ขมวดปมร้อน สารพัดปัญหาตลาดประชารัฐ(ร้าง)นนท์ บทสะท้อนรบ.บิ๊กตู่ แก้ทุจริตระดับรากหญ้า?
"...จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของทีมงานเพจต้องแฉ ยังพบข้อสังเกตงานก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ การจัดทำแผงถ่ายรูปที่ระลึก รวมราคาพร้อมติดตั้ง 320,000 บาท โครงสร้างประกอบไปด้วย 1.โครงสร้างเหล็ก 3.50 x 7.20 กรุแผ่นบอร์ด ขนาด 8 มม. 2.แผงถ่ายรูป ตามแบบ 3.50 x 7.20 ทำด้วยโฟมเคลือบแข็ง และ 3.รถสามล้อพร้อมตกแต่ง และหุ่นหน้ากากทุเรียนลอยตัว ขี่สามล้อเคลือบแข็งขนาดเท่าคนจริง ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่อจะเป็นการใช้จ่ายเงินไม่คุ้มค่า เพราะราคาทำจริงน่าจะอยู่แค่หลักแสนกว่าบาทเท่านั้น และล่าสุด ตู้คีออท ขายของในตลาด ที่สั่งทำทั้งหมด 171 ตู้ เพื่อรองรับแม่ค้า ตู้ละ 12,000 บาท ซึ่งพบว่ามีการใช้เหล็กคนละแบบในการก่อสร้าง? ขณะที่จุดติดตั้งก็อยู่ในที่ร่มของตลาด แต่มีการทำหลังคา กันแดดเพิ่มเติมด้วย?.."
หากใครที่ติดตามข่าวสารโครงการก่อสร้างปรับปรุงตลาดประชารัฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ร่วมกับทีมงานเพจต้องแฉ https://www.facebook.com/mustshareofficial/ ตรวจสอบข้อเท็จจริงมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายเม็ดเงินจำนวน 28 ล้านบาท อันมีที่มาจากเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) นำไปจัดสรรต่อให้กับกองทุนหมู่บ้านแต่ละกองทุน ก่อนที่กองทุนจะนำเงินมาลงทุนร่วมกัน โดยโครงการปรับปรุงตลาดประชารัฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี มีกองทุนจำนวน 58 แห่ง ลงขันรวมลงทุนแห่งละ 5 แสนบาท
จะพบว่ามีข้อมูลสำคัญหลายประการที่นำไปสู่การตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนี้ โดยตรงอย่าง สทบ. รวมไปถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ทำไมถึงปล่อยการดำเนินงานโครงการนี้มีปัญหาการเกิดมากมายขนาดนี้ เงินที่ถูกจัดสรรให้กองทุนแต่ละแห่งไปแล้ว จะเอาไปทำอะไร จะไปซื้ออะไรด้วยวิธีการแบบไหนก็ได้ โดยไม่มีขั้นตอนการการติดตามควบคุมดูแลเลยหรือ?
