พลิกเส้นทางเช็ค2ฉบับพัน‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงิน ก่อนดีเอสไอ‘เบรก’ยังไม่สั่งฟ้อง?
“…ทั้งนายพานทองแท้และนายรัชฎา มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง หากนายรัชฎา ได้ฝากนายวันชัยซื้อหุ้นตามที่อ้าง นายรัชฎาย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของนายวันชัยหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่นายรัชฎาต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัยอีกทอดหนึ่ง ข้ออ้างของนายพานทองแท้ฟังไม่ขึ้น…”
คดีฟอกเงินจากการทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครกลับมาได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง!
ภายหลังคณะทำงานร่วมระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และฝ่ายอัยการ สรุปสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาชื่อดัง 4 ราย ได้แก่ นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้องเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ นายวันชัย หงษ์เหิน สามีนางกาญจนาภา และนางเกศินี จิปิภพ มารดานางกาญจนาภา อย่างไรก็ดีมีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติม คณะทำงานร่วมฯจึงต้องดำเนินการสอบเพิ่มเติมต่อไปตามที่ร้องขอ (อ่านประกอบ : คณะทำงานดีเอสไอสอบเพิ่ม‘โอ๊ค-พวก’ คดีฟอกเงินหลังถูกร้อง-ทั้งที่สรุปสั่งฟ้องแล้ว)
นับเป็นความคืบหน้าขนานใหญ่ ภายหลังเรื่องซาลงไปนับตั้งแต่ปลายปี 2560 ที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ แถลงข่าวผ่านสื่อมวลชนถึงผลงานในรอบปีว่า สำหรับคดีนี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายกลางปี 2561 เนื่องจากสำนวนแรกที่มีความเห็นควรสั่งฟ้องไปแล้วจะหมดอายุความช่วง ธ.ค. 2561 ส่วนคดีที่มีการกล่าวหานายพานทองแท้ กับพวกรวม 4 ราย จะหมดอายุความในเดือน พ.ค. 2562
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจตามความเห็นของคณะทำงานร่วมฯดังกล่าว พบว่า นางกาญจนาภา นายวันชัย และนางเกศินี เกี่ยวข้องกับเช็คมูลค่า 26 ล้านบาท ที่มาจากคดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดานคร ส่วนนายพานทองแท้ โดน 2 เด้ง คือเกี่ยวข้องกับเช็คมูลค่า 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท ที่มาจากคดีดังกล่าวเช่นกัน
คำถามสำคัญคือเช็ค 2 ฉบับนี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับคดีนี้ และพัวพันกับ 4 ผู้ถูกกล่าวหาได้อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ
ตามคำวินิจฉัยส่วนตัวของนายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (ตำแหน่งขณะนั้น ปัจจุบันลาออกจากราชการแล้ว) เจ้าของสำนวนคดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครโดยทุจริต ระบุข้อเท็จจริงถึงเช็คจำนวน 26 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้
เช็คจำนวน 26 ล้านบาท
พนักงานบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยธนาคาร 26 ล้นาบาท โดยหักจากบัญชีของนายวิชัย กฤษดาธานนท์ ผู้บริหารเครือกฤษดามหานคร) สั่งจ่ายนายพานทองแท้ ชินวัตร แต่มีการยกเลิกรายการก่อน
วันรุ่งขึ้นพนักงานบริษัท กฤษดามหานคร ซื้อแคชเชียร์เช็ค 26 ล้านบาท สั่งจ่ายบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) เพื่อชำระค่าหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของนางเกศินี จิปิภพ
ต่อมานางเกศินี ได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 1.8 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
ในส่วนนี้นายพานทองแท้ ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ว่า นายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรนายวิชัย) ฝากนายวันชัย หงษ์เหิน ซื้อหุ้นบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผ่านบัญชีของนางเกศินี ซึ่งครบกำหนดชำระหุ้นเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2546 แต่ก่อนครบกำหนดคือเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2546 นายรัชฎา แจ้งว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่นำแคชเชียร์เช็คค่าหุ้น 26 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ เพื่อฝากโอนบริษัทหลักทรัพย์ธนชาต แต่เกรงว่าอาจล่าช้าไม่ทันกำหนด จึงแนะนำให้นายรัชฎา ชำระเงินให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ธนชาตโดยตรง
อย่างไรก็ดีนายศิริชัย วินิจฉัยว่า เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้จะซื้อขายหลักทรัพย์จะต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์และจะต้องแจ้งเลขที่บัญชีธนาคารให้บริษัทหลักทรัพย์ทราบเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์โอนเงินเข้าบัญชีเมื่อมีการสั่งขายหลักทรัพย์ หรือให้บริษัทหลักทรัพย์หักเงินจากบัญชีเมื่อมีการสั่งซื้อหลักทรัพย์
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทั้งนายพานทองแท้และนายรัชฎา มีความสนิทสนมกัน ต่างก็มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง หากนายรัชฎา ได้ฝากนายวันชัยซื้อหุ้นตามที่อ้าง นายรัชฎาย่อมสามารถโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีธนาคารของนายวันชัยหรือโอนเข้าบัญชีธนาคารของบริษัทหลักทรัพย์ได้โดยตรงอยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลที่นายรัชฎาต้องนำเงินไปซื้อแคชเชียร์เช็คฝากเข้าบัญชีธนาคารของนายพานทองแท้เพื่อฝากชำระค่าหุ้นให้นายวันชัยอีกทอดหนึ่ง
ข้ออ้างของนายพานทองแท้ฟังไม่ขึ้น
สอดคล้องกับข้อมูลจากดีเอสไอ ที่ระบุว่า ได้เชิญนางเกศินี และนายวันชัย มาให้ถ้อยคำในฐานะพยาน ในคดีฟอกเงินดังกล่าวแล้ว เนื่องจากพนักงานสอบสวนพบว่า มีเงินจากนายวิชัย โอนเข้าไปที่นางเกศินี ซึ่งจากการสอบปากคำของทั้งคู่ ยอมรับว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวจริง (อ่านประกอบ : ‘แม่-สามีกาญจนาภา’รับได้เงิน‘เสี่ยวิชัย’จริง! ดีเอสไอเรียก‘โอ๊ค’แจง 4 มี.ค.)
เช็คจำนวน 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2547 จำเลยที่ 25 ได้สั่งจ่ายเช็คไทยธนาคารจำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีของนายพานทองแท้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางพลัด
นายพานทองแท้ชี้แจงเป็นหนังสือต่อ คตส. ว่า เป็นเงินที่ตนร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 26 เพื่อทำธุรกิจ แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าเป็นธุรกิจใด หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน จึงได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นการร่วมลงทุนกับจำเลยที่ 26 ทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศมาขาย แต่ติดขัดเรื่องขั้นตอนการนำเข้าต้องใช้เวลานาน และสีรถยนต์ไม่ถูกใจจึงยกเลิกการทำธุรกิจ
นายศิริชัย เห็นว่า หากเป็นเงินร่วมลงทุนทำธุรกิจนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศตามที่อ้าง ก็น่าจะชี้แจงไปตั้งแต่ครั้งแรก และนายพานทองแท้เป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ ข้ออ้างว่าร่วมลงทุนเพียง 10 ล้านบาท ไม่น่าเชื่อถือ
คำชี้แจงทั้งสองกรณีขัดต่อเหตุผล ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
นี่ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยส่วนตนของนายศิริชัย อดีตรองประธานศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดีนี้ ก่อนที่ ปปง. จะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และเห็นว่า ‘มีมูล’ จึงร้องต่อดีเอสไอให้ดำเนินการตรวจสอบต่อ กระทั่งมีการตั้งคณะทำงานร่วมฯ 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายดีเอสไอ ฝ่าย ปปง. และฝ่ายอัยการ เพื่อพิจารณา
จนล่าสุดมีความเห็นสมควร ‘สั่งฟ้อง’ แล้ว
แต่ ‘ถูกเบรก’ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาให้ตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมเสียก่อน ส่งผลให้คดีนี้ต้องล่าช้าออกไปอีก ?
อย่างไรก็ดีนายพานทองแท้ กับพวก ในชั้นนี้ยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น มีโอกาสชี้แจง และต่อสู้คดีดังกล่าวอีกยาว อย่างช้าที่สุดคือก่อนเดือน พ.ค. 2562 ที่สำนวนนี้จะหมดอายุความ (หากไม่มีการสั่งฟ้องเสียก่อน)
อ่านประกอบ :
ก่อน ปปง.กล่าวโทษคดีฟอกเงินกรุงไทย ขุมธุรกิจพันล.‘พานทองแท้’ ปี’59ฟัน198 ล.ขาดทุนยับ
คำวินิจฉัยผู้พิพากษาฯชำแหละเส้นทางเงินคดีกรุงไทยโยง'พานทองแท้-มานพ'
เฉลยชื่อผู้รับเช็คจาก'เสี่ยวิชัย’คดีกรุงไทย-‘พานทองแท้-มานพ’อยู่ในข่าย?
ย้อนเส้นทางคดีฟอกเงินกรุงไทย!ชื่อ‘พานทองแท้-พวก’โผล่รับเช็ค-ไม่เอ่ยถึงมูลนิธิรัฐบุรุษฯ