เจาะมุมมอง "อกนิษฐ์" ตั้งหมู่บ้านผู้หลงผิด คนละเรื่องกับโจรจีนฯ
เหตุผลหนึ่งที่กองทัพภาคที่ 4 นำมาอธิบายถึงความชอบธรรมในการเดินหน้าจัดตั้ง "หมู่บ้าน" เพื่อรองรับอดีตผู้หลงผิดที่เข้าร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน ในพื้นที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส ก็คือโครงการตั้งหมู่บ้านให้กับ "จคม." หรือ อดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งก็ใช้พื้นที่แถบนี้ตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินทำกินให้เช่นกัน
ปัจจุบันหมู่บ้าน จคม.ก็อยู่ร่วมกับหมู่บ้านคนไทยและคนท้องถิ่นเดิมได้อย่างผสมกลมกลืน...
แต่จากการ "จับเข่าคุย" กับ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4 ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กลับได้ข้อมูลแทบจะคนละเรื่องเดียวกัน
สมัยที่ยังเป็นทหาร พล.อ.อกนิษฐ์ หรือ "บิ๊กเจี๊ยบ" มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับกลุ่ม จคม. และผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) จนทั้งสองกลุ่มยอมออกมามอบตัว วางปืน และยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ
พล.อ.อกนิษฐ์ อธิบายว่า การแก้ปัญหา จคม. กับ ผกค. แตกต่างจากโครงการพาคนกลับบ้านในปัจจุบัน โดยในส่วนของ จคม.ที่รบกับมาเลเซีย และบางส่วนเคลื่อนไหวอยู่ในฝั่งไทยนั้น หลังจากการเจรจาลับกับแกนนำ จคม. ก็มีการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2532 โดยมีผู้เข้ารายงานตัววางอาวุธ 1,111 คน ในจำนวนนี้บางส่วนขอกลับมาเลเซีย ซึ่งทางการมาเลย์ก็ช่วยเหลือค่าครองชีพรายเดือน เป็นเวลา 2 ปี และต้องเข้ารับการอบรมเปลี่ยนทัศนคติ
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งขออยู่ในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลไทยก็ตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ทำกินให้ เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย แต่ปัจจุบันได้สัญชาติไทยหมดแล้ว
ส่วน ผกค. ก็มีการเจรจาลับเช่นกัน ก่อนออกมาแสดงตัวล็อตสุดท้าย 251 คนที่หน้าศาลากลางจังหวัดพัทลุง เมื่อเดือน พ.ย. 2534 ทั้งหมดประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ส่งมอบอาวุธให้ทางราชการ และเข้ากระบวนการอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ จากนั้นก็รับเงินคนละ 50,000 บาท กลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับครอบครัวที่ภูมิลำเนาเดิม
"จะเห็นได้ว่าในส่วนของ ผกค. ไม่มีการสร้างหมู่บ้านให้อยู่รวมกัน หรือจัดสรรที่ดินทำกินให้ เพราะถ้ารัฐทำแบบนั้นจะยิ่งสร้างเงื่อนไข ตอบสังคมไม่ได้ เนื่องจากคนเหล่านี้เคยต่อสู้เจ้าพนักงาน ซุ่มยิง เผาโรงพัก และทุกคนก็เป็นคนไทย มีบ้านของตัวเองอยู่แล้ว" พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุ
ส่วน "ผู้หลงผิด" ที่เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน หรือที่เรียกว่า "กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง" หรือ ผกร.นั้น อดีตผู้อำนวยการกองข่าว กองทัพภาคที่ 4 มองว่า กลุ่มนี้ไม่ได้มีการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ไม่มีการส่งมอบอาวุธให้กับทางราชการ ถือว่าข้ามขั้นตอนสำคัญไป ฉะนั้นหากจะไปสร้างหมู่บ้านให้อยู่รวมกัน ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนย่อมหวาดระแวง ที่สำคัญคนเหล่านี้เป็นคนไทย มีครอบครัว มีญาติพี่น้องอยู่แล้ว ก็ควรช่วยเหลือให้กลับไปอยู่บ้านเดิมและเริ่มต้นชีวิตใหม่