ส่วนภาพการดำเนินงานว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างนั้น ไล่เลียงข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา และ ทีมงานเพจต้องแฉ ตรวจสอบพบในช่วงที่ผ่านมา จะพบข้อมูลรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
1. ที่มาและการดำเนินงานโครงการ จากการตรวจสอบพบว่า โครงการตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ เกิดขึ้นในยุคสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตรง การดำเนินงานโครงการเริ่มต้นจากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการโครงการเพิ่มความเข็มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และอนุมัติหลักการงบประมาณในการดำเนินโครงการในกรอบวงเงิน 35,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2559 สนับสนุนเงินทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ผ่านทางสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนหมู่บ้าน/ชุมชนละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้าน/ชุมชน และเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่หมู่บ้าน/ชุมชน เห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน ให้ดีขึ้น
ขณะที่โครงการตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ เกิดจากการรวมกลุ่มของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง อำเภอปากเกร็ด จำนวน 58 กองทุน งบประมาณจำนวน 28,700,000 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเป็นศูนย์กลางในการจัดจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ของกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชน ผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชน สินค้า SME สินค้าอุตสาหกรรม เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้กับสมาชิกกองทุน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และให้สมาชิกกองทุนในอำเภอปากเกร็ด มีสถานที่จำหน่ายสินค้า มีรายได้หมุนเวียนในชุมชนได้ (ต่อมามีการตรวจสอบพบว่า มีกองทุนหมู่บ้าน/ชุมชน อีก 2 แห่ง นอกเหนือจาก 58 กองทุน มาจ่ายเงินรวมลงขันทำโครงการด้วย อีกแห่งละ 5 แสนบาท ทำให้วงเงินที่ใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการนี้ ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ตัวเลข 29 ล้านบาท)
แต่ไม่ว่าวงเงินลงขันจะมีจำนวนเท่าไร แหล่งที่มาสำคัญของเงินลงขันก้อนนี้ มีที่มาจากเงินภาษีประชาชน ที่ถูกนำไปใช้ในการจัดทำโครงการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า ขณะที่ โครงการตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ ถูกระบุว่าเป็นโครงการที่มีกองทุนมาลงขันทำโครงการขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ
2. อย่างไรก็ดี ทีมงานเพจต้องแฉ ได้รับแจ้งข้อมูลสำคัญจากคนในตลาดว่า ปัจจุบันโครงการตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ กำลังประสบปัญหามาก เพราะหลังจากที่มีการใช้จ่ายเงินจำนวน 28 ล้านบาท ในการปรับปรุงก่อสร้างตลาดและเปิดให้บริการเป็นทางการไปแล้ว ปรากฎว่า มีลูกค้าเข้าไปใช้บริการจับจ่ายซื้อของน้อยมาก รวมถึงจำนวนพ่อแม่ค้าด้วย จนทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ว่า เม็ดเงินจำนวน 28 ล้านบาทกำลังจะสูญเปล่า ตลาดประชารัฐ กำลังมีสภาพเป็นตลาดประชาร้าง
3. ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า บริษัทเอกชนที่ปรากฎชื่อเข้ามารับงานก่อสร้างปรับปรุงตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ มีชื่อว่า บริษัท กฎหมายเมืองทอง จำกัด ปรากฎชื่อนาย สิทธิศาสตร์ รักษ์ม่วงศรี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและงานทะเบียน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า กรณีนี้จะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะแหล่งเงินทุนมาจาก สทบ. แต่คนสทบ. กลับมาได้รับงานเอง?
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ยังได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากคนในตลาดว่า งานปรับปรุงก่อสร้างตลาดประชารัฐ ที่ บริษัท กฎหมายเมืองทอง จำกัด ได้รับไป นอกจากงานว่าจ้างตามสัญญาจำนวน 14 ล้านกว่าบาท แล้ว ยังได้รับงานก่อสร้างเพิ่มเติมไปอีก 7.5 ล้านบาท รวมค่าทาสีอีก 1 ล้านบาท และทราบมาว่าภายหลังจากที่บริษัทได้รับงานไปแล้ว บริษัทมีการจ่ายเงินคืนให้กับคณะกรรมการบริหารโครงการ จำนวน 1 ล้านบาท และยังตัดชุดสูทให้กับคณะกรรมการอีกคนละ 1 ชุด ด้วย
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนบริษัท กฎหมายเมืองทอง จำกัด ยืนยันกับสำนักข่าวอิศราว่า เข้าเสนอราคาแข่งขันงานก่อสร้างปรับปรุงตลาดประชารัฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถูกตรงตามขั้นตอนทุกประการ มีเอกชนเข้าร่วมเสนอราคาด้วยจำนวน 5 ราย แต่บริษัทเสนอราคาต่ำสุด 14.5 ล้านบาท จึงได้รับงานว่าจ้างไป และดำเนินการก่อสร้างงานตามเงื่อนไข ปัจจุบันส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว การทำงานทุกขั้นตอนโปร่งใสตรวจสอบได้ และงานใน สทบ. ที่นาย สิทธิศาสตร์ รับผิดชอบ อยู่ในส่วนกฎหมาย ไม่เกี่ยวข้องกับงานในส่วนการอนุมัติงบประมาณแต่อย่างใด
ส่วนงานที่เพิ่มเติมขึ้นมาทุกรายการเป็นความต้องการของผู้ว่าจ้าง ที่ต้องการให้บริษัททำงานเพิ่ม เพราะงานบางส่วนไม่มีอยู่ในแบบตั้งแต่ต้น แต่ในขั้นตอนการดำเนินงานบริษัทได้มีการจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายแจ้งให้ผู้ว่าจ้างนำเข้าที่ประชุมพิจารณาก่อนทุกครั้ง ส่วนค่าทาสีอีก 1 ล้านบาท ก็นับรวมอยู่ในวงเงินจำนวน 7ล้านกว่าบาทด้วย เหตุที่มีราคาเแพง เพราะถูกกำหนดให้ใช้สีทีโอเอซึ่งมีราคาสูงเท่านั้น และกระบวนการทาสีก็มีหลายขั้นตอน
"ส่วนการที่บริษัทจ่ายเงินให้กับคณะกรรมการจำนวน 1 ล้านบาท รวมถึงการตัดชุดสูทให้กรรมการคนละ 1 ชุด หลังได้รับงาน นั้น เป็นความหวังดีของบริษัท ที่เห็นว่า คณะกรรมการแต่ละคนที่มาทำงานนี้ มีค่าจ่ายใช้จำนวนมาก เวลามาประชุมต้องมีค่ารถ จึงอยากให้การช่วยเหลือ กรรมการบางคนเขาเดือดร้อนจริงๆ ส่วนชุดสูท ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือเช่นกัน เนื่องจากในช่วงการจัดงานเปิดตลาดมีผู้ใหญ่ มีรัฐมนตรีมาร่วมเปิดเงิน แต่คณะกรรมการไม่มีชุดที่เหมาะใส่ ทางบริษัทจึงช่วยเหลือช่วยสนับสนุนให้ก็เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องการว่าจ้างงาน"
