9,319 ราย)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงการดำเนินงานโครงการจัดฝีกอบรมจาก กศน.และ กอ.รมน. เพิ่มเติม ยืนยันว่า โครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย มี 4 กระบวนการ คือ 1.การอบรมผู้บริหารส่วนจังหวัด อำเภอ ให้รับรู้ข้อมูลเพื่อไปชี้แจงชาวบ้านต่อได้ โดยจะมีการอบรมที่ศูนย์ประชุมจังหวัด 2. การลงพื้นที่ของวิทยากร กอ.รมน.เพื่อเสริมสร้างให้ ครู กศน.มีความรู้ความสามารถเพื่อที่จะไปสอนนักศึกษา กศน. และสร้างวิทยากรย่อย ให้เข้าใจในเรื่องของโครงการต่อได้ 3. การลงพื้นที่ของ วิทยากร กอ.รมน.ร่วมกับ ครู กศน.ในพื้นที่แต่ละจังหวัดเพื่อไปสร้างวิทยากรในระดับท้องถิ่นเพื่ออธิบายโครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย และ 4.โครงการสอนศึกษานิเทศก์ของทาง กศน.โดยจะมุ่งเน้นไปที่การอบรมโครงการกับนักศึกษา กศน.ที่อยู่ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์
ส่วนข้อสังเกตเรื่องการผูกขาดตัววิทยากรที่ทำหน้าที่บรรยาย นั้น กศน. และ กอ.รมน. ยืนยันว่า ไม่มีการผูกขาดแต่อย่างใด วิทยากรของ กอ.รมน.ทั้ง 2 รายนั้น เป็นเหมือนกับวิทยากรแม่ไก่ ที่จะลงพื้นที่บรรยายเพื่อสร้างวิทยากรย่อยในระดับท้องถิ่นให้มีความสามารถชี้สาระสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ตามโครงการได้
โดยรายละเอียดกระบวนการที่ 2 จะมีการลงพื้นที่ของวิทยากร กอ.รมน.จำนวน 2 ราย เป็นวิทยากรหลักที่มีความรู้ในโครงการ และวิทยากรสนับสนุนอีกจำนวน 8 ราย โดยจะมีการลงพื้นที่ใน 5 ภาค จำนวน 6 ครั้ง โดยภาคอีสานจะมีการลงพื้นที่ 2 ครั้ง ซึ่งการลงพื้นที่ทั้ง 6 ครั้ง แต่ละจังหวัดในภาคนั้นๆจะส่งตัวแทน ครู กศน.จังหวัด ละ 5 ราย รวมกับตัวแทนศูนย์การเรียนรู้มารับการอบรม รวมทั้งประเทศแล้วจะมีบุคลากรทั้งจาก กศน.และศูนย์การเรียนรู้ทั่วทั้งประเทศแล้ว จะมีผู้ที่เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 404 ราย ซึ่งทั้ง 404 ราย จะมีลักษณะคล้ายกับครู ก. ดังนั้น จากการลงพื้นที่จำนวน 6 ครั้ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้รับค่าตอบแทนจำนวนถึงหลักแสนบาท
ส่วนกระบวนการที่ 3 ที่เป็นโครงการสร้างวิทยากรย่อยในระดับท้องถิ่นนั้น รูปแบบการดำเนินงานจะเป็นการส่งวิทยากรของ กอ.รมน.จำนวน 3 ราย โดย 2 ราย นั้นจะเป็นวิทยากรหลักที่เคยบรรยายในกระบวนการที่ 2 มาก่อนแล้ว ประกอบกับวิทยากรที่เป็นครู ก.รายจังหวัดจำนวน 5 ราย ซึ่งผ่านการอบรมในกระบวนการที่ 2 มาก่อนหน้านี้ โดยจะมีการบรรยายครึ่งวันถึงประวัติศาสตร์ประเทศไทยตั้งแต่ก่อตั้งประเทศจนถึงสมัย รัชกาลที่ 10 จากนั้นจึงทดสอบปากเปล่าเพื่อทดสอบความสามารถผู้ที่เป็นวิทยากรระดับท้องถิ่นว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งวิทยากรที่ได้จากกระบวนการนี้ก็เปรียบเสมือนว่าเป็น ครู ข.
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการได้ดำเนินการจนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้วในพื้นที่ 20 จังหวัดในภาคอีสาน โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กอ.รมน.และกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งความสำเร็จของโครงการนั้นก็สามารถวัดได้จากการอบรมครูในจังหวัดมุกดาหาร ที่หลังจากได้รับการอบรมแล้ว มีความเข้าใจในโครงการและสามารถนำรายละเอียดไปสอนนักเรียนต่อได้
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ใช้จ่ายในกระบวนการนี้นั้น ในแต่ละจังหวัดจะใช้งบประมาณประจำปีที่ได้รับมาสนับสนุนการอบรม จึงขอยืนยันว่าการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการนี้มีความถูกต้องตามระเบียบกรมบัญชีกลางทุกประการ