กยท.เผยคืบหน้าสัญญาซื้อขายยาง ดันใช้ในปท. เหลือรอส่งมอบอีก 200 ตัน
รองผู้ว่าการยางฯ สนองนโยบายรัฐบาล เดินหน้าผลักดันใช้ยางพาราในประเทศ เบื้องต้นให้คู่สัญญาซื้อจาก กยท. หวังผลประโยชน์ตกถึงมือสถาบันเกษตรกร ปัจจุบันซื้อขายจริงแล้ว ยังเหลือสัญญารอรับมอบอีก 100-200 ตัน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าโครงการของรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายผลักดันให้มีการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น ซึ่ง กยท.ได้สำรวจความต้องการใช้จากแต่ละหน่วยงานใน 8 กระทรวง 20 กรม ในการนำยางพาราไปใช้เป็นส่วนประกอบในรูปแบบต่าง ๆ โดยเบื้องต้นสัญญายังระบุให้คู่สัญญาซื้อจาก กยท. เพราะอยากให้ผลประโยชน์ถึงสถาบันเกษตรกรโดยตรง
“ระยะแรกสัญญาระบุให้คู่สัญญาเป็น กยท. เพื่อจะไปดำเนินการจัดซื้อน้ำยางสดจากสถาบันเกษตรกร แล้วจึงนำมาแปรรูปเป็นน้ำยางข้น และจัดส่งให้เอกชนเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำถนน ปัจจุบันได้มีการทำสัญญาซื้อขายจริงแล้ว และเหลือสัญญาที่อยู่ระหว่างการรอรับส่งมอบอีกราว 100-200 ตัน”
รองผู้ว่า กยท. กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่สัญญารอรับการส่งมอบมีจำนวนน้อย เนื่องจากช่วงนี้เป็นฤดูปิดกรีด ประกอบกับ กยท.ต้องรอแผนงานการใช้ยางของหน่วยงาน เพื่อที่จะซื้อน้ำยางสดให้พอดีกับยอดการใช้ โดยจะไม่มีการซื้อเข้ามาเป็นสต๊อก เพราะน้ำยางข้นมีอายุเสื่อม จะเกิดความเสียหายได้ ล่าสุด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มนำไปใช้ทำถนนแล้ว โดยกรมทางหลวงได้เพิ่มเติมข้อกำหนดให้ใช้ได้ทั้งในรูปแบบน้ำยางสดและน้ำยางข้น จากเดิมใช้ได้เฉพาะน้ำยางข้นเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ อดีตรักษาการผู้ว่า กยท. เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราเมื่อต้น เม.ย. 2561 ว่า จากเดิมที่มี กยท.เป็นผู้รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรเพียงผู้เดียว อาจไม่สะดวกต่อคู่สัญญาในการนำไปดำเนินโครงการ จึงเปิดโอกาสให้คู่สัญญาเข้าไปติดต่อซื้อและทำสัญญาโดยตรงกับกลุ่มเกษตรกร หรือเรียกว่า กลุ่มการยาง ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของเกษตรกรและสหกรณ์ เข้ามาสมัครและได้รับการรับรองจาก กยท.
ขณะเดียวกัน ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนสุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่อง แนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยให้ อปท.สามารถที่จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจากเงินสะสมของอปท. ซึ่งนำไปใช้จ่ายตามอำนาจหน้าที่ กรณีเป็นโครงการก่อสร้างที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ เช่น การสร้างถนน ก่อสร้างสนามกีฬา ที่มีวงเงินเกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยวิธีสอบราคาได้ หรือเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ทั้งวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-bidding) และวิธีสอบราคา โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2561 .
อ่านประกอบ:กยท. – กลุ่มการยาง รับลูกดันโครงการหนุนใช้ยางพารา สนองภาครัฐ
มหาดไทยขยายเพดานให้ อปท.ใช้วงเงินสะสม10ล้านถึง 30 มิ.ย.แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
มหาดไทยเปิดช่องใช้ 'เงินสะสม' อปท. สนับสนุนนโยบายรัฐ
ภาพประกอบ:http://www.aseanthai.net/ewt_news.php?nid=7912&filename=index