แห่งแรกของประเทศไทย ยูเนสโก รับรอง 'อุทยานธรณีสตูล' เป็นอุทยานธรณีโลก
ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ยูเนสโก ให้การรับรองอุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก (Satum Geopark to Satun UNESCO Global Geopark) นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5ของอาเซียน
ประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ยูเนสโก (UNESCO) ให้การรับรองอุทยานธรณีสตูล เป็นอุทยานธรณีโลก (Satum Geopark to Satun UNESCO Global Geopark) นับเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 5ของอาเซียน
ขณะที่ปีนี้มีรายงานว่า ผ่านการประเมินเพียงแค่ 13 แห่ง เท่านั้น
สำหรับการเสนอ "อุทยานธรณีสตูล" เข้าเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) และมอบหมายให้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเสนออุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกต่อสำนักเลขาธิการยูเนสโก ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในส่วนของค่าใช้จ่ายการเป็นสมาชิกของยูเนสโกภาย หลังได้รับการรับรองการเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกรายปี จำนวนปีละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35,000 บาท พร้อมกันนี้ มติครม.เมื่อปี 2559 ยังมีมติเห็นควรให้จังหวัดสตูลจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ความเป็นมาอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก เป็นโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
อุทยานธรณีโลก เป็นขอบเขตพื้นที่ที่ประกอบด้วยแหล่งที่มีคุณค่าด้านธรณีวิทยา โบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม มีการบริหารจัดการแบบองค์รวมระหว่างการอนุรักษ์ การให้ความรู้ การศึกษาวิจัย และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเชื่อมโยงความสำคัญของมรดกทางธรณีวิทยา ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา
ปัจจุบันทั่วโลกมีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก จำนวน 120 แห่ง ใน 33 ประเทศ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแล้วจำนวน 4 แห่ง ใน 3 ประเทศประกอบด้วย มาเลเซีย 1 แห่ง เวียดนาม 1 แห่ง และอินโดนีเซีย 2 แห่ง ขณะที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียกำลังเสนอเพื่อเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกอีกหลายแห่ง
อุทยานธรณีสตูล อุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอมะนัง ละงู ทุ่งหว้า และบางส่วนของอำเภอเมือง รวมเนื้อที่ประมาณ 2,597 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งคุณค่าด้านธรณีวิทยามากกว่า 30 แหล่ง จำพวกความหลากหลายของซากดึกดำบรรพ์ สัตว์ทะเล ซึ่งพบอย่างต่อเนื่องในชั้นหินทั้ง 6 ยุค โดยเฉพาะไทรโลไบท์สายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งแรกในประเทศไทยถึง 4 สายพันธุ์ และหินสาหร่ายสโตรมาโตไลต์ที่พบเป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลำดับชั้นหินแบบฉบับของโลก ภูมิประเทศหินปูนที่มีถ้ำและความสวยงามระดับโลก หมู่เกาะที่มีชื่อเสียง ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม ได้แก่ หมู่เกาะเภตรา และตะรุเตา
นอกจากนี้ ยังมีโบราณสถาน วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชาวเล และความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมาก ฉะนั้น คนไทยควรภาคภูมิการเป็นสมาชิกของอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องท่อง เครื่องจักรที่นำเงินเข้าประเทศได้มากสุดเวลานี้
พลันที่ ยูเนสโกประกาศให้จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่แห่งอุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทย นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ออกมาโพสผ่านเฟชบุค พร้อมกับ ตั้งคำถาม "ท่าเรือน้ำลึกปากบารา" ถึง "อุทยานธรณีสตูล" รัฐบาลจะเลือกอะไร ?