- Home
- Isranews
- ข่าว
- สตง.จี้อธิบดีกรมชลฯ คุม ‘โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร’ ให้คุ้มค่างบฯ หลังพบจัดซื้อวัสดุเกินจำเป็น
สตง.จี้อธิบดีกรมชลฯ คุม ‘โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร’ ให้คุ้มค่างบฯ หลังพบจัดซื้อวัสดุเกินจำเป็น
เปิดผลสอบสตง. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร จ.นครราชสีมา วงเงิน 1.66 พันล. หลังพบการดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ บางจุดก่อสร้างล่าช้า มีการจัดซื้อวัสดุเกินความจำเป็น แนะอธิบดีกรมชลฯ สั่งการให้แก้ไข คุ้มค่าการใช้งบฯ แผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่ผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ของโครงการชลประทานนครราชสีมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ซึ่งได้รับการอนุมัติงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2559-2561 จำนวน 1669.90 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืนใน จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบพบว่า การดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยโครงการชลประทานนครราชสีมาได้รับงบประมาณประจำปี 2559 จำนวน 513.64 ล้านบาท สำหรับงานก่อสร้างจำนวน 20 งาน โดยได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เพื่อทำหน้าที่ตรวจและควบคุมงาน ณ สถานที่ที่กำหนด รวมทั้งสั่งเปลี่ยนแปลง แก้ไข เพิ่มเติม หรือตามที่เห็นสมควรและตามหลักวิชาช่างที่ดี เพื่อให้เป็นไปตามสัญญา
แต่จากการตรวจสอบ พบว่า เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมงานต้องรับผิดชอบควบคุมงานก่อสร้างมากกว่า 1 จุด บางรายต้องรับผิดชอบ ถึง 9 จุด ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ และกรรมการตรวจผลการปฏิบัติงานในโครงการ รวมถึงงานอื่น ๆ ของโครงการชลประทานนครราชสีมา ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ควบคุมงานจะไม่สามารถควบคุมงานได้อย่างเต็มความสามารถ หากเกิดปัญหาระหว่างการก่อสร้างจะไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที
อีกทั้งจากการตรวจสอบเอกสารรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ปีงบประมาณ 2559ณ วันที่ 30 มิ.ย.2560 และสังเกตการณ์ ณ วันที่ 7 ก.ค. 2560 ซึ่งครบกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างทุกงานแล้ว พบว่า ยังไม่มีงานก่อสร้างใดแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดและบางจุดก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าแผนค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ สตง. ยังตรวจสอบพบโครงการชลประทานนครราชสีมา จัดซื้อวัสดุลเกินความจำเป็น และไม่ได้จัดทำแผนการจัดหาวัสดุ แต่ได้ดำเนินการซื้อวัสดุบางรายการตามประมาณการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานและมีการจัดเก็บที่ไม่เหมาะสม ได้เเก่
- การจัดซื้อแผงเหล็กที่ใช้สำหรับปิดกั้นน้้าชั่วคราว (Bulkhead Gate) มากถึง 100 ชุด ทั้งที่ในปีแรก อาจไม่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากยังอยู่ในระยะประกัน อีกทั้งการใช้งานนั้นยังสามารถยกมาใช้ ร่วมกันได้ทุกจุด เนื่องจากขนาดของบานระบายน้้าแต่ละจุดมีขนาดเท่ากัน ซึ่งการจัดซื้อ Bulkhead Gate ในปีแรกจึงเกินความจำเป็น ส่วนปีถัดไปเมื่อหมดระยะประกันก็อาจไม่จำเป็นต้องจัดซื้อถึง 100 ชุด เนื่องจากแต่ละชุดสามารถเคลื่อนย้ายและใช้งานร่วมกันได้
โดยจากการตรวจสังเกตการณ์ ครั้งที่ 1 วันที่ 5-12 ก.ค.2560 พบว่า Bulkhead Gate ถูกวางทิ้ง ไว้กลางแจ้งบริเวณสถานที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารบังคับน้้า ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญหายและเกิดสนิม และครั้งที่ 2 วันที่ 7 ก.ย. 2560 พบว่า Bulkhead Gateมีการย้ายสถานที่จัดเก็บ แต่ยังไม่มีอาคาร สำหรับจัดเก็บ ถูกทิ้งไว้กลางแจ้ง ทำให้เกิดสนิมได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มีการใช้งานแต่อย่างใด
-การจัดซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล ชนิด 2 สูบ 4 จังหวะ จากการสังเกตการณ์ ณ วันที่ 7 ก.ย. 2560 พบว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลทั้งหมดถูกเก็บไว้ที่โครงการชลประทานนครราชสีมา(อำเภอเมืองนครราชสีมา) และได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของโครงการชลประทานนครราชสีมา ทราบว่า เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลทั้งหมด ยังไม่ได้มีการใช้งานแต่อย่างใด เนื่องจากงานก่อสร้างอาคารบังคับน้้ายังไม่แล้วเสร็จ มีเพียงการทดสอบ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเพื่อตรวจรับครุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งหากมีการใช้งานเครื่องดังกล่าวจริง ก็สามารถนำเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลเพียงเครื่องใดเครื่องหนึ่งไปใช้งานเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อถึง 17 เครื่อง อีกทั้งอาคารบังคับน้้าในแต่ละจุดอยู่ไม่ไกลกัน (ห่างกันประมาณ 2-3 กิโลเมตรต่อ 1 อาคาร บังคับน้้า) ซึ่งสามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยง่าย
นอกจากนี้การดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้้าลำเชียงไกร (ตอนล่าง) โครงการชลประทานนครราชสีมา ได้จัดซื้อวัสดุบางอย่างที่มีสภาพคงทนถาวร มีการจัดซื้อที่มากเกินความจำเป็น โดยจากการสุ่มตรวจโครงการ ที่ได้รับงบประมาณตั้งแต่ปี 2558-2559 (ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปีงบประมาณ 2560) พบว่า มีการ จัดซื้อวัสดุเบ็ดเตล็ดทุกงานก่อสร้าง ซี่งวัสดุดังกล่าวค่อนข้างมีความคงทน เช่น ค้อน พลั่ว เทปวัดระยะ เสื่อปูนอนอย่างดี ร่มสนาม เป็นต้น โดยการจัดซื้อในแต่ละครั้งนั้นเป็นคนละห้วงเวลา หากใช้งานเสร็จสามารถนำไปใช้งานต่อได้ แต่โครงการชลประทานนครราชสีมามีการจัดซื้อทุกครั้ง ที่ดำเนินการก่อสร้าง หรืองานซ่อมแซมอื่น ๆ และหากตรวจสอบย้อนหลังจะพบว่า โครงการชลประทานนครราชสีมา มีการ จดซื้อในลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ มีการจัดซื้อทุกครั้งที่มีงานก่อสร้างหรืองานซ่อมแซมอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการชลประทานนครราชสีมา สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย การใช้จ่ายเงิน งบประมาณ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่าและประหยัด สตง. โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 4 มีข้อเสนอแนะให้อธิบดีกรมชลประทานในฐานะที่กำกับดูแล ควรรับทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้น และสั่งการให้มีการควบคุม กำกับดูแล ปรับปรุงแก้ไขการดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และเกิดความคุ้มค่าของการ ใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน
ขณะที่ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เสนอให้พิจารณาทบทวนงบประมาณการก่อสร้าง ในลักษณะงานดำเนินการเอง โดยพิจารณา ถึงความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น บุคลากร เครื่องจักร คุณภาพงานก่อสร้าง โดยเฉพาะด้านเครื่องจักร ให้ปฏิบัติตามคู่มือการคำนวณค่าเช่าเครื่องจักรกล ฉบับปรับปรุง 2560 ระบุหากไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการ ในลักษณะจ้างเหมา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ
นอกจากนี้ให้พิจารณาทบทวนถึงความจำเป็นในการจัดซื้อวัสดุให้มีความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดสภาพ ปัญหาจัดซื้อเกินความจำเป็น และเกิดการเสื่อมสภาพ รวมทั้งต้องสูญเสียงบประมาณในการบำรุงรักษาวัสดุอุปกรณ์ และให้ปรับปรุงซ่อมแซมงานก่อสร้างที่มีสภาพชำรุดให้เป็นไปตามแบบรูปรายการ และให้มีความมั่นคงแข็งแรง ติดตามประเมินผลงานการก่อสร้าง หากพบสภาพชำรุดให้ด้าเนินการแก้ไขโดยด่วน
สุดท้ายให้เจ้าหน้าที่โครงการชลประทานนครราชสีมา ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาความเดือดร้อน ของท้องถิ่นและประชาชน บริเวณสถานที่ดำเนินการก่อสร้าง เช่น กรณีการรุกล้้าที่ดินของประชาชน หรือการทำคันดินขวางทางน้้าส่งผลให้น้้าท่วมที่ดินของประชาชนและชุมชน และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินโครงการ
ภาพประกอบ:http://news.ch7.com/detail/176041