อดีตนายกฯ อานันท์ จี้รัฐเปลี่ยนวิธีคิด เลิกเป็นเจ้าของเรื่องการศึกษา
ประธานภาคีเพื่อการศึกษาไทย จี้รัฐเปลี่ยนวิธีคิด เลิกเป็นเจ้าของเรื่องการศึกษา แนะปรับบทบาทควบคุม เป็นอำนวยความสะดวก สนับสนุน เปิดกว้างทุกภาคส่วนร่วมรับผิดชอบ แนะพ่อแม่ผู้ปกครอง เอาใจใส่การศึกษาของลูกหลาน ไม่โยนภาระความผิดชอบให้ครู โรงเรียนแต่ฝ่ายเดียว
วันที่ 6 พฤษภาคม ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) จัดเวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย Thailand Education Partnership Forum 2018 ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส)
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) และอดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาตอนหนึ่งถึงเรื่องการศึกษาว่า การศึกษาต้องไม่มีใครเป็นเจ้าของ หากตราบใดเรายังคิดว่า การศึกษาเป็นเรื่องของรัฐบาล ที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่า ผิด
"ผมไม่แน่ใจกรอบความคิด (mindset) เมืองไทยพร้อมหรือยัง ที่จะบอกว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล การศึกษาเป็นเรื่องของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่วนรวม"
นายอานันท์ กล่าวถึงรัฐบาล กระทรวงศึกษา กระทรวงมหาดไทย หรือกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเจ้าของโรงเรียนต้องเปลี่ยนวิธีคิด รวมถึงผู้ที่อยู่ในระบบราชการ ไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีสิทธิควบคุม แต่มีหน้าที่อำนวยความสะดวก เป็นผู้สนับสนุน เปิดกว้างทุกภาคส่วนร่วมรับผิดชอบการศึกษา
"ประเทศไทยเสียเวลามากกว่า 100 ปีถึงเวลาทุกคนร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย สร้างความหวัง สร้างอนาคให้กับประเทศ เราทิ้งรัฐบาลไปไม่ได้ ทิ้งหน่วยราชการไปไม่ได้ ต้องทำงานร่วมกันแต่ต่างคนต่างต้องรู้บทบาทของตัวเอง มิเช่นนั้นจะเป็นอุปสรรค"ประธานภาคีเพื่อการศึกษาไทย กล่าว และว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นความร่วมมือกัน ใครมีหน้าที่อะไรทำตามนั้น ไม่ใช่มีหน้าที่เป็นเจ้าของ หรือควบคุม ขณะที่ผู้ปกครองก็มีหน้าที่สำคัญ หลังไม่ได้ทำหน้าที่นี้เป็นเวลาช้านาน นั่นคือเอาใจใส่เรื่องการศึกษาลูกหลานของตนเอง
สิ่งที่ยากที่สุดของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศนี้ นายอานันท์ กล่าวต่อว่า แม้จะมีแผนดีอย่างไร หากวิธีคิดไม่เปลี่ยนก็ไปไม่รอด การจัดการศึกษาวันนี้ต้องยึดความต้องการของผู้เรียน ยึดเด็กเป็นตัวตั้ง การจัดการศึกษาต้องออกแบบให้เหมาะและศัพยภาพของเด็กแต่ละคน พ่อแม่และสังคมต้องเลิกโยนความรับผิดชอบให้ครูฝ่ายเดียว การศึกษาที่ประสบความสำเร็จทุกคนจึงต้องมีบทบาทความรับผิดชอบร่วมกัน
"ความสำเร็จของการศึกษาในโลกยุคใหม่ไม่ใช่การแข่งขัน ดูผลสัมฤทธิ์ หรือการสอบ ดูใบปริญญา แต่มุ่งที่การพัฒนาทักษะ เพราะการจ้างงานยุคใหม่ดูที่ทำอะไรเป็น ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องตระหนักบทบาทของตนเอง ผู้เรียนต้องกระตือรือร้นเผชิญโลกข้างหน้า ค้นหาตัวเองให้พบ พัฒนาทักษะของตนให้พร้อม พ่อแม่ต้องเป็นความคิด จากผู้กำหนดชะตาชีวิตลูก เป็นผู้สร้างโอกาส โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากโลกสี่เหลี่ยม เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ฝึกประสบการณ์ให้เด็ก เป็นสนามซ้อมเพื่อเผชิญโลกความจริง ครูต้องเปลี่ยนจากผู้สอนวิชาความรู้ เป็นผู้ค้นหาส่งเสริมศักยภาพเด็ก เปลี่ยนจากเรียนตามตำรา ไปเป็นกิจกรรมพัฒนาศักยภาพตามเป้าหมายของเด็ก"
นายอานันท์ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องของจิตสำนึก ไม่มีวันจบ คำถามที่ต้องถาม คือ บรรยากาศในเมืองไทยเอื้ออำนวยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หมอประเวศ ชี้ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ใช่การท่องจำ ที่ลดทอน - จำกัดศักยภาพของมนุษย์