อธิบดีกรมทรัพยากรฯ ชี้พัฒนา ‘อุทยานธรณีสตูล’ ต้องสอดคล้องกับการอนุรักษ์ หลังยูเนสโกรับรอง
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเผยยูเนสโกประกาศให้ ธรณีวิทยา จ.สตูล เป็นอุทยานธรณีโลก ชูจุดเด่นซากฟอสซิลอายุ 500 ปี -ปลุกท้องถิ่นจัดการตนเอง สร้างรายได้ เรียนรู้ร่วมกัน ระบุแนวโน้มโครงการพัฒนายักษ์ ต้องศึกษาผลกระทบ สอดคล้องความสมดุลแนวทางอนุรักษ์
วันที่ 19 เม.ย. 2561 นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดแถลงข่าว เรื่อง องค์การยูเนสโกประกาศให้พื้นที่แห่งธรณีวิทยาของ จ.สตูล เป็น ‘อุทยานธรณีโลก’ (Satun UNESCO Global Geopark)ซึ่งเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ณ อาคารเพชร กรมทรัพยากรธรณี
(อ่านประกอบ:แห่งแรกของประเทศไทย ยูเนสโก รับรอง 'อุทยานธรณีสตูล' เป็นอุทยานธรณีโลก)
นายทศพร กล่าวว่า อุทยานธรณีสตูล มีเนื้อที่ครอบคลุมประมาณ 2,597 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.มะนัง ละงู ทุ่งหว้า และบางส่วนของอ.เมือง โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลที่สามารถบ่งชี้อายุทางธรณีได้อย่างสมบูรณ์ มีจำนวนหลากหลายชนิด อายุ 500-250 ล้านปี อีกทั้งยังมีคุณค่าด้านธรณีวิทยามากกว่า 30 แหล่ง จำพวกความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์สัตว์ทะเล ซึ่งพบอย่างต่อเนื่อง และหลากหลายในชั้นหินทั้ง 6 ยุค ของมหายุคพาลีโอโซอิก
โดยเฉพาะไทรโลไบท์สายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทยถึง 4 สายพันธุ์ และหินแบคทีเรียโบราณสโตร์มาโตไลต์ ลำดับชั้นหินแบบฉบับของโลก ภูมิประเทศหินปูนที่มีถ้ำและความสวยงาม หมู่เกาะเภตรา หมู่เกาะตะรุเตา รวมถึงโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวเล และความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก
“อุทยานธรณีโลกจะต้องได้รับการตรวจประเมินซ้ำจากยูเนสโกทุก 4 ปี โดยจะแสดงผลการตรวจประเมินเป็นระดับสีเขียว-ผ่าน, สีเหลือง-ปรับปรุง และสีแดง ถูกถอดออกจากทะเบียน” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าว และว่า หากพบมีการบริหารงานบกพร่องก็สามารถถูกถอดถอนจากการเป็นสมาชิกได้ และต้องเว้นระยะเวลาอีก 2 ปี จึงจะสามารถสมัครใหม่
พื้นที่อุทยานธรณีสตูล
ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย นายทศพร ระบุว่า จะทำให้อุทยานธรณีสตูลกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และจะส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ แต่สิ่งที่ทำให้ไทยได้รับคำแนนจากยูเนสโกมากที่สุด คือ การบริหารจัดการโดยท้องถิ่น โดยต่อไปนี้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวและอนุรักษ์มรดกด้วยตนเอง และสุดท้ายจะเกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสมาชิกเครือข่ายของอุทยานธรณีโลก ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวโน้มการพัฒนาพื้นที่จากโครงการต่าง ๆ ในอนาคต เช่น ท่าเทียบเรือปากบารา จนอาจส่งผลกระทบต่ออุทยานธรณีสตูลนั้น ว่า อุทยานธรณีสตูลมีพื้นที่กว่า 2 พันตารางกิโลเมตร ไม่ใช่เป็นเขตอาณาบริเวณและออกมาเหมือนทุกตารางนิ้วเหมือนเขตอุทยานแห่งชาติ แต่เป็นอาณาบริเวณที่กำหนดมีสิ่งที่น่าสนใจทางด้านธรณีวิทยาประมาณ 30 แห่ง ฉะนั้นโครงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าโครงการอะไรก็ตาม จะแตกต่างจากมรดกโลกเล็กน้อย ไม่ได้ห้ามดำเนินการทุกอย่าง แต่ต้องทำอย่างมีความสมดุลกับสิ่งที่กำลังอนุรักษ์
“เราไม่ทราบว่าท่าเรือปากบารา ซึ่งใช้คำจำกัดความใหญ่มาก แต่ข้อเท็จจริงเข้าใจว่ามีหลายขนาด ต้องมาศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”
เมื่อถามว่า ยูเนสโกได้กำหนดกติกาเพิ่มเติมในการรักษาอุทยานธรณีสตูลหรือไม่ นายทศพร กล่าวว่า สิ่งที่ยูเนสโกให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ‘ท้องถิ่น’ จะต้องให้ชุมชนท้องถิ่นใช้ภูมิปัญญาเป็นเกณฑ์ในการประเมินหลัก ทำให้ลุกขึ้นมาบริการจัดการทรัพยากร เกิดรายได้ เกิดการเรียนรู้ และได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรณี เชื่อว่าเมื่อท้องถิ่นได้รับประโยชน์แล้ว คงไม่มีใครทุบหม้อข้าวตนเองทิ้ง ทุกคนย่อมต้องรักษา และคิดว่าประเทศไทยกำลังจะเดินไปในทิศทางนี้ด้วยเช่นกัน .