ด้าน นายเอกศิษฐ์ ศรวิเศษ ประธานโครงการตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ดของดีวิถีนนท์ ก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราเช่นกัน ว่า การดำเนินงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงตลาดประชารัฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นความตั้งใจของชุมชนในการจัดทำโครงการร่วมกัน การดำเนินงานทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการจัดทำเอกสารหลักฐานยืนยันข้อมูลไว้ชัดเจนถูกต้องครบถ้วน ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ตนมองว่า น่าจะเป็นปัญหาการเมืองภายในของคณะกรรมการกันเอง มีคนไม่หวังดี ออกมาเคลื่อนไหวให้ข้อมูลด้านลบโจมตี
4. แม้ว่าจะมีคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องในส่วนของฝ่ายบริหารงานโครงการตลาดประชารัฐอำเภอปากเกร็ดของดีวิถีนนท์ ออกมาในลักษณะดังกล่าว แต่ทีมงานเพจต้องแฉ ก็ยังคงติดตามตรวจสอบข้อมูลข้อมูลเชิงลึกมานำเสนออย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการรายละเอียดตัวเลขการใช้จ่ายเงินจำนวน 28 ล้านบาท ซึ่งปัจจจุบัน มีการยืนยันข้อมูลว่า ผ่านไป 1 ปี ตอนนี้มีเงินเหลืออยู่เพียงแค่ 8.2 หมื่นบาทเท่านั้น
จำแนกเป็น
1.ค่าออกแบบ 2 งวด รวมเป็น 480,000 บาท
2.ค่าประชุม 100,000 บาท
3.ค่าปรับปรุงตลาด 5 งวด รวมเป็น 14,500,000 บาท
4.ค่ารถรางคันละ 520,000 บาท 4 คันรวมเป็น 2,080,000 บาท
5.ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ 2,500,000 บาท
6.ค่างานเพิ่ม 3,934,370 บาท
7.ค่างานเพิ่ม ระบบไฟฟ้า 369,570 บาท
8.ค่างานเพิ่ม ซุ้มประตู รางน้ำ ป้ายโครงการ 446,000 บาท
9.ค่างานเพิ่ม ตามสัญญา 730,800 บาท
10.ค่างานเพิ่ม งานสถาปัตย์/ระบบไฟฟ้า 1,714,653 บาท
11.ค่าเครื่องล้างจาน 183,505 บาท
12.ค่าธรรมเนียมการไฟฟ้านครหลวง 227,650 บาท
13.ค่าจ้างเหมาพาดสายไฟ 255,000 บาท
14.ค่าถ้วย ชาม จาน ช้อน 358,533 บาท
15.สร้างที่จอดรถวัดกู้ 300,000 บาท
16.ค่าประชาสัมพันธ์ 90,347 บาท
ส่วนรายละเอียดค่าใช้จ่ายเงินทุกรายการ ถูกระบุจากคนในตลาดว่า ที่ผ่านมา ได้พยายามสอบถามข้อมูลจากฝ่ายบริหารโครงการ เพื่อขอดูละเอียดแล้ว แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเปิดเผยข้อมูลให้ดูเท่าที่ควร
และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลของทีมงานเพจต้องแฉ ยังพบข้อสังเกตงานก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ การจัดทำแผงถ่ายรูปที่ระลึก รวมราคาพร้อมติดตั้ง 320,000 บาท โครงสร้างประกอบไปด้วย 1.โครงสร้างเหล็ก 3.50 x 7.20 กรุแผ่นบอร์ด ขนาด 8 มม. 2.แผงถ่ายรูป ตามแบบ 3.50 x 7.20 ทำด้วยโฟมเคลือบแข็ง และ 3.รถสามล้อพร้อมตกแต่ง และหุ่นหน้ากากทุเรียนลอยตัว ขี่สามล้อเคลือบแข็งขนาดเท่าคนจริง ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าส่อจะเป็นการใช้จ่ายเงินไม่คุ้มค่า เพราะราคาทำจริงน่าจะอยู่แค่หลักแสนกว่าบาทเท่านั้น และล่าสุด ตู้คีออท ขายของในตลาด ที่สั่งทำทั้งหมด 171 ตู้ เพื่อรองรับแม่ค้า ตู้ละ 12,000 บาท ซึ่งพบว่ามีการใช้เหล็กคนละแบบในการก่อสร้าง? ขณะที่จุดติดตั้งก็อยู่ในที่ร่มของตลาด แต่มีการทำหลังคา กันแดดเพิ่มเติมด้วย?
