4 ปี คสช.ปราบคอร์รัปชัน จุดอ่อน อุ้ม 'คนใกล้ชิด'
“…ดังนั้นห้วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงปี (หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในช่วงเดือน ก.พ. 2562) สิ่งที่รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ต้องให้ความสำคัญคือ การเลิก ‘มองข้าม’ คนใกล้ตัวที่ถูกกล่าวหา แล้วเริ่มดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ‘เคลียร์’ ทุกปมให้สาธารณชนมั่นใจ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็น ‘หอกข้างแคร่’ ทิ่มแทงตัวเองอยู่อย่างนี้…”
เวียนมาจนครบ 4 ปีแล้ว!
ประเทศไทยภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กุมบังเหียน
หากเทียบกับรัฐบาล ‘ปกติ’ ก็นับว่า ‘ครบวาระ’ จำเป็นต้องออกจากตำแหน่ง เปิดทางให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง
ไม่ว่าประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ-การเมือง ที่กำลังรุมเร้าอยู่ขณะนี้ เช่น ค่าน้ำมันแพงหูฉี่ การค้าขายซบเซา การใช้กลวิธี ‘ดูด’ นักการเมืองเข้ากลุ่มก้อน หรือแม้แต่ข้อครหา ‘สืบทอดอำนาจ’ ไม่ยอมลงจากหลังเสือง่าย ๆ ก็ตาม
แต่ปัญหาหลักใหญ่ใจความสำคัญหนีไม่พ้นเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ที่ ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะยึดอำนาจรัฐบาล ‘นารีขี่ม้าขาว’ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อ้างว่า เกิดการกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้อง ‘รัฐประหาร’ ?
แต่ 4 ปีที่ผ่านมา คสช. ดำเนินการอะไรเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนความทรงจำให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
นับตั้งแต่รัฐประหารในช่วงปี 2557-ปัจจุบัน รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าแต่งตั้งองค์กรเพื่อตรวจสอบ และปราบปรามทุจริตสำคัญ ๆ อย่างน้อย 3 องค์กร ได้แก่ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) มี ‘บิ๊กตู่’ นั่งหัวโต๊ะ
นอกจากนี้ยังมี คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (ปัจจุบันมติ คสช. ให้ยุบไปแล้ว) และศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) (มีกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำงานร่วมกัน)
ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกรณีที่รัฐบาล คสช. ไฟเขียวเร่งปราบปรามแก้ไขปัญหาการทุจริตตรวจสอบโครงการที่มีความไม่ชอบมาพากลเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงหลายเรื่อง อาทิ คดีเงินทอนวัด คดีทุจริตในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ที่มีการขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ มีการสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนเป็นทางการ ร่วมถึงการออกมาตรการแก้ไขปัญหาเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น บ้านพักตุลาการ เป็นต้น
กระนั้น การทำงานของ ศอตช. โดยเฉพาะการดำเนินงานด้านตรวจสอบการคอร์รัปชั่น กลับถูกครหา ‘สองมาตรฐาน’ ไม่ว่าจะเป็นการดูแค่ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุม ศอตช. พิจารณา และเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน คตช. ลงนาม-ลงดาบตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
ส่งผลทำให้ผลงานแก้ไขปัญหาทุจริตที่สำคัญหลายเรื่องถูกกลบไปแทบหมด
จากการรวบรวมของสำนักข่าวอิศรา พบว่า ‘บิ๊กตู่’ ใช้คำสั่งมาตรา 44 รวม 10 ฉบับ เกี่ยวกับการโยกย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจพัวพันกับการทุจริต 353 ราย แต่ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ 58 ราย สอบสวนแล้วไม่พบความผิด 30 ราย สอบสวนแล้วพบว่าผิด และลงโทษแล้ว 72 ราย และการสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จ 193 ราย (อ่านประกอบ : สอบถึงไหน-เอาผิดใครได้ยัง? ข้อสังเกตคำสั่ง หน.คสช.พักงาน-ย้าย จนท.รัฐพันทุจริต, ทำอะไรไม่ได้58ราย-บริสุทธิ์30ราย!สถิติ ม. 44สอบ จนท.รัฐทุจริต-เหลือ193ชื่อยังไม่เสร็จ)
ขณะที่ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ถูกพักงาน-โยกย้ายนั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ‘ตัวเล็ก-ตัวน้อย’ หาระดับ ‘บิ๊ก’ ไม่กี่คน
ที่สำคัญคำสั่งดังกล่าวยังไม่เคยมีการพักงาน นายทหารระดับสูง หรือบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ คสช. เลยแม้แต่รายเดียว ?
