"เป็นระเบียบ-เท่าเทียม" เหตุผลคนค้านอนุบาลปัตตานีเปลี่ยนเครื่องแบบ นร.มุสลิม
ชื่นมื่นกันได้แค่วันเดียว สำหรับโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ภายหลังจากที่อนุญาตให้นักเรียนมุสลิมหญิงชายแต่งกายตามหลักศาสนาได้ตามที่ผู้ปกครองบางส่วนออกมาเรียกร้อง เพราะล่าสุดมีการเคลื่อนไหวของพระและชาวพุทธออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยแล้ว
สถานการณ์ต้องบอกว่าพลิกไปพลิกมา เพราะเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว คือสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน ปรากฏว่าทางโรงเรียนยืนกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมอนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบไปโรงเรียนตามข้อเรียกร้องของผู้ปกครองบางกลุ่ม ครูก็พากันลากิจ ลาป่วย หยุดสอน เรื่องราวทำท่าจะบานปลาย แต่ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปลดชนวนปัญหา ด้วยการส่งผู้บริหารกระทรวงและเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงพื้นที่ด่วน หารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลปัตตานี
สุดท้ายคือยอมตามข้อเรียกร้อง คืออนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ นักเรียนชายสวมกางเกงขายาวได้ แต่ต้องเป็นสีน้ำเงิน สีเดียวกับเครื่องแบบนักเรียน
วันจันทร์ที่ 21 พ.ค.61 บรรยากาศที่โรงเรียนจึงเป็นไปอย่างชื่นมื่น ทางโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตามปกติ มีคุณครูทำหน้าที่เป็น "ครูเวร" ทั้งครูพุทธและครูมุสลิม ช่วยกันต้อนรับนักเรียนอยู่ที่หน้าประตูโรงเรียน จากนั้นนักเรียนได้เข้าแถวเคารพธงชาติ โดยมีนักเรียนหญิงที่คลุมฮิญาบเข้าแถวด้วย 4 คน เป็นภาพความสามัคคีกลมเกลียวของน้องๆ ต่างศาสนา สะท้อนความเป็น "สังคมพหุวัฒนธรรม" อย่างแท้จริง
นักเรียนหญิงมุสลิมจากชั้น ป.5 ซึ่งสวมฮิญาบมาโรงเรียน ได้เป็นตัวแทนของนักเรียนมุสลิมทั้งหมด กล่าวขอบคุณครูและผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งมอบช่อดอกไม้ให้กับผู้อำนวยการ และมอบดอกกุหลาบสีแดงให้กับครูทุกคน
"หนูขอสัญญาว่าหนูจะเป็นเด็กดี มีวินัย ตั้งใจเรียน เติบโตเป็นเยาวชนที่เป็นพลังสำคัญของสังคมและประเทศชาติ หนูหวังว่าความต่างด้านการแต่งกายจะเป็นความงดงาม แม้เราจะมีความเชื่อและต่างในการนับถือศาสนา แต่ความแตกต่างนี้เป็นเพียงเรื่องภายนอก สิ่งที่เราเหมือนกันคือ เราคือนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เราคือพี่น้องคนไทยที่เกิดในผืนแผ่นดินไทย และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอขอบคุณผู้อำนวยการและคุณครูทุกท่านที่เห็นความงดงามในความต่าง อนุญาตให้หนูและเพื่อนๆ ได้สวมฮิญาบ ได้แต่งกายตามหลักการศาสนาอิสลาม เพราะเราอยู่ท่ามกลางสังคมพหุวัฒนธรรมที่เราต่างต้องการให้เกิดสันติภาพอันงดงามและยั่งยืน" เป็นคำสัญญาของนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ที่เป็นตัวแทนของนักเรียนมุสลิมทั้งหมด
บรรยากาศชื่นมื่นขนาดนี้ หลายคนก็คิดว่าปัญหาน่าจะจบแล้ว แต่ปรากฏว่ายังไม่จบ เพราะวันต่อมามีข่าวว่าพระผู้ใหญ่ของ จ.ปัตตานี และกลุ่มชาวพุทธบางกลุ่ม ไม่พอใจที่กระทรวงศึกษาธิการตัดสินใจเรื่องนี้โดยไม่ได้หารือกันก่อน
สาเหตุที่พระเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย ก็เพราะจริงๆ แล้วโรงเรียนอนุบาลปัตตานีมีอีกชื่อหนึ่งว่า "โรงเรียนวัดนพวงศาราม" ตั้งอยู่ใน อ.เมืองปัตตานี พูดง่ายๆ คือเป็นโรงเรียนวัด ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2510 ปัจจุบันมีอายุ 50 ปีแล้ว เป็นโรงเรียนดังของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กที่จบ ป.6 จากที่นี่ สอบติดโรงเรียนมัธยมระดับประเทศจำนวนมาก