"จุดเริ่มต้นมันไม่เหมือนกัน ระหว่าง จคม. กับ ผกร. หรือแม้แต่ ผกค. ที่สำคัญโครงการพาคนกลับบ้านทำข้ามขั้นตอนด้วย คือไม่มีประกาศยุติความรุนแรง ไม่มีการส่งมอบอาวุธ ยิ่งไปกว่านั้น การจะชวนใครมาร่วมโครงการ ต้องคุยกับมาเลเซีย เพราะคนเหล่านี้พำนักในมาเลเซียทั้งนั้น แต่นี่ไม่ได้คุย ไปแอบทำ จะเห็นได้ว่ากระบวนการขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 มันไม่มี (หมายถึงการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ และส่งมอบอาวุธ) แบบนี้ก็ทำให้ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนหวาดระแวง"
พล.อ.อกนิษฐ์ ย้ำด้วยว่า การที่กองทัพพยายามอ้างว่าเป็นคนไทยด้วยกัน ทำไมถึงตั้งหมู่บ้าน จัดสรรที่ทำกินให้ไม่ได้นั้น เรื่องนี้ไม่สามารถอ้างได้เลย เพราะเป็นคนละเรื่องกัน
"เมื่อเป็นคนไทยก็ต้องกลับไปอยู่กับครอบครัว ต้องมีกระบวนการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และฝึกอาชีพ เหมือนกับ ผกค. แต่ถามว่าทุกวันนี้โครงการพาคนกลับบ้านทำเรื่องเหล่านี้บ้างหรือยัง" พล.อ.อกนิษฐ์ ตั้งคำถาม
เมื่อให้ย้อนเล่าถึงกระบวนการสันติภาพ จคม. ปรากฏว่า พล.อ.อกนิษฐ์ เล่าให้ฟังอย่างละเอียด
"ผมเป็นคนที่เจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์มลายาเอง ซึ่งภายหลังได้มีการประกาศยกเลิกการต่อสู้ด้วยอาวุธ และโจรจีนจำนวนทั้งสิ้น 1,111 คนได้เข้ารายงานตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย สำหรับโมเดลที่ใช้ก็คือ ผมใช้เวลากว่า 7 ปีเจรจากันในทางลับกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา จนเขาตกลงปลงใจที่จะประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธและรายงานตัวเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย"
"คนที่เข้าร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์มลายา มีทั้งคนจีน มุสลิม หรือแม้แต่คนไทย พอมีการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ทั้งหมดก็เข้ามอบตัว ซึ่งทางการไทยได้จัดให้ผู้ที่เข้ามอบตัวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้ที่ต้องการเดินทางกลับประเทศมาเลเซีย และ 2.ผู้ที่ต้องการขออยู่ในประเทศไทย โดยกลุ่มที่กลับประเทศมาเลเซีย เราก็จะช่วยค่าครองชีพรายเดือน 2 ปี แต่ต้องเข้าอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติตามที่กำหนดไว้ให้ ส่วนผู้ที่ต้องการพำนักอยู่ในเมืองไทย เราจัดตั้งหมู่บ้านตามแนวชายแดน และจัดสรรที่ทำกินให้คนละ 15 ไร่ รวมทั้งต้องเข้าหลักสูตรอบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติเช่นเดียวกัน"
นอกจาก จคม.แล้ว พล.อ.อกนิษฐ์ ยังมีบทบาทสำคัญในการเจรจากับ ผกค.ด้วย
"ผมทำหน้าที่เจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในภาคใต้ ซึ่งก็ได้มีการเปิดเจรจาในทางลับนานกว่า 3 ปี จนนำมาสู่การประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จำนวน 251 คน ก่อนเข้ารายงานตัว อบรมปรับเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งเราก็ได้มอบเงินช่วยเหลือ รายละ 5 หมื่นบาทในการกลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้มีที่ทำกิน มีครอบครัวอยู่แล้ว จึงไม่ได้มีการจัดตั้งหมู่บ้านให้เขา เพราะหากจัดตั้งหมู่บ้านให้ก็เกรงว่าจะเกิดปัญหากับสังคมที่อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องตั้งหมู่บ้านให้คนกลุ่มนี้ที่เป็นคนไทยอยู่แล้ว"
จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างโชกโชน ทำให้ พล.อ.อกนิษฐ์ ฟันธงว่า โครงการตั้งหมู่บ้านรองรับ "ผู้หลงผิด" ในโครงการพาคนกลับบ้านของกองทัพภาคที่ 4 ในปัจจุบัน เป็น "คนละเรื่องเดียวกัน" กับโมเดล จคม. และ ผกค.
