นายกทันตแพทยสภาลั่นอ่านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ จบ หายนะกำลังมา!
11 สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ร่วมถกเสนอประเด็นขอแก้ไขร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พบหลายมาตรามีรูรั่ว ร่างโดยไม่เข้าใจ องค์กรวิชาชีพ อคติ หวั่นรัฐลงทุนสูงผลิตแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ จบมาสอบใบอนุญาตไม่ผ่าน ถือเป็นการสูญเสีบงบฯ มหาศาล
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2561 สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด จัดงานเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ผลกระทบต่อวิชาชีพและประชาชน” ขึ้น ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทรารา แกนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ
ดร. กมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การอุดมศึกษา พ.ศ. ...ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.)นั้น สมาพันธ์วิชาชีพได้มีการพิจารณาร่วมกันแล้วหลายรอบ และจะมีการนำเสนอข้อคิดเห็นต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงต่อไป
ด้านว่าที่รต.ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ในฐานะประธานสมาพันธ์วิชาชีพ กล่าวว่า 11 สภาวิชาชีพ ซึ่งมีสมาชิกนับแสนรายทั่วประเทศ บุคลากรเมื่อจบการศึกษาแล้วมีจะมีสภาวิชาชีพคอยดูแลช่วยเหลือให้เป็นที่ยอมรับต่อสังคม จึงเห็นว่า ร่างนี้มีผลกระทบต่อวงการการศึกษา ประชาชน และสภาวิชาชีพอย่างหลัีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ นพ.เกรียง อัศวรุ่งนิรันดร์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภากล่าวว่า การออกร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ของตัวเองเพื่อยกเลิกกฎหมายฉบับอื่น เห็นว่าไม่ชอบกฎหมาย ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรดูเฉพาะการศึกษา ไม่ควรร่างขึ้นมาแล้วไปบังคับองค์กรภายนอก
"ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ มีประมาณ 70-80 มาตรา มีปัญหา 4 มาตรา หนึ่งในนั้นมีการห้ามมิให้ สภาวิชาชีพ มีอำนาจในการรับรอง หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา หรือสร้างภาระอื่นใดให้กับสถาบันอุดมศึกษา ถือเป็นการ เขียนกฎหมายก้าวล่วงพ.ร.บ.ของสภาวิชาชีพต่างๆ"
ส่วนรศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า การกำหนดนิยามองค์กรวิชาชีพ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่น่าเพียงพอ เพราะสภาวิชาชีพมีหน้าที่คุ้มครองประชาชนได้รับบริการมีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย การผลิตบุคลากรออกมามีคุณภาพหรือไม่ ฉะนั้น จึงถือเป็นภารกิจร่วมดูแลการจัดการศึกษา หลักสูตร การฝึกปฏิบัติ เพื่อเตรียมการให้ผู้สำเร็จจากวิชาชีพนั้นๆ มีคุณภาพ
"การเขียนกำหนดในร่างกฎหมายไม่ให้สภาวิชาชีพไปยุ่ง ดูแค่ควบคุมความประพฤติ จรรยาบรรณ เป็นความคับแคบ ซึ่งต้องมีการแก้ไข นิยามอำนาจหน้าที่ของ "องค์กรวิชาชีพ"ในกฎหมายฉบับนี้"
นายกสภาการพยาบาล กล่าวถึงวิชาชีพเกี่ยวกับสุขภาพนั้น ที่จบมาแล้วต้องสอบวัดความรู้ก่อนให้บริการประชาชน เพราะรัฐบาลอุดหนุนงบการศึกษา เพื่อผลิตแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ ด้วยงบประมาณที่สูง หากผลิตบุคลากรแล้วไม่ดูแลตั้งแต่หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน หากจบออกมาแล้วไปสอบวัดความรู้ไม่ผ่าน จบการศึกษามา 100% สอบวัดความรู้ผ่านแค่ 20% คิดว่าสังคมนี้มีปัญหาแล้ว เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า"
