กรมชลฯ แจงปมผลสอบ สตง. ‘โครงการลุ่มน้ำลำเชียงไกร’ ยันจัดซื้อวัสดุไม่เกินจำเป็น
กรมชลประทานส่งหนังสือชี้แจง ‘อิศรา’ ปมผลสอบ สตง. เกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) เผยเหตุก่อสร้างล่าช้า ต้องรอให้ระดับน้ำลด ปัจจุบันเร่งรัดงานก่อสร้างแล้วเสร็จในปีงบฯ 60 แล้ว ยันจัดซื้อวัสดุทุกชิ้นไม่เกินความจำเป็น
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข่าวผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ของโครงการชลประทานนครราชสีมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณ จำนวน 1669.90 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ทั้งนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ มีการก่อสร้างล่าช้าในบางจุด และพบการจัดซื้อวัสดุเกินความจำเป็น จึงมีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมชลประทานสั่งการให้มีการควบคุม กำกับดูแล ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน (อ่านประกอบ:สตง.จี้อธิบดีกรมชลฯ คุม ‘โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร’ ให้คุ้มค่างบฯ หลังพบจัดซื้อวัสดุเกินจำเป็น)
ล่าสุด วันที่ 17 พ.ค. 2561 กรมชลประทานได้ทำหนังสือชี้แจง โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
1.กรณีการดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ได้รับการจัดสรรงบประมาณเมื่อเดือน ก.ย. 2559 แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝนและมีฝนตกหนัก ทำให้อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) มีปริมาณน้ำเต็มความจุและมีน้ำไหลล้นอ่างเก็บน้ำ ลงสู่ลำเชียงไกรจนเต็มความจุของลำน้ำ ซึ่งจำเป็นต้องรอให้น้ำลดลงในระดับที่เหมาะสมจึงจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างและไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้เร่งรัดการปฏิบัติงานก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2560
2.กรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานก่อสร้างมากกว่า 1 จุด บางรายรับผิดชอบถึง 9 จุด เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานที่รับผิดชอบควบคุมงาน 9 จุด เป็นเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่รับผิดชอบงานในเขต อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.พระทองคำ อ.ขามสะแกแสง และอ.ด่านขุนทดบางส่วน โดยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ทั้งโครงการ ซึ่งสามารถควบคุมงานและกำกับดูแลงานก่อสร้างตลอดลำน้ำลำเชียงไกรได้ในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้มอบหมายให้ผู้ควบคุมงานรายอื่นเข้ามาปฏิบัติงานตามข้อเสนอแนะจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแล้ว
3.กรณีการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรมชลประทานให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพปัญหาความเดือดร้อนของท้องถิ่นและประชาชน บริเวณที่ได้ดำเนินการก่อสร้าง เช่น กรณีการรุกล้ำที่ดินของประชาชนหรือการทำคันดินขวางทางน้ำ ส่งผลให้น้ำท่วมที่ดินของประชาชนและชุมชน โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว พร้อมได้จัดตั้งกลุ่มบริหารผู้ใช้น้ำชลประทานลำเชียงไกร จำนวน 15 กลุ่ม ซึ่งประชาชนในพื้นที่เป็นผู้คัดเลือก โดยมีอาสาสมัครชลประทาน 15 คน เป็นตัวแทนของกรมชลประทาน ทำหน้าที่ช่วยสำรวจปัญหาและความต้องการในพื้นที่ไปแจ้งกรมชลประทานทราบ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
4.กรณีการจัดซื้อวัสดุเกินความจำเป็น มีประเด็นชี้แจง ดังนี้
4.1 การจัดซื้อแผงเหล็กที่ใช้สำหรับปิดกั้นน้ำชั่วคราว (Bulkhead Gate) มากถึง 100 ชุด เนื่องจากอาคารหลักเป็นประตูขนาด 6x4 เมตร อัตราการระบายน้ำอยู่ระหว่าง 50-120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก่อสร้างอยู่ในลำน้ำลำเชียงไกร ซึ่งผ่านชุมชนหลายแห่ง การบริหารจัดการน้ำด้วยการเปิดปิดบานระบายต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและระมัดระวัง เพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำกับชุมชนด้านเหนือน้ำและท้ายน้ำ