"มันมีความแตกต่างกันตรงที่โมเดลการแก้ไขปัญหา หากเปรียบเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภาคใต้นั้น จะเห็นว่าขั้นตอนการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธของขบวนการผู้ก่อเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น หรือแม้แต่พูโล จนถึงตอนนี้ยังไม่มีให้เห็นเลย ฉะนั้นเมื่อไม่มีการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ก็จะไม่มีการเข้ามอบตัว ซึ่ง 2 ขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างมาก"
"ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจาก 2 ขั้นตอนแรกที่นับว่าสำคัญที่สุด นั่นจึงเป็นที่มาว่า การจัด 'พื้นที่ปลอดภัย' หรือ 'เซฟตี้โซน' จนถึงตอนนี้ก็ยังทำไม่ได้เลย ซึ่งนี่ยังไม่ถึงขั้นตอนการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธและการขอเข้ามอบตัวด้วยซ้ำ" บิ๊กเจี๊ยบ ระบุ และว่า
"การพูดคุยแทร็คเดียวระหว่างคณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทย กับกลุ่มมารา ปาตานี ผมมองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลควรจะต้องมีการเจรจากับทางการมาเลเซียคู่ขนานไปด้วย เนื่องจากทางมาเลเซียมีข้อมูลข่าวสารของกลุ่มคนเหล่านี้มากที่สุด และยังมีหน่วยงานภายในที่ควบคุมดูแลคนกลุ่มนี้อยู่ด้วย"
พล.อ.อกนิษฐ์ ย้ำว่า หัวใจของสันติภาพ คือการใช้สันติวิธี ซึ่งก็คือการเจรจาเพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ
"ไม่มีวิธีการใดที่มนุษย์จะใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ดีเท่าการเจรจาพูดคุยกันบนความจริงใจและเสมอภาค รวมถึงเคารพเหตุผลซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือแนวทางที่ผมเคยใช้กับการแก้ไขปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์มลายาและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งการพูดคุยทั้งหมดตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีปรากฏเป็นข่าวสักครั้ง จนกระทั่งการเจรจาสำเร็จผลขึ้นมา"
ทัศนะส่งท้ายของอดีตนายทหารผู้นี้ เหมือนกำลังจะบอกว่า กระบวนการสันติภาพที่กำลังทำอยู่ ทั้งการพูดคุยเจรจา และโครงการพาคนกลับบ้าน ยังไม่ถูกทิศถูกทาง ไม่ครบกระบวนการ จึงยังไม่ประสบความสำเร็จ!
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ตารางเปรียบเทียบกระบวนการแก้ไขปัญหาผู้เห็นต่างจากรัฐ จากยุค จคม. ผกค. ถึงยุค ผกร.
2 พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ภาพจากรายการล่าความจริง เนชั่นทีวี 22)
อ่านประกอบ :
ชาวสุคิรินฮือต้าน "ผู้เห็นต่าง" ตั้งหมู่บ้านในพื้นที่
แม่ทัพ4 ลั่นไร้เสียงค้านตั้งหมู่บ้านรับผู้หลงผิดที่สุคิริน ยันไม่ใช่อดีตโจร
"ลุงวิโรจน์"คนสุคิรินเต็มขั้น ขอคัดค้าน"คนกลับบ้าน"ร่วมชายคา
เตือน "สุคิริน" ส่อซ้ำรอย "หมู่บ้านป่าแหว่ง"
บิ๊กทัพ 4 เตรียมลงพื้นที่เคลียร์ชาวสุคิริน กระแสต้านลามหลายหมู่บ้าน
ชาวสุคิรินนัดแสดงพลัง พร้อมฟังเหตุผลทหาร
ทหารแจงปมสุคิริน แม่ทัพเมินลงพื้นที่ ย้อนถามจะค้านทำไม ยังไม่ได้เริ่มสร้าง
เปิดตัวเลข "คนกลับบ้าน" ผู้เห็นต่างมีหมาย 288 - กลุ่มหนีนอกประเทศ 228