ข้อเท็จจริงประกอบทฤษฎี "มาโนชญ์ อารีย์" มั่นใจภาคใต้ไม่เชื่อมไอเอส
ควันหลงจากข่าว "ไอเอสเข้าไทย - มีคนไทยไปเอี่ยวไอเอส" จนมีการพูดกันถึงขั้นว่าจะมีการตั้ง "สาขาไอเอส" ในภาคใต้ของไทย ฯลฯ
แม้ต้นตอข่าวจะมาจากต่างประเทศ มาจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และรัฐบาลกับฝ่ายความมั่นคงไทยก็ปฏิเสธอย่างแข็งขัน แต่ความวิตกกังวลของหลายๆ ฝ่ายก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะประชาชนตาดำๆ เพราะสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงชี้แจง มีลักษณะ "อ้างเหตุผลลอยๆ" คือย้ำว่าไม่มีอะไร สบายใจได้ หรือคนไทยที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับไอเอส เป็นแค่ "นักเลงคีย์บอร์ด"
เหตุนี้เองจึงทำให้ความวิตกกังวลยังมีอยู่ทั่วไป และข่าวไอเอสเข้าไทย หรือคนไทยไปเอี่ยวไอเอส ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งเมื่อมีข่าวเปิดขึ้นในสื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเองก็ยังมีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงขนาดใหญ่อยู่
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม ให้สัมภาษณ์ในรายการ "ตอบโจทย์" สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยได้อธิบายถึงรูปแบบการเกี่ยวข้องเกี่ยวโยงกับไอเอส หรือ "กลุ่มรัฐอิสลาม" ในบริบทต่างๆ เอาไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมๆ กับการยืนยันว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากๆ ที่กลุ่มเคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไปสวามิภักดิ์ หรือร่วมมือกับไอเอสอย่างที่หลายๆ ฝ่ายหวั่นเกรงกัน
ดร.มาโนชญ์ เริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า การจะพิจารณาเรื่องการเข้าไปเกี่ยวข้องกับไอเอส ต้องเข้าใจความหมายของถ้อยคำที่ใช้เสียก่อน โดยเฉพาะคำที่พูดกันบ่อยๆ ได้แก่ การตั้งฐานที่มั่น, การตั้งสาขา, การสร้างเครือข่าย ตลอดจน แนวร่วมของไอเอส ว่าแต่ละคำหมายถึงอะไร เพราะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
เริ่มจาก "การตั้งฐาน" หมายถึง การที่ไอเอสมีพื้นที่ มีเขตอิทธิพลของตัวเอง มีทรัพยากรที่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งดินแดนที่ไอเอส หรือแม้แต่อัลกออิดะห์ ประสบความสำเร็จในการตั้งฐาน มักเป็นพื้นที่ที่้เกิดความรุนแรง มีสงครามกลางเมืองอยู่แล้ว และรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่มีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนคำว่า "สาขา" ดร.มาโนชญ์ บอกว่า เท่าที่ศึกษาพัฒนาการของไอเอส และอัลกออิดะห์ การจะใช้คำว่า "สาขา" ของ 2 กลุ่มนี้ได้ ต้องมีปัจจัยเกื้อหนุนที่ใหญ่มาก อย่างคำว่า "อัลกออิดะห์สาขาอิรัก" ซึ่งภายหลังพัฒนาเป็นกลุ่มไอเอส มีความหมาย 2 นัย คือเป็นกลุ่มใหญ่ และพื้นที่ตรงนั้นต้องไม่มีกลุ่มไหนใหญ่กว่าอัลกออิดะห์ เช่น ตั้งแต่มีอัลกออิดดะห์สาขาอิรัก ก็ไม่มีกลุ่มไหนใหญ่กว่านี้ในอิรัก หรืออัลกออิดะห์สาขาซีเรียก็เช่นกัน แต่เราไม่ได้ยินคำว่าอัลกออิดะห์สาขาปากีสถาน เพราะมีกลุ่มตาลีบันอยู่ และใหญ่มาก
นอกจากนั้น คำว่า "สาขา" ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่ง คือไอเอส หรืออัลกออิดะห์ จะต้องเข้าไปควบรวมกับกลุ่มติดอาวุธที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว และสถาปนาขึ้นมาเป็นสาขา
ขณะที่คำว่า "เครือข่าย" หมายความว่า มีกลุ่มติดอาวุธอยู่แล้วในพื้นที่ แล้วกลุ่มติดอาวุธนั้นๆ ไปประกาศสวามิภักดิ์กับกลุ่มไอเอส ถือว่ามีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะรวมกันในแง่ของโครงสร้าง
คำว่า "แนวร่วม" หมายถึงปัจเจกชนทั่วไป ถือเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างควบคุมได้ยาก บางคนก็เข้าไปร่วมเพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือนิยมชมชอบกลุ่มไอเอส มีแนวคิดสอดคล้องกัน หรือบางคนก็เข้าไปเพราะปัญหาอื่นๆ ทั้งเคียดแค้น หรือปัญหาทางสุขภาพจิต