โรงเรียนนี้สร้างอยู่บน "ที่ธรณีสงฆ์" คือเป็นที่ดินของวัดนพวงศาราม จึงมีการทำสัญญายืมที่ธรณีสงฆ์จากทางวัดมาสร้างโรงเรียน ฉะนั้นจึงเขียนในสัญญาให้เจ้าอาวาสวัดและพระมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลความเป็นไปต่างๆ ของทางโรงเรียนด้วย เหตุนี้เองเมื่อกระทรวงศึกษาฯ อนุญาตให้เปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียน ให้เด็กมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาได้ จึงทำให้พระรู้สึกเป็นกังวล เพราะการตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้มีการสอบถามจากทางวัดก่อนเลย
โดยประเพณีปฏิบัติที่ทางวัดมีแนวปฏิบัติเรื่องเครื่องแต่งกายนักเรียน คือให้นักเรียนทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน เพื่อความเป็นระเบียบและเท่าเทียม ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาสนา และปฏิบัติแบบนี้มา 50 ปีแล้ว นี่คือมุมมองของพระกับทางวัด
"การแถลงของกระทรวงศึกษาธิการและผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น ทางวัดไม่เคยได้ทราบข้อมูลมาก่อนเลย ไม่มีใครมาพูดคุยกับตัวแทนวัด สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราเสียความรู้สึก หลังจากนี้ต้องมีการพูดคุยกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ว่าจะหาทางออกอย่างไร เราไม่ได้ต้องการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่แท้ที่จริงแล้วโรงเรียนอนุบาลปัตตานีนั้น วัดเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ฉะนั้นหากจะเปลี่ยนแปลงระเบียบอะไรก็ตาม ก็ต้องถามทางวัดก่อน" พระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในจังหวัดปัตตานี กล่าว
และว่า "จริงๆแล้วโรงเรียนอนุบาลปัตตานีต้องยึดตามกฏระเบียบ และหลักปฏิบัติของโรงเรียนที่ทางวัดได้ร้องขอเอาไว้ตั้งแต่ในอดีต เจ้าอาวาสทุกรูปได้ร้องขอเอาไว้ พูดง่ายๆว่าเด็กไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิมต้องเสมอเหมือนกันหมด ซึ่งเราไม่ต้องการให้แบ่งแยกว่าคนนี้ไทยพุทธหรือคนนี้ไทยมุสลิม คือเราอยากให้เด็กเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด เรายึดแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2510 แล้ว เพราะฉะนั้นรูปแบบการแต่งตัวจึงเป็นแบบนี้มาตลอด เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ จารีตวิถีไทย วิถีพุทธ"
พระผู้ใหญ่รูปนี้ ย้ำว่า วงการสงฆ์ปัตตานีเสียความรู้สึกกับเรื่องที่เกิดขึ้น
"การแถลงของกระทรวงศึกษาฯทำให้เสียความรู้สึก ว่าทำไมเขาถึงไม่ยอมมาพูดคุยกับเรา หรือแม้กระทั่งเชิญตัวแทนจากพระพุทธศาสนาไปร่วมการพูดคุย ถ้ามีการมาเชิญ เราก็ยังจะยืนยันคำเดิมว่าไม่ต้องการ แบบนี้ท้ายสุดเหมือนเป็นการมัดมือชก ซึ่งจริงๆ เรื่องต้องผ่านมติวัด คณะกรรมการวัด ซึ่งทางกระทรวงศึกษาฯส่งปลัดกระทรวงลงมาแก้ปัญหา แต่เขาไม่ได้ลงมาแก้ เขามาตัดสินเลย ซึ่งจริงๆ ต้องผ่านมติหลายขั้นตอน"
พระผู้ใหญ่ ยืนยันด้วยว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับศาสนา
"ถ้าจะมองไปในเรื่องศาสนานั้น จริงๆ แล้วศาสนานั้นไม่เกี่ยวข้อง เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถามว่าโรงเรียนตั้งอยู่มา 50 ปี เด็กทั้งพุทธและมุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งเด็กจบไปก็ไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น เป็นทั้งหมอ ทนาย และอื่นๆ อีกมากมาย เขาก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกัน สิ่งที่เราทำเพื่อยึดและรักษาธรรมเนียมปฏิบัติในธรรมจารีตที่ว่า นี่คืออัตลักษณ์โรงเรียนอนุบาลปัตตานีที่เราทำอยู่ นั่นหมายถึงเครื่องแบบยูนิฟอร์มแบบนี้นะ คือโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เราจะไม่ไปว่านี่คือเด็กพุทธ นี่คือเด็กมุสลิม ซึ่งเด็กโรงเรียนอนุบาลต้องเป็นแบบนี้หมด แต่ถ้าเปลี่ยนแปลง ความเป็นอนุบาลปัตตานีก็จะหมดไป"
