‘ภก.ประพนธ์’ หนุนเพิ่มงบฯ -บุคลากร ตรวจสอบอาหารเสริม หลังพบลักลอบนำเข้า ‘ไซบูทรามีน’
‘ภก.ประพนธ์’ อดีตรองเลขาธิการ อย. หนุนรบ.เพิ่มงบฯ-บุคลากร ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม แก้ปัญหามีสารอันตรายเจือปน ยอมรับยังพบลักลอบนำเข้า ขอให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ ระมัดระวัง ขณะที่เครื่องมือชุดทดสอบพิสูจน์สารด้วยตนเอง กำลังพัฒนา
หลังจากแฟนเพจเฟซบุ๊กเภสัชกรชายแดนโพสต์ข้อความตั้งข้อสังเกตถึงการแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารปลอมไม่ตรงจุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ต้นตอที่แท้จริงของปัญหาน่าจะอยู่ที่การตรวจสอบข้อมูลผู้ลักลอบนำเข้าสารอันตรายที่นำมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากกว่า โดยเฉพาะสารไซบูทรามีน ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดความอ้วน (อ่านประกอบ:เพจเภสัชกรชายแดน สอบเส้นทางนำเข้าไซบูทรามีน ผสมในอาหารเสริมลดอ้วน-ผอมทันใจ)
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org โดยยอมรับว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วนยังลักลอบนำเข้าและใช้สารไซบูทรามีนเป็นส่วนประกอบ แม้จะมีการระงับการนำเข้าในประเทศไทยแล้ว เพราะพบมีความเสี่ยงสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ เป็นต้น ถึงขั้นมีโอกาสเสียชีวิต ดังนั้นผู้บริโภคต้องตระหนักรู้และระมัดระวัง ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาแสดงสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยลดน้ำหนักภายใน 7 วัน หรือเมื่อบริโภคแล้ว เกิดอาการใจสั่น หงุดหงิด ปากแห้ง คอแห้ง ให้สงสัยไว้ก่อนว่า มีสารชนิดนี้เป็นส่วนประกอบ
ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคยังไม่สามารถตรวจสอบหาสารด้วยตนเองได้ เนื่องจากเครื่องมือชุดทดสอบกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา แม้จะมีหลายคนออกมาให้ข้อมูลว่า ใช้วิธีตรวจสอบแบบ High Performance Liquid Chromatography (HPLC) จะได้ผลภายใน 1 ชั่วโมง ยังไม่รวดเร็วขนาดนั้น ฉะนั้นจึงยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
อดีตรองเลขาธิการ อย. ยังระบุนอกจากผู้บริโภคต้องตระหนักรู้แล้ว มองว่า รัฐบาลต้องเพิ่มงบประมาณและบุคลากรให้แก่ อย. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจติดตามสินค้าหลังอนุญาตให้วางจำหน่ายแล้ว (Post market) ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมาก แต่ อย.กลับมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม หากจะให้ผู้ประกอบการส่งทุกตัวอย่างมาตรวจวิเคราะห์ก็จะสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป อีกอย่างหนึ่ง การตรวจสอบติดตามสินค้าในครั้งแรกและไม่พบสารอันตรายอยู่ในผลิตภัณฑ์แล้ว ครั้งต่อไปรับประกันไม่ได้ว่าจะไม่ใส่อีก ฉะนั้นจะป้องกันต้องอาศัยหลายปัจจัยต้องร่วมกัน
เมื่อถามถึงนโยบายของรัฐบาลที่เอื้ออำนวยให้มีการขึ้นทะเบียนได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นเป็นส่วนหนึ่งทำให้ปัญหาเกิดขึ้น ใช่หรือไม่ ภก.ประพนธ์ กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ และว่า ความจริงแล้ว ประเด็นอยู่ที่ผู้ประกอบการต้องมีจรรยาบรรณมากกว่า เพราะการปลดล๊อกคือการอนุญาตให้ผลิตในสิ่งที่ถูกต้อง กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์แสดงส่วนประกอบ ถ้าเกิดถูกต้อง เราเร่งรัดพิจารณาให้เร็ว ซึ่งหากออกให้เร็วแล้ว ผู้ประกอบการไม่มีจรรยาบรรณ ก็จะลักลอบใส่ภายหลังได้อีก
“สิ่งที่สามารถป้องกันได้ คือ การสร้างเครือข่ายผู้บริโภค ขณะเดียวกัน สื่อต้องช่วยเหลือกัน รณรงค์ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เช่น คนอยากผอม ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพื่อจะเหลือของไปสะสมให้เกิดไขมันน้อย งดพวกอาหารมัน อาหารแป้ง เพิ่มสัดส่วนอาหารผักผลไม้เยอะขึ้น ออกกำลังกาย และทานน้ำเยอะ ๆ จะช่วยให้น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้น” ภก.ประพนธ์ กล่าว .
ภาพประกอบ:http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/683408