ยกตัวอย่าง สำนักข่าวอิศราตรวจสอบ บัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา และภรรยา ที่มีการกรอกข้อมูลทรัพย์สินผิด มีการนำบัญชีของกองทัพภาคที่ 3 ให้อำนาจลงนามเอง รวมถึงเงินหมุนเวียนหลายสิบล้านบาทในบัญชีภรรยา พล.อ.ปรีชา ภายหลังรัฐประหาร แม้ ป.ป.ช. ตรวจสอบพร้อมชี้แจงว่า ไม่มีความผิด แต่ประเด็นเงินหมุนเวียนหลายสิบล้านบาท กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อ (อ่านประกอบ : เปิดขั้นตอน ป.ป.ช.ไฉนไม่สอบ ‘เมียปรีชา’เงินฝากพุ่ง 58 ล.แต่ไร้ธุรกิจ-รายได้)
หรือแม้แต่การใช้ค่ายพระเอกาทศรถ (กองทัพภาคที่ 3) จดทะเบียนเป็นที่ตั้งบริษัทของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชายของ พล.อ.ปรีชา เพื่อดำเนินการทางธุรกิจ และเป็นคู่สัญญากับกองทัพภาคที่ 3 เอง และหน่วยงานราชการอื่น จำนวนหลายสัญญา วงเงินกว่า 155 ล้านบาท ในช่วง พล.อ.ปรีชา นั่งเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 3 และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ยุค พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงจากสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ยังไม่ใช้มาตรา 44 ดำเนินการพักงาน พล.อ.ปรีชา จนกระทั่ง ‘บิ๊กติ๊ก’ นั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม และปัจจุบันเกษียณราชการไปแล้ว (อ่านประกอบ : ยื่น ป.ป.ช.สอบ หจก.ลูก‘ปรีชา’คว้างานกองทัพภาค 3-หน่วยงานรัฐ 155 ล.)
นอกจากนี้ ยังมีเรื่อง การก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่ท้ายสุดแม้ ศอตช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบจากกองทัพบก จะออกมายืนยันนั่งยันถึงความโปร่งใสก็ตาม แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่มีคำตอบแบบ ‘เคลียร์ ๆ’ แก่สาธารณชน เช่น ประเด็นโรงหล่อต้องจ่ายเงินให้ ‘เซียนพระชื่อดัง’ จำนวน 10% ของราคางาน แต่ท้ายสุดทหารตามเก็บมาได้ และขอคืนให้แก่โรงหล่อ หรือเรื่องการยกเลิกก่อสร้างรั้วภายในอุทยานราชภักดิ์ วงเงินกว่า 9 ล้านบาท ทั้งที่รั้วดังกล่าว คนงานที่ก่อสร้างยืนยันว่า บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ เป็นผู้สร้างให้แบบบริจาค หรือแม้แต่การก่อสร้างอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เป็นต้น ? (อ่านประกอบ : เช็คจ่ายเมื่อไหร่-ใครสร้างรั้ว! ปมที่ยังไม่เคลียร์หลัง ศอตช.ยันราชภักดิ์โปร่งใส?, ก่อนปิดบำรุงรักษา!ทบ.จ้างเอกชนสร้างอาคาร-ห้องน้ำอุทยานราชภักดิ์15.9ล.-งบหลวงพุ่ง85ล.)