แนวทางการแก้ไขปัญหานี้ คือต้องดึงเรื่องกลับมาที่วัด คณกรรมการของวัด และเจ้าคณะระดับต่างๆ ในองค์กรปกครองคณะสงฆ์ก่อน
"จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องเข้ามาคุยกับทางวัดเลย แต่ก็คิดว่าเมื่อเขาเข้ามาคุย ก็คงจะอ้างกฏกระทรวง ถึงแม้จะอ้างกฎกระทรวง เราก็จะใช้มติมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับธรรมเนียบปฏิบัติของโรงเรียนวัด เราพูดง่ายๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน การทำอย่างนี้เท่ากับไม่ให้เราไปชี้แจง มติคณะกรรมการสถานศึกษาก็ไม่เห็นด้วย ถ้าอ้างว่ากฏกระทรวงเขาใหญ่กว่า ก็ต้องถามว่าถูกต้องไหม แล้วทำไมไม่มองให้ลึกว่าที่ตรงนี้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ตรงนี้เป็นพื้นที่วัด การจะทำอะไรต้องได้รับคำยินยอมจากคณะสงฆ์ คณะกรรมการ เจ้าคณะระดับต่างๆ"
"เกี่ยวกับที่ดินตรงนี้ ถามว่าถ้าจะเอาคืนก็สามารถเอาคืนได้ แต่เราไม่อยากให้ปัญหาบานปลายออกไป เพราะผลกระทบก็จะตกที่เด็ก ซึ่งผู้ปกครองที่เป็นมุสลิมเองบางส่วนเขาก็ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทุกครั้งที่มีการรับเด็กเข้าเรียน เราก็จะมีการแจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่ากฏโรงเรียนเป็นแบบนี้ ซึ่งทางวัดได้มีการกำชับให้ทางโรงเรียนแจ้งให้ทราบทุกครั้ง ท้ายสุดเราต้องยึดถือตามหลักที่เคยปฏิบัติกันมา ส่วนเรื่องวิถีชีวิตเราเข้าใจว่าคนนี้คือพุทธ คนนี้คืออิสลาม เมื่อเราเข้าใจวิถีชีวิต เราก็ต้องเข้าใจวิถีการปฏิบัติ แล้วทำไมคุณถึงทำไม่ได้"
ปัญหาทางความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเฉพาะกับพระและวัด แต่ยังลุกลามไปถึงชาวบ้านไทยพุทธด้วย
"สิ่งที่เกิดขึ้นเราถือเป็นเกมการเมืองมากกว่า เราอย่าไปมองถึงศาสนา เพราะศาสนานั้นดีทุกศาสนา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเอาศาสนามาเป็นเกมการเมืองให้กับตัวเอง ทางออกที่ดีที่สุดต้องไปต่อสู้กันในชั้นศาล ซึ่งถ้าเกิดปัญหา เราสามารถเอาที่ดินวัดคืนได้ เพียงแต่ต้องเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ หมายถึงในกรณีที่เอาพื้นที่คืนมาแล้วต้องทำอะไรต่อ" เป็นสุ้มเสียงของคนพุทธในพื้นที่
และว่า "จริงๆ เราอยากให้โรงเรียนปลอดการแบ่งแยกมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม อยากให้มีสักโรงเรียนหนึ่งในพื้นที่ตรงนี้ และเมื่อแต่งชุดคนละชุดมันก็ดูเหมือนเป็นการแบ่งแยกแล้ว เราอยากให้อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตอนนี้เหมือนมีการเมืองเข้ามาแบ่งแยก ก็เลยทำให้เกิดปัญหา บางครั้งชาวพุทธต้องแข็งไว้บ้าง เมื่อเขาได้อย่างหนึ่งเขาก็ต้องได้อีกอย่างหนึ่ง เราไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวาย แต่เราต้องการสร้างความถูกต้อง"
ปัญหานี้คงไม่จบง่ายๆ เป็นแน่!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ด้านหน้าโรงเรียนอนุบาลปัตตานี หรือ โรงเรียนวัดนพวงศาราม
2 หนังสือสัญญายืมที่ธรณีสงฆ์ เพื่อนำไปสร้างโรงเรียน
อ่านประกอบ :
เหตุเกิดที่อนุบาลปัตตานี นักเรียนที่นี่ห้ามสวมฮิญาบ?
ปมฮิญาบบานปลาย! "บาบอแม" ลาออกพ้น กก.สถานศึกษาอนุบาลปัตตานี
พหุวัฒนธรรมมีจริงไหม? "อังคณา"จี้ทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยแก้ปม"ฮิญาบ"