"จากข้อมูลทั้งหมดในขณะนี้ สรุปได้ว่าในระดับฐาน หรือสาขาของไอเอส เป็นไปได้ยากที่จะเกิดในไทยหรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ดร.มาโนชญ์ สรุป
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเด็นโลกมุสลิม ขยายความต่อว่า คงเป็นไปได้ยากที่กลุ่มขบวนการในภาคใต้จะไปสวามิภักดิ์กับไอเอส เพราะเป้าหมายไม่เหมือนกัน ไอเอสต้องการตั้งรัฐอิสลาม แต่เราไม่เคยได้ยินขบวนการในภาคใต้ประกาศว่าจะตั้งรัฐอิสลาม ฉะนั้นถ้าพวกเขาไปรวมหรือสวามิภักดิ์กับไอเอส ก็เท่ากับเป้าหมายเปลี่ยน และสลับซับซ้อนมากขึ้น โอกาสที่จะบรรลุความสำเร็จก็จะยากขึ้น
นอกจากนั้นยุทธวิธีของขบวนการในภาคใต้กับไอเอสก็ไม่เหมือนกัน ภาคใต้จะก่อเหตุเฉพาะพื้นที่ ไม่ขยายพื้นที่ แต่ไอเอสจะไม่จำกัดขอบเขต ขณะที่แนวรบของกลุ่มไอเอสที่ผ่านมา พวกเขาเปิดแนวรบทุกด้าน ทุกหน้า กับทุกคน ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมชีอะห์ มุสลิมสุหนี่ที่เห็นไม่ตรงกับตัวเอง รวมไปถึงทหาร แและกลุ่มติดอาวุธกลุ่มอื่น แต่ขบวนการในภาคใต้จะก่อเหตุกับเป้าหมายทางทหาร หรือคนถืออาวุธด้วยกันเป็นส่วนใหญ่
ที่สำคัญ กลุ่มขบวนการในภาคใต้ ยังให้ความสำคัญกับการเจรจา การต่อรองพูดคุย แต่กลุ่มไอเอสไม่คุย ไม่เจรจา ฉะนั้นจึงดูไม่มีจุดเชื่อมโยงกันเลย
มีคำถามจากผู้ดำเนินรายการว่า ในระดับเครือข่าย กับแนวร่วมของไอเอส ที่อาจใช้วิธีการโจมตีแบบ "โลนวูล์ฟ" หรือ "หมาป่าตัวเดียว" มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ประเด็นนี้ ดร.มาโนชญ์ อธิบายว่า เท่าที่สังเกต ปรากฏการณ์โลนวูล์ฟในยุโรป มักไม่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในตะวันออกกลาง รวมถึงเอเชียใต้ ฉะนั้นต้องดูว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดในยุโรป
"เหตุผลหนึ่งคือความสามารถในการเฝ้าระวังของชาติยุโรปมีสูง ทำให้การก่อเหตุแบบวางแผนโจมตีทำได้ยาก จึงเลือกใช้อะไรก็ได้เป็นอาวุธ โจมตีเมื่อไหร่ก็ได้ (ลักษณะหนึ่งของโลนวูล์ฟ) กับอีกปัจจัยก็คือ ความเคียดแค้นทางสังคม ความรู้สึกกดดัน รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ รู้สึกว่าตะวันออกกลางถูกโจมตี ถูกทิ้งระเบิดมานาน เด็กๆ แขนขาด ขาขาด จึงเกิดความสิ้นหวัง เคียดแค้น เมื่อไอเอสเรียกร้องให้มีปฏิบัตการ คนพวกนี้ก็ออกมาแสดงอาการขานรับด้วยการโจมตี ขับรถชนคน แต่ในภูมิภาคอื่น ไม่มี อาจเป็นเพราะไมมีกระแสอิสลามโมโฟเบีย (ภาวะเกลียดกลัวอิสลาม) มากดทับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ"
อย่างไรก็ดี ดร.มาโนชญ์ ก็เตือนให้ทุกฝ่ายไม่ประมาท เพราะเงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
"ในอนาคตก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจจะมีเงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์ในเมียนมา เรื่องโรฮิงญา อาจจะมีคนนั่งอยู่หน้าจอ เฝ้าดูเหตุการณ์พวกนี้อยู่แล้วคับแค้นใจ คิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ซึ่งตรงนี้ไม่ได้แปลว่าเขามีแนวคิดสุดโต่งหรือรับอุดมการณ์จากไอเอสเท่านั้น แต่อาจเป็นที่สุขภาพจิตของเขาเอง"
เป็นคำเตือนส่งท้ายที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ เพราะท่าทีและนโยบายของรัฐบาลต่อประเด็นอ่อนไหวต่างๆ กำลังถูกมอนิเตอร์ และอาจกลายเป็นเงื่อนไขความรุนแรงได้ทุกเมื่อ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : รายการตอบโจทย์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
บรรยายภาพ : ดร.มาโนชญ์ อารีย์
อ่านประกอบ :
ผบ.ทบ.ย้ำหนุ่มไทยโยงไอเอสแค่ "คุยโม้" - แต่ทหารคุมตัวยังไม่ยอมปล่อย!
ฝ่ายมั่นคงเจาะข้อมูลโซเชียลฯ พบคนไทยครึ่งหมื่นเคยสนใจ-หนุนแนวคิดไอเอส
ทหารคุมตัวหนุ่มนราฯถูกโยงไอเอสเข้ากระบวนการซักถาม
"จรัญ มะลูลีม" วิเคราะห์แนวโน้มไอเอสเข้าไทย...แค่หนุนทางใจ ไม่ร่วมใช้ความรุนแรง
เอกซเรย์เจาะไอร้องหาตัวคนไทยถูกโยงไอเอส - กอ.รมน.อ้างแค่นักเลงคีย์บอร์ด!
สั่งเข้มชายแดน หลังมาเลย์อ้างชายชาวนราธิวาสเอี่ยวไอเอส!
จะโยงให้ได้! มาเลย์อ้างไอเอสเอี่ยวไฟใต้ ฝ่ายมั่นคงไทยเตรียมแถลงโต้