หรือแม้แต่กรณีการขุดลอกแหล่งน้ำขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อผศ. ได้ขายสัญญาให้เอกชนนำไปจ้างช่วงต่อเพื่อดำเนินการ ซึ่งขัดกับมติคณะกรรมการสิทธิพิเศษฯ กระทรวงการคลัง จนไปสู่การยกเลิกให้ อผศ. ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว แต่ปัจจุบันการสอบสวนเรื่องนี้กลับยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดว่า สรุปแล้วใครเป็นผู้เรียกรับเงิน และเอกชนรายใดได้ขายสัญญาจ้างช่วงบ้าง ? (อ่านประกอบ : เครื่องมือไม่ครบ-จ้างช่วงจริง! เหตุผล‘คลัง’เลิกสิทธิพิเศษ อผศ.ขุดคลอง)
รวมถึงกรณี อผศ. คัดเอกชนเพื่อเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ ที่มีการกล่าวหาว่า บริษัทที่ต้องการเข้าร่วมประมูลต้องจ่ายเงินเพื่อตรวจสอบคุณภาพ ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่ผ่านการคัดเลือก มีอย่างน้อย 2 แห่ง ที่ปรากฏชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับคนในรัฐบาล เช่น พล.อ.นิพนธ์ สีตบุตร เป็นกรรมการ (เครือญาติ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ.) และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ที่ปรากฏชื่อ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ (น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นกรรมการ รวมถึงนายทหารระดับสูงอีกหลายรายด้วย (อ่านประกอบ : ขมวดปัญหาโซลาร์ฟาร์ม อผศ. แกะรอยเอกชน‘บิ๊กทหาร’นั่ง กก.ขอร่วมทุน-จับตา กห.สอบ?)
จุดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด กรณี ‘นาฬิกา-แหวนเพชรหรู’ ของ พล.อ.ประวิตร ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 24 เรือน และ ‘บิ๊กป้อม’ อ้างว่า เป็นของ ‘เพื่อน’ ที่เสียชีวิตไปแล้ว ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เบื้องต้นต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 เดือน ถึงจะรู้ผล (อ่านประกอบ : ทายาทเพื่อน‘บิ๊กป้อม’แจง ป.ป.ช.ปมนาฬิกาหรูแล้ว ยันอีก2-3เดือนรู้ผล)
ไม่นับโครงการที่เกี่ยวข้องกับระดับรากหญ้าที่ถูกตรวจสอบพบปัญหาจำนวนมาก อาทิ โครงการอุดหนุนตำบลละ 5 ล้านบาท ของกระทรวงมหาดไทย ที่พบว่า บางแห่งไม่ดำเนินการจริง หรือเบิกจ่ายไม่ตรงวัตถุประสงค์ จนนำไปสู่การตรวจสอบของ ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. อยู่ขณะนี้ หรือโครงการประชารัฐ โดยเฉพาะที่ จ.นนทบุรี ที่พบความไม่ชอบมาพากลตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนออยู่ในขณะนี้ (อ่านประกอบ : ขมวดปมร้อน สารพัดปัญหาตลาดประชารัฐ(ร้าง)นนท์ บทสะท้อนรบ.บิ๊กตู่ แก้ทุจริตระดับรากหญ้า?)
นี่ยังไม่นับรวมเสียงวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและท่าทีของรัฐบาลต่อกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล ออกนอกประเทศไปได้อย่างลอยนวล ทำให้สังคมกังขาตั้งคำถามถึงกลไกข้อตกพิเศษบางอย่างระหว่าง ผู้มีอำนาจในรัฐบาล กับ ผู้มีอำนาจนอกประเทศด้วย
ขณะที่คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น หรือ CPI ที่วัดโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่ตกต่ำลงทุกปี นับตั้งแต่ปี 2557 คือ ปี 2557-2558 ได้ 38 คะแนนเต็ม 100 คะแนน ปี 2559 ได้ 35 คะแนน เต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้นนิดหน่อยในปี 2560 ได้ 38 คะแนน เต็ม 100 คะแนน (ข้อมูลจาก www.transparency.org)
ดังนั้นห้วงเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงปี (หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในช่วงเดือน ก.พ. 2562) สิ่งที่รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ต้องให้ความสำคัญคือ การเลิก ‘มองข้าม’ คนใกล้ตัวที่ถูกกล่าวหา แล้วเริ่มดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความชัดเจน ‘เคลียร์’ ทุกปมให้สาธารณชนมั่นใจ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็น ‘หอกข้างแคร่’ ทิ่มแทงตัวเองอยู่อย่างนี้