เปิดคำสั่ง กศน. ยันที่มาจัดอบรมประวัติศาสตร์ชาติ ตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วม 9,319 ราย
เปิดคำสั่ง เลขาฯ กศน. ตั้งคณะที่ปรึกษา-คณะทำงาน จัดอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทยน้อมรำลึกบุญคุณพระมหากษัตริย์ หลังแจงปมจัดหาวิทยากร การันตีขั้นตอนการดำเนินงานตามระเบียบโปร่งใส่ พบตั้งเป้าหมายบุคลากรในสั่งกัดทุกระดับเข้าร่วม 9,319 ราย ขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่ปี 61
สืบเนื่องจากนายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เกี่ยวกับการจัดทำโครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทย เพื่อน้อมรำลึกบุญคุณของพระมหากษัตริย์ไทย และการจัดกระบวนการเรียนการสอน ในการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้กับ ผู้บริหารกศน. ผู้เรียน กศน. เยาวชน และประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 และมีการจัดทำโครงการในปี 2561 ต่อเนื่องอีกหลายพื้นที่ ว่า เป็นการดำเนินงานโครงการร่วมกันระหว่าง กศน.กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดย กอ.รมน. เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวิทยากรมาให้กับ กศน. เนื่องจากรูปแบบการจัดอบรมจะเป็นการสร้างต้นแบบให้คนปฏิบัติตาม ดังนั้นวิทยากรจะต้องเป็นบุคลากรแม่แบบ มิฉะนั้นจะมีความสะเปะสะปะได้ นั้น
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันเอกสารหลักฐานการจัดทำโครงการฝึกอบรมดังกล่าวเพิ่มเติม เป็นคำสั่งเลขที่ 173/2560 เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอบรมประวัติศาสตร์ชาติไทยฯ และจัดทำคู่มือการจัดกระบวนการเรียนรู้ การอบรมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ลงนามโดยนายกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2560
ระบุที่มาที่ไปการดำเนินงานโครงการนี้ ว่า สำนักงาน กศน. ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้กับประชาชนผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาซึ่งมีทั้งเยาวชนและประชาชนทั่วไป ได้จัดทำโครงการนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านความมั่นคง คือ การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักและการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำคู่มือการอบรมจัดกระบวนการเรียนรู้ และการอบรมการออกแบบจัดกรรมการการเรียนรู้ เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยแยกเป็น 2 ชุด คือ 1. ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ประกอบไปด้วย เลขาธิการ กศน. รองเลขาธิการ กศน. จำนวน 3 ราย ส่วนคนนอก มีนายทหาร ยศพลเอก ในฐานะข้าราชการบำนาญ และนายกองตรี ในฐานะวิทยากร เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานด้วย
2. คณะทำงานจัดทำคู่มือการอบรมจัดกระบวนการเรียนรู้ และการอบรมการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย มีรองเลขาธิการ กศน.เป็นประธาน ส่วนกรรมการ มีทั้งข้าราชการในกศน. และวิทยากรภายนอก เข้าร่วม มีอำนาจหน้าที่ ในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการอบรม ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และจัดกระบวนการเรียนรู้ จัดประชุมปฏิบัติการยกร่างคู่มือการอบรม ดำเนินการวางแผนและจัดกระบวนการอบรมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และหลักการของโครงการ เป็นต้น (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ ผู้อำนวยการกลุ่ม/ศูนย์ส่วนกลาง ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด /กทม. ผู้บริหารสถานศึกษาขึ้นตรง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ/เขต ครู กศน.ตำบล และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งหมด 9,319 คน เพื่อไปจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียน กศน. เยาวชน และประชาชนทั่วไป เริ่มดำเนินงานโครงการ ปี 2560 และกำหนดแผนงานขยายผลการจัดทำโครงการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี 2561 นี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นยกฤตชัย อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ กศน.ได้ดำเนินการร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดย กอ.รมน. จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวิทยากรมาให้กับ กศน. ซึ่งทุกครั้ง อย่างเช่นในพื้นที่ภาคอีสาน แม่ทัพภาคที่ 2 ก็เป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมทั้งหมด
ส่วนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการผูกขาดตัววิทยากรนั้น นายกฤตชัย ตอบว่า "เรื่องวิทยากรนั้น กศน.จะประสานกลับไปยัง กอ.รมน.ว่าจะส่งใครมาเป็นวิทยากร เพราะว่ารูปแบบของการจัดอบรมจะเป็นการสร้างต้นแบบให้คนปฏิบัติตาม ดังนั้นวิทยากรจะต้องเป็นบุคลากรแม่แบบ มิฉะนั้นจะมีความสะเปะสะปะได้"
นายกฤตชัย ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนข้อร้องเรียนด้านค่าใช้จ่ายนั้น กศน.เป็นผู้ออกเงินงบประมาณ สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด เพราะแต่ละที่ก็ใช้ระเบียบทางราชการเบิกจ่าย อีกทั้งในพื้นที่ที่มีการอบรม ก็มีการแปะรายละเอียดไว้ว่าการอบรมนี้ใช้จ่ายงบประมาณเท่าไร สามารถไปสังเกตการณ์ตรวจสอบข้อมูลได้