11 สมาพันธ์วิชาชีพ ยื่นหนังสือ แนะศธ. ทบทวนพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
สมาพันธ์สภาวิชาชีพเข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ แนะทบทวนพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ห่วงกระทบต่อสังคมและสภาวิชาชีพ ด้านตัวแทนรมต.รับปากเสนอเรื่องพูดคุยต่อไป
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 61 ที่กระทรวงศึกษาธิการ สมาพันธ์วิชาชีพเข้ายื่นหนังสือเสนอความเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ในประเด็นความห่วงใยการปฎิรูปการศึกษาในอุดมศึกษาที่มีผลกระทบต่อสังคมและสภาวิชาชีพ โดยมีตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้รับมอบหนังสือ
โดยในหนังสือฉบับดังกล่าว ระบุว่า จากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งสองฉบับแล้ว สมาพันธ์สภาวิชาชีพในฐานะที่เป็นองค์กรด้านวิชาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาโดยเฉพาะบัณฑิตที่จบการศึกษาที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพต่างๆ มีความรู้สึกเป็นกังวลต่อการบริหารการศึกษาในชั้นอุดมศึกษาตามร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้งสองฉบับดังกล่าวในหลายประเด็น ทั้งในส่วนของการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของบุคลากรในองค์กรที่จะเกิดขึ้น และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมของสภาวิชาชีพต่างๆ
นายทัศไนย ไชยแขวง อุปนายกสภาทนายความ กล่าวถึงมาตรการหลังจากนี้คงไม่มีอะไร ถือว่าสภาวิชาชีพเป็นปลายน้ำของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เรามีความเป็นห่วงเท่านั้นจึงมายื่นหนังสือ ขอให้ทางผู้ที่มีอำนาจในการร่างพระบัญญัติฯทั้งสองฉบับพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นหลักเรื่องการรับรองคุณภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งปกติแต่ละสภาวิชาชีพมีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเอง ในนั้นจะมีแค่อำนาจรัฐส่วนหนึ่งในการออกและควบคุมใบอนุญาตให้สำหรับคนที่จะเป็นสมาชิกซึ่งเป็นหลักสากล และเรามีอำนาจในการเข้าไปช่วยมหาวิทยาลัยรับรองคณะต่างๆ ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงมหาวิทยาลัย เพราะเรามองว่าสภาวิชาชีพเป็นวิชาชีพเฉพาะ เป็นหลักสากลทั่วไปที่ต้องสอบใบอนุญาต หากไม่มีใบอนุญาตจะทำงานไม่ได้
"เราห่วงว่าถ้าเกิดไม่มีการรับรองวิชาชีพแล้วออกมาสอบใบประกอบวิชาชีพ การที่จะคัดคุณภาพคนไม่ใช่เรื่องยากถ้าออกข้อสอบไม่เข้มงวด ปัญหาที่เราห่วงคือ ถ้าเด็กสอบไม่ผ่านเยอะๆ พอเรียนจบแล้วสอบใบประกอบวิชาชีพไม่ได้ เช่น ในปัจจุบันสภาทนายความมีผู้ที่สอบผ่านประมาณ 20% เท่านั้น ในแต่ละสาขาอาชีพก็เช่นกัน ถ้าเราไม่ได้ควบคุมคงจะทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่เราเป็นห่วงเด็กที่จบมา"นายทัศไนย กล่าว
ทั้งนี้ ตัวแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบหนังสือจากสมาพันธ์วิชาชีพ และกล่าวว่าจะนำเรื่องที่ได้เสนอมารายงานให้ทางรัฐมนตรีฯและผู้ที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา
อนึ่งสมาพันธ์สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งตบเท้าพบรมต.ศธ.ชี้จุดบกพร่องร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