นายชัยยุทธ อังศุวิทยา ผู้ช่วยเลขาธิการวิชาชีพบัญชี กล่าวว่า พ.ร.บ.วิชาชีพแต่ละสาขาออกมาไม่เหมือนกัน ต่างกรรมต่างวาระ อำนาจไม่เหมือนกัน เช่น ของวิชาชีพบัญชีจะการรับรองหลักสูตร รวมถึงคุณภาพคนต้องเป็นไปตามสากล เน้นผู้สอบบัญชี
"การยกอำนาจให้กระทรวงอุดมศึกษา เพียงหน่วยงานเดียวรู้เรื่องทุกวิชาชีพหมด จึงไม่เห็นด้วย และน่าสงสัย กฎหมายเขียนซ้อนไปซ้อนมา ร่างขึ้นมาเพื่ออะไรกันแน่"นายชัยยุทธ กล่าว และว่า เราไม่ได้คัดค้านเรื่องอำนาจ แต่เป็นเรื่องหน้าที่มากกว่า
ผศ.(พิเศษ)ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ มาตราที่เป็นปัญหา คือมาตรา 64,65,66 เมื่ออ่านร่างกฎหมายนี้จบพบว่า หายนะกำลังมา มีการร่างขึ้นมาด้วยอคติ และความไม่รู้ โดยเฉพาะในนิยาม องค์กรวิชาชีพ
"สภาวิชาชีพเราไม่ได้ดูแค่เรื่องจรรยาบรรณ การให้มาวัดระดับความรู้ตอนสุดท้ายเมื่อจบการศึกษาแล้ว ถือว่า ไม่ถูกต้อง ทุกสภาวิชาชีพมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชน และคนที่เข้ามาเรียนในแต่ละวิชาชีพ หากเราไม่ดูหรือคุ้มครองนักศึกษาที่เรียนมา ไม่ผ่านการทดสอบ ถือเป็นการสูญเสียมหาศาล หลักสูตรทันตแพทย์แพงสุดในประเทศไทย บางหลักสูตรเกือบ 10 ล้านบาท จบออกมาแล้วสอบใบอนุญาตไม่ผ่านอย่างนั้นหรือ ฉะนั้นการให้ใครมาดูต่อ ต่อไปนี้ใครจะสอบได้ไม่ได้เรื่องของคุณ จึงไม่เป็นธรรมกับผู้เรียน"
รศ.สมชาย วิริยะยุทธกร กรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพ เป็นแหล่งรวมคนมีความรู้แต่ละสาขา ขณะที่ สกอ.วันนี้แทบยังไม่มีอะไร บุคลากรก็ไม่พร้อม ฉะนั้นการร่างกฎหมายออกมาแบบนี้ จึงขอเสนอให้ตัดมาตราที่เป็นปัญหาออกไป
ทั้งนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพมีความห่วงใยและมีความเห็นร่วมกันว่า ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ฉบับนี้ ยังมีข้อบกพร่องที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติ และการเข้าถึงผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ดังต่อไปนี้
1.ประสิทธิภาพในสายงานบังคับบัญชา ที่ทับซ้อนระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกับคณะกรรมการการอุดมศึกษาซึ่งขัดต่อหลักการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นผู้มีอำนาจเต็มของส่วนราชการระดับกระทรวงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ
แต่กลับมีบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ ทั้งในเรื่องนโยบายและงานบริหาร ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งการดังกล่าวน่าจะขัดกับหลักการบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 29(3)(4)(5), มาตรา 52 และ มาตรา53)
2.ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ ฉบับนี้ มีบทบัญญัติให้บรรดาบท กฎหมาย กฎ และข้อบังคับซึ่งขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน
บทบัญญัติดังกล่าวทำให้เนื้อหาใน พระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ ฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติซึ่งมีศักดิ์เสมอกันหลายฉบับโดยเฉพาะ สภาวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกิดตามพระราชบัญญัติ อันอาจจะเกิดปัญหาในในทางปฏิบัติในเรื่องอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภาวิชาชีพการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ควรจะได้ศึกษาถึงกฎหมายที่มีมาแต่เดิมว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ (มาตรา 3)