หากกรณีที่บานระบายของอาคารบังคับน้ำไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน และทันท่วงที ในการตรวจสอบซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารบังคับน้ำที่มีอยู่จำนวน 17 แห่ง ต้องใช้แผงเหล็กกั้น แห่งละ 12-20 ชุด ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วแผงกั้นน้ำเป็นอุปกรณ์จำเป็นต้องติดตั้งประจำทุกแห่งอย่างน้อยด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำอาคารละ 1 ช่อง โดยอาคาร 2 ช่อง ต้องมีอย่างน้อย 12 ชุด อาคาร 3 ช่อง ต้องมีอย่างน้อย 20 ชุด
สำหรับอาคารทั้งหมด 17 แห่งดังกล่าว แยกเป็นอาคาร 2 ช่อง 6 แห่ง อาคาร 3 ช่อง 11 แห่ง หากต้องติดตั้งแผงกั้นน้ำให้ครบทุกแห่งจะต้องจัดขึ้นอย่างน้อย 292 ชุด แต่เพื่อความประหยัดงบประมาณ จึงจัดซื้อเพียง 100 ชุด ก่อนและนำไปใช้งานร่วมกัน ซึ่งตามจรรยาบรรณของวิศวกรผู้ออกแบบย่อมตระหนักถึงความสำคัญของชีวิตและความปลอดภัยในทรัพย์สินของราษฎร จึงต้องมีการกำหนดออกแบบมาตรการเครื่องมือที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาอันจะเกิดกับอาคารและประชาชนไว้อย่างละเอียดรอบคอบ
นอกจากนี้แผงกั้นน้ำ เป็นวัสดุทำจากเหล็กกล้า มีการพ่นสีและวัสดุกันสนิม คุณสมบัติเหมือนบานระบาย คือ ทนแดด ทนฝน สามารถวางไว้ในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากแฝงเหล็กกั้นน้ำแต่ละท่อนยาว 6 เมตร น้ำหนักท่อนละ 1-1.50 ตัน การเคลื่อนย้ายต้องใช้รถยก กับรถบรรทุกพ่วง หากสร้างโรงเรือนคลุมไว้ จะเป็นอุปสรรคในการใช้รถเคลื่อนย้าย สถานที่เก็บที่เหมาะสมจึงเป็นที่โล่ง เพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายไปใช้งานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายแฝกั้นน้ำที่วางอยู่บริเวณอาคารบังคับน้ำ ไปเก็บไว้ยังบริเวณที่ทำการฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย ตามข้อสังเกตของสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 แล้ว
4.2 การจัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล จำนวน 17 เครื่อง แต่ยังไม่มีการใช้งาน การเปิดปิด บานระบายน้ำในอาคารบังคับน้ำทั้ง 17 แห่ง โดยลักษณะของอาคารบังคับน้ำ จะเป็นประตูระบายน้ำ ขนาน 6x4 เมตร จำนวน 2-3 บาท ขับเคลื่อนด้วยเกียร์มอเตอร์ขนาด 3 เฟส ก่อสร้างปิดกั้นลำน้ำลำเชียงไกร ซึ่งเป็นกลุ่มน้ำสาขาหนึ่งของแม่มูล โดยด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำจะมีชุมชนและพื้นที่การเกษตรโดยรอบ
หลายปีที่ผ่านมา มักเกิดปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี การบริหารจัดการน้ำในลำเชียงไกร ด้วยการเปิดปิดประตูระบายน้ำทุกแห่ง จึงต้องมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน โดยการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำจะไม่มีการขยายไฟฟ้าพร้อมหม้อแปลงไฟฟ้า เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและราคาสูงกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อีกทั้งการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าและอาคารส่วนใหญ่จะอยู่ห่างจากแหล่งชุมชน ทำให้มีการลักขโมยระบบไฟฟ้าและสายไฟฟ้าจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย
การจัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าประจำอาคารบังคับน้ำทุกแห่ง เพื่อใช้เปิดปิดบานระบาย จึงมีความจำเป็น และยังสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งการทำงานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที หากเกิดกรณีมีน้ำหลากไหลบ่ามาแรงมากก็ต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเปิดปิดบานระบายพร้อมกันทุกแห่ง ทั้งเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรผู้อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำลำเชียงไกร
4.3 กรณีการจัดซื้อวัสดุสำนักงานต่าง ๆ เกิดความจำเป็น ในการจัดซื้อวัสดุสำนักงาน วัสดุก่อสร้าง และเบ็ดเตล็ด จะดำเนินการจัดซื้อตามภารกิจและความจำเป็นของแต่ละงาน งานก่อสร้างดำเนินการในระยะเวลาเดียวกัน ไม่สามารถนำวัสดุไปใช้ด้วยกันได้ สำหรับวัสดุที่มีสภาพคงทนถาวร ซึ่งผ่านการใช้งานมาแล้ว และมีสภาพหักชำรุดได้รวบรวมและเร่งจำหน่ายขายซากในคราวเดียวกันตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำหนดเพื่อนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป .