เบื้องลึกข่าว "ไอเอสเข้าไทย" ต้องจับตา...แต่ยังไม่น่าวิตก
ข่าวไอเอสเข้าไทย หากมองเฉพาะที่เป็นข่าวล่าสุดนี้ซึ่งมาจากแหล่งข่าวเปิด คือเป็นรายงานจากสื่อมวลชนต่างประเทศ อาจมองได้ว่าเป็นการเสนอข่าวให้น่าตื่นเต้นตกใจ และดิสเครดิตไทยไปในตัว เพราะไทยไม่มีปัญหาเรื่องไอเอสมาก่อน ขณะที่ประเทศรอบบ้านไทยต้องบอกว่าอ่วมกับปัญหานี้ไม่น้อยทีเดียว
ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงไทยทำงานร่วมกับหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซียอย่างใกล้ชิด โดยหน่วยงานนี้แยกตัวออกมาจากสำนักงานตำรวจสันติบาลมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีเครือข่ายกว้างขวางที่สุดในประเทศ
ข่าวสารว่าด้วยสมาชิกไอเอส หรือกลุ่มติดอาวุธที่เป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งเดินทางผ่าน และเข้ามากบดาน มีมาเป็นระยะ ที่ผ่านมามีการแจ้งข้อมูลทางลับ ซึ่งทางการไทยก็จับกุมส่งกลับไปให้มาเลเซียทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวที่สร้างความตื่นตระหนก
ครั้งนี้เมื่อมีข่าวจากแหล่งข่าวเปิด คือสื่อมวลชน จึงต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านช่องทางที่เคยประสาน หากเป็นจริงก็เชื่อว่าจะสามารถจับกุมได้เหมือนทุกครั้ง
แหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง เผยว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือข่ายของไอเอสผ่านเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งทางการไทยมอนิเตอร์ตลอด ส่วนใหญ่ใช้ไทยเป็นทางผ่าน โดยเป็น “กลุ่มผู้สนับสนุน” หรือ “กลุ่มนักรบ” ที่ซึมซับอุดมการณ์ไอเอสในภูมิภาคนี้ เดินทางไปร่วมรบในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่เป็นคนมาเลย์ กับอินโดนีเซีย มีจำนวนไม่มากนักที่หลบหนีการจับกุมและเข้ามากบดานในไทย ซึ่งกลุ่มหลังนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวมาเลเซีย
"เครือข่ายของไอเอสเข้าไทยมาด้วย 2 เหตุผลนี้เท่านั้น ไม่มีเป้าหมายเข้ามาโจมตี หรือใช้ความรุนแรง หรือระเบิดพลีชีพในบ้านเรา การผ่านเข้ามาก็มักพักโรงแรม แล้วเดินทางออกไป ไม่ได้พักบ้านเช่าหรือบ้านของผู้สนับสนุน สะท้อนว่าไอเอสไม่ได้มีเครือข่ายรองรับในประเทศไทย" แหล่งข่าวระบุ
จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของไอเอสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทยยังไม่น่ากังวล แต่สาเหตุที่ฝ่ายความมั่นคงไทยต้องจับตาเป็นพิเศษ ก็คือเมื่อนักรบไอเอสสูญเสียฐานที่มั่นในตะวันออกกลาง เช่น โมซูล (ในอิรัก) และกำลังพ่ายแพ้ในอีกหลายๆ สมรภูมิ ทำให้เหล่านักรบพากันเดินทางกลับบ้าน และผู้นำไอเอส ประกาศให้นักรบเหล่านั้นไปก่อเหตุในบ้านของตัวเอง
พื้นที่ปฏิบัติการใหม่ของไอเอสที่สำคัญมีอยู่ 2 แห่ง คือ ยุโรป กับดินแดนอัฟกานิสถานและปากีสถาน ขณะที่เป้าหมายโจมตีของไอเอส คือประเทศที่ส่งกำลังไปร่วมรบในอิรักและซีเรีย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศมุสลิมนิกายที่เป็นปฏิปักษ์กับไอเอส
"เหตุนี้เองไทยจึงไม่ใช่ประเทศเป้าหมาย แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือ มีนักรบจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่เดินทางไปร่วมรบในตะวันออกกลาง นักรบเหล่านี้เดินทางกลับบ้านแล้ว และพยายามก่อเหตุในบ้านของตัวเอง ขณะที่กลุ่มอาบูไซยาฟในฟิลิปปินส์ก็ประกาศสวามิภักดิ์กับไอเอส ขณะที่มาเลเซียมีความเคลื่อนไหวของเครือข่ายไอเอสค่อนข้างรุนแรง และมาเลเซียมีพรมแดนติดกับไทย จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ" แหล่งข่าว ระบุ
ข้อมูลของแหล่งข่าวระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง บางส่วนสอดคล้องกับแหล่งข่าวของกองทัพที่เกาะติดความเคลื่อนไหวของไอเอสในภูมิภาคนี้ โดยเขาบอกว่า ข่าวล่าสุดที่ว่าไอเอสเข้าไทย ต้องแยกแยะให้ดี เพราะคำว่า "ไอเอส" มีหลายความหมาย หลายระดับ เช่น ผู้ที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์, ผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารจากไอเอสผ่านทางโซเชียลมีเดีย, ผู้ที่สนับสนุน ส่งเงินไปช่วยหรือบริจาค และพวกที่ไปเป็นนักรบ
"หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คนที่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ไอเอส ติดตามข้อมูลข่าวสารของไอเอส หรือแม้แต่สนับสนุนเงินทอง ในประเทศไทยก็มีอยู่ และไม่ได้จำกัดเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการต่อสู้ของรัฐอิสลาม เป็นเรื่องที่ส่งต่อความคิดกันทางโซเชียลมีเดีย การสกัดกั้นจึงเป็นไปได้ยาก และผู้ที่เข้าไปดูเพราะสนใจใคร่รู้ก็มีจำนวนมาก แต่ที่มีพฤติการณ์โน้มเอียงไปในทางสนับสนุน ในไทยถือว่ามีไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีเลยเหมือนที่หลายฝ่ายพยายามปิดข่าว"
ส่วนที่พูดกันว่าขบวนการเคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสนั้น แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า เป็นเพราะหน่วยงานความมั่นคงของไทยยังเกาะติดเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวเก่าๆ หน้าเดิมๆ เช่น บีอาร์เอ็น ทำให้ได้ข่าวซ้ำเดิม แต่ไม่ได้เกาะติดกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ซึ่งคนพวกนี้ใช้โซเชียลมีเดีย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ซึมซับการต่อสู้ของไอเอสเลย เพียงแต่จะเอามาใช้ในพื้นที่หรือไม่เท่านั้น แต่การเดินทางไปร่วมรบ ยืนยันว่ายังไม่มีแน่นอน
"แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อปีที่แล้วมีคลิปวีดีโอที่ใช้ภาษามาเลย์ กับภาษาบาฮาซาของอินโดนีเซีย เรียกร้องให้ผู้มีอุดมการณ์ไปรบในซีเรีย ถ้าไปไม่ได้ ก็ให้ไปฟิลิปปินส์ ซึ่งมีกลุ่มหัวรุนแรงประกาศเป็นฐานที่มั่นใหม่ของไอเอส และถ้าไปไหนไม่ได้ ก็ให้ปฏิบัติการในบ้านของตัวเอง ซึ่งจุดนี้ถือว่าน่ากลัว และป้องกันยากมาก" แหล่งข่าวจากกองทัพ ระบุ
ด้าน ดร.ศราวุฒิ อารีย์ นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองในมุมที่แตกต่างออกไป โดยเขาบอกว่า เป้าหมายจริงๆ ของไอเอส คือดินแดนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกอิสลาม มีมักกะห์ มาดินะห์ ฉะนั้นการย้ายฐานมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่สมเหตุสมผล
ฐานที่มั่นของไอเอสคือตะวันออกกลาง ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่ดินแดนที่ไอเอสจะมาฝังรากลึกได้ ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่าไอเอสประกาศจะตั้งรัฐอิสลามในฟิลิปปินส์ ก็ไม่ได้เป็นการประกาศที่จริงจังอะไร และไม่ได้มีผลต่อโลกมุสลิม
"ตอนนี้ไอเอสกำลังพ่ายแพ้ในตะวันออกกลาง แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ไปตั้งฐานที่มั่นนอกตะวันออกกลาง ประกอบกับมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่นิยมความรุนแรงจากกลุ่มติดอาวุธ แม้แต่ในเอเชียใต้ที่มีประชากรมุสลิมหนาแน่นที่สุดของโลก อย่างน้อย 500 ล้านคน แต่ไอเอสก็ไม่ได้เข้าไปมีอิทธิพลมากนัก" ดร.ศราวุฒิ กล่าว
นักวิชาการจากศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกด้วยว่า แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ รวมไปถึงยุโรป จะไม่ใช่ศูนย์กลางที่ไอเอสต้องการขยายอิทธิพลจริงๆ แต่สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ การส่งผ่านความรุนแรง และการสัมผัสอุดมการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งอาจทำให้เห็นปฏิบัติการย่อยเป็นระยะ
แต่การจะตั้งรัฐอิสลามในภูมิภาคอื่นที่ไม่ใช่ตะวันออกกลาง ยังเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่มีน้ำหนักมากพอ!
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การจับกุมเครือข่ายไอเอสในมาเลเซีย (ภาพต้นฉบับจากทวิตเตอร์ของ Melissa Goh ผู้สื่อข่าว แชนแนล นิวส์ เอเชีย : twitter@MelGohCNA)
2 ดร.ศราวุฒิ อารีย์ (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)
ขอบคุณ : Melissa Goh ผู้สื่อข่าว แชนแนล นิวส์ เอเชีย : twitter@MelGohCNA