3. การกำหนดนิยามอำนาจหน้าที่ของ “องค์กรวิชาชีพ” ว่าสภาวิชาชีพมีหน้าที่เฉพาะควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเท่านั้น ทั้งที่แต่ละสภาวิชาชีพต่างก็ได้รับอำนาจจากรัฐและใช้อำนาจรัฐผ่านบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติของตนในหลากหลายบริบท จึงเป็นการบัญญัติคำนิยาม ที่ไม่ครอบคลุมอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติของสภาวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดความสับสนในความหมายของคำว่า “องค์กรวิชาชีพ” (มาตรา 4)
4. การได้มาซึ่งประธานกรรมการการอุดมศึกษา จะขัดกับหลักการประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล เพราะให้สิทธิเฉพาะกรรมการบางประเภท ในการใช้สิทธิเลือกประธานกรรมการการอุดมศึกษา (มาตรา 26 (1) )
5.ไม่มีความชัดเจนว่าการให้บริการทางวิชาชีพเป็นอย่างไร เป็นการแสวงหารายได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น หากเป็นกรณีที่สถาบันการศึกษาของรัฐให้บริการทางวิชาชีพจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติที่ว่า รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน หรือไม่
ส่วนในประเด็นที่ว่าสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินธุรกิจที่ให้บริการทางวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้น จะขัดต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือทับซ้อนอำนาจตามกฎหมายของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือไม่(มาตรา 48)
6. การกำหนดให้การจัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นใหม่ต้องไม่เป็นไปเพื่อพาณิชย์ในการแสวงหากำไรจากการจัดการเรียนการสอน นั้น มีเจตนารมณ์อย่างไร เพียงไร ที่เรียกว่าแสวงหากำไร ควรกำหนดนิยามในส่วนนี้ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ (มาตรา 55)
7. การห้ามมิให้มีอำนาจในการรับรอง หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา หรือสร้างภาระอื่นใดให้กับสถาบันอุดมศึกษา เป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่เดิมของสภาวิชาชีพต่าง ๆ กล่าวคือทุกสภาวิชาชีพที่เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ ที่กฎหมายกำหนดไว้ในสาระสำคัญส่วนหนึ่งคือ คุณสมบัติของผู้มีจะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพ อันรวมถึงการรับรองหลักสูตรของสถาบันการศึกษาในสาขาวิชาชีพนั้น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก็เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ ความสามารถ ที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชาชีพนั้น ๆ
อีกทั้งข้อกำหนดในเรื่องนี้มีผลเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐมีความผูกพันอยู่ในส่วนของวิชาชีพ จึงควรจะพิจารณาอย่างรอบด้านเพราะเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของชาติ และเพื่อรักษาสัมพันธภาพของรัฐในระดับภาคี
การขัดกันของกฎหมายที่มีศักดิ์เป็นพระราชบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ฉบับนี้ กับ พระราชบัญญัติของสภาวิชาชีพต่าง ๆ นั้น ไม่สามารถกระทำได้ กฎหมายที่ตราขึ้นมาใหม่ต้องไม่กระทบหรือขัดแย้งกับกฎหมายที่มีสภาพบังคับอยู่เดิมประกอบกับการกำหนดให้คณะกรรมการการอุดมศึกษาสามารถแจ้งให้สภาวิชาชีพทราบและปฏิบัติตามนั้น เป็นการก้าวล่วงต่ออำนาจของสภานายกพิเศษของแต่ละสภาวิชาชีพซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างกระทรวงอีกด้วย(มาตรา 64 ถึง 66)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งตบเท้าพบรมต.ศธ.ชี้จุดบกพร่องร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
11 สมาพันธ์วิชาชีพ ยื่นหนังสือ แนะศธ. ทบทวนพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