หมอประเวศ ชี้ระบบการศึกษาที่ดี ไม่ใช่การท่องจำ ที่ลดทอน - จำกัดศักยภาพของมนุษย์
TEP ชวนภาคีทุกองคาพยพ สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ “Transformation Development” ปฏิรูปการศึกษาไทย นพ.ประเวศ วะสี ชี้ระบบการศึกษาที่ดี ควรส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกคน ให้บรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์อย่างหลากหลาย ไม่ใช่เป็นการท่องวิชาที่ลดทอนและจำกัดศักยภาพ
วันที่ 5 พ.ค. ที่ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดเวทีภาคีเพื่อการศึกษาไทย Thailand Education Partnership Forum 2018 เพื่อสร้างเครือข่ายและพื้นที่การทำงานร่วม (Platform) เพื่อให้องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลที่ทำงานหรือสนใจงานด้านการศึกษาได้สานพลังและพัฒนาการศึกษาไทยอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบและเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ทางสังคม (Social Paradigm Movement) เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง รวมถึงการตระหนักรู้ถึงพลังและความสามารถในการร่วมเปลี่ยนแปลงการศึกษา จัดโดย ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 600 คน
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวตอนหนึ่งในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระบวนทัศน์ใหม่ในการปฏิรูปการศึกษา” ว่า มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีศักยภาพจำกัด เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นอะไรก็เป็นอย่างนั้นตลอดชีวิต แต่มนุษย์เมื่อเกิดซึ่งยังไม่รู้อะไรเลยและทำอะไรไม่เป็นเลย แต่สามารถเรียนรู้ให้บรรลุในเรื่องต่างๆ ได้ เช่น พูดเป็น ทำเป็น จัดการเป็น เข้าใจเรื่องที่ซับซ้อนแก้ปัญหาได้ ขจัดทุกข์หรือทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังที่คนธรรมดาสามารถเรียนรู้จนกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ หรือองคุลีมานจากโจรกลายเป็นพระอรหันต์ก็ได้ นั่นคือมนุษย์อาศัยการเรียนรู้พัฒนาให้เป็นคนที่เจริญได้ ดังนั้น ระบบการศึกษาที่ดี ควรส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกคน ให้สามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์อย่างหลากหลาย ไม่ใช่เป็นเรื่องการท่องวิชาที่ลดทอนและจำกัดศักยภาพของความเป็นมนุษย์ลง
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงกระบวนทัศน์ใหม่ในการขับเคลื่อนเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องที่สลับซับซ้อนและยาก เนื่องจากกระบวนทัศน์เก่าไม่มีพลังในการขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ โดยวิธีการเก่า เช่น การใช้อำนาจ กฎหมาย เงิน การวิพากษ์วิจารณ์ การใช้ความรู้สำเร็จรูปโดยไม่เรียนรู้ ซึ่งวิธีการเก่าๆ เหล่านี้ ไม่มีพลังพอที่จะขับเคลื่อนเรื่องยากไปสู่ความสำเร็จได้ ฉะนั้น กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action) ในสถานการณ์จริงของบุคคล องค์กร สถาบัน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจะทำให้เกิดปัญญาร่วม นวัตกรรม อัจฉริยภาพกลุ่ม (Group genius) ที่ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จได้
“การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือปฏิรูปการศึกษาโดยภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) ทั้งในส่วนกลาง ในพื้นที่และตามประเด็น ใช้การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นเครื่องมือ เมื่อดำเนินไปตามลำดับก็จะมีบุคคล องค์กร สถาบัน เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทุกด้าน เนื่องจากกระบวนการนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) อย่างน้อย 8 ประการ ดังนี้
1) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนของทุกคนที่เกี่ยวข้อง 2) เคารพความรู้ในตัวคน ไม่ใช่เคารพแต่ปริญญาบัตร 3) มีความจริงใจและเอื้ออาทรต่อกัน 4) เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) 5) เกิดพลังทางสังคมที่เกิดจากสามัคคีธรรม 6) เกิดปัญญาร่วม นวัตกรรม อัจฉริยภาพกลุ่ม 7) ทั้งหมดทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ และ 8) ทั้งหมดทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้เกิด Transformation ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งทางโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึก และเกิดพลังมหาศาลทางสังคม ทางปัญญา ทางการจัดการ ที่ทำให้ทำเรื่องยากๆ ได้สำเร็จ และก่อให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน Transformation Development จึงเป็นการพัฒนาที่ลึกซึ้งมากกว่าการปฏิรูปหรือการปฏิวัติ
นายรชต จันทร์ดี นักเรียนชั้น ม.6 สถานศึกษาแห่งหนึ่ง ที่สังคมออนไลน์กำลังให้ความสนใจ ในประเด็นสะท้อนปัญหาด้านการศึกษา กล่าวถึงการศึกษาไม่ใช่แค่สอนให้เรารู้เรื่องวิชาการ สอนให้เราเอาวิชาไปใช้ในอาชีพ แต่การศึกษาคือการสอนให้คน ๆ หนึ่งเป็นคนอย่างเต็มรูปแบบ แต่ต้องบอกความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ความเป็นระเบียบ ความมีวินัย มารยาท ทั้งหมดคือการศึกษา แต่ในปัจจุบันการศึกษาไม่ได้เน้นสิ่งเหล่านี้เลย เพราะการศึกษาขณะนี้เน้นให้เด็กตอบสนองค่านิยม ซึ่งทำไปเพื่ออะไร เมื่อเด็กไม่ได้เห็นเพื่อนเป็นเพื่อน แต่เห็นเป็นศัตรูพร้อมจะเหยียบหัวกันเพื่อเป็นที่หนึ่ง ตอบสนองความต้องการของพ่อแม่
"เด็กบางคนเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง โดยไม่สนใจคณะและเอกลักษณ์ของตนเอง การพูดในวันนี้ ผมคนเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เชื่อว่าทุกคนในงานวันนี้จะสามารถเปลี่ยนการศึกษาได้ เพื่อลูกหลานและประเทศไทย"