5. สำหรับท่าทีของหน่วยงานตรวจสอบต่อโครงการนี้ ปัจจุบันเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภาค 3 อยู่ระหว่างส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก และมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำหลายรายแล้ว ขณะที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราล่าสุดว่า ได้เรียกให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวมาชี้แจงในวันที่ 21 พ.ค.นี้ ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดแล้ว
อย่างไรก็ดี นายสุวพันธุ์ ระบุว่า กรณีดังกล่าวต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็น คือ เงินที่หมู่บ้านเห็นชอบให้รวมกองทุนสร้างตลาด ถือว่าสามารถทำได้ เพราะผ่านการทำประชาคม ผ่านการสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ เมื่อเสียงเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าเสียงคัดค้านก็สามารถทำได้ ประเด็นสอง การที่นายสิทธิศาสตร์เป็นหุ้นส่วนของบริษัท ที่ได้รับงานไปดำเนินการจะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ก็ต้องสอบสวนกันก่อน หากพบว่ามีการกระทำความผิดจริงก็จะต้องดำเนินการ แต่ขอให้การสอบสวนทั้งหมดเสร็จสิ้นก่อน”
ทั้งหมดนี่คือ ข้อมูลภาพร่วมเกี่ยวกับปัญหาการดำเนินงานโครงการตลาดประชารัฐ อำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ รวมถึงท่าทีของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่สำนักข่าวอิศรา และทีมงานต้องแฉ สรุปรวบรวมมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบแบบชัดๆ ล่าสุด
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานโครงการลักษณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น โครงการของรัฐบาลเก่า ที่ผ่านมาก็ถูกตรวจสอบพบปัญหาลักษณะนี้มายาวนานต่อเนื่อง อาทิ โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โครงการชุมชนพอเพียงสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พบว่า การดำเนินงานโครงการจัดซื้อจัดจ้างของชาวบ้านไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เงินที่จัดสรรไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า มีลักษณะไปกระจุกอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า มิหน่ำซ้ำยังสร้างความแตกแยกทางความคิดให้กับคนในชุมชนด้วย
น่าคิดต่อว่า พลันที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก้าวเข้ามาบริหารประเทศ พร้อมประกาศลั่นว่าจะปฏิรูปประเทศไทย ไฉนการดำเนินงานโครงการนี้ รวมไปถึงโครงการอื่นๆ ก็ยังคงมีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำรอยรัฐบาลนักการเมืองได้อีก ขณะที่บทบาทการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ก็ยังไม่รวดเร็วเด็ดขาดด้วย
สถานการณ์ ณ วันนี้ จึงได้แต่คาดหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ รวมไปถึงผู้รับผิดชอบโครงการนี้ ในรัฐบาล จะออกมาแสดงท่าที เอาจริงเอาจริงกับเรื่องนี้ให้มากที่สุด เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ตั้งหลักหากทางแก้ไขปัญหาใหม่
เพราะโปรดอย่าลืมว่า เม็ดเงินในการดำเนินงานโครงการลักษณะนี้ ที่ตั้งไว้มีจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท ปัญหาโครงการตลาดประชารัฐ อำเภอปากเกร็ด ของดีวิถีนนท์ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเปรียบเสมือน ยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่นอกจากจะแสดงออกถึงปัญหาเชิงประจักษ์ในการดำเนินงานโครงการลักษณะนี้ให้รัฐบาล ได้รับรู้รับทราบว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างแล้ว
ยังจะสะท้อนให้เห็นถึงความจริงใจและจริงจังของรัฐบาลชุดนี้ ว่า ให้ความสำคัญกับนโยบายปราบปรามปัญหาการทุจริตระดับหญ้ารากมากน้อยแค่ไหน ได้เป็นอย่างดีด้วย!
อ่านประกอบ :
ตลาดประชารัฐนนท์งานเข้า! สตง.ลุยสอบใช้เงินหลวง28 ล.ไม่คุ้มค่า-เรียกผู้เกี่ยวข้องให้ปากคำ
จริงหรือ? ที่แท้บริษัทคน สทบ. ได้งานก่อสร้างปรับปรุงตลาดประชารัฐนนท์ 28 ล.
ย้ายออกไปแล้ว2ด.! บุกพิสูจน์ บริษัทคน สทบ.? คว้างานก่อสร้างปรับปรุงตลาดประชารัฐนนท์28ล.
ชัดแล้ว! บ.ก่อสร้างตลาดประชารัฐนนท์ เจ้าของคน สทบ.- ตัวแทนยันแข่งงานตามขั้นตอนโปร่งใส
ปูดเงินลงขัน29ล.เหลือ8หมื่น! คนในตลาดประชารัฐนนท์ ร้องสอบซื้อจ้าง มีเงินทอน1ล.ตัดสูทแจกกก.