"จรัญ มะลูลีม" วิเคราะห์แนวโน้มไอเอสเข้าไทย...แค่หนุนทางใจ ไม่ร่วมใช้ความรุนแรง
ประเด็นไอเอส หรือกลุ่มรัฐอิสลาม มีแนวโน้มขยายอิทธิพลเข้ามาในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นบริบททางความมั่นคงที่อ่อนไหวสุดๆ เพราะพื้นที่ปลายด้ามขวานยังมีปัญหาขัดแย้งและความรุนแรง ตลอดจนการต่อสู้กันด้วยอาวุธยืดเยื้ออยู่กว่า 14 ปีแล้ว
"ทีมข่าวอิศรา" ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง และการก่อการร้าย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอาจารย์จรัญ เป็นคนแรกที่เคยให้ข้อมูลบนเวทีสัมนาแห่งหนึ่งเมื่อนานมาแล้วว่า มีคนไทยเป็นสมาชิกไอเอส และเดินทางไปพำนักที่ตะวันออกกลาง แต่ถูกฝ่ายความมั่นคงปฏิเสธมาโดยตลอด
ทว่าล่าสุดเมื่อคนระดับรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังยอมรับทิศทางการขยายอิทธิพลของไอเอสในภูมิภาคนี้ ไม่เว้นในประเทศไทย "ทีมข่าวอิศรา" จึงพูดคุยกับอาจารย์จรัญอีกครั้ง เพื่อสอบถามสถานการณ์ล่าสุดของกลุ่มรัฐอิสลามและผู้สนับสนุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนความเกี่ยวโยงกับไทยและไฟใต้
อาจารย์จรัญ อธิบายว่า สถานการณ์ของไอเอสหลังจากถูกปราบปรามอย่างหนักในอิรักและซีเรีย ทำให้นักรบและสมาชิกไอเอสแตกออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก เป็นคนนอกภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้ตัดสินใจกลับบ้าน กลับประเทศที่ตนเองจากมา และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการต่อสู้อีก
กลุ่มที่ 2 เป็นคนนอกภูมิภาคตะวันออกกลางเช่นกัน ถึงแม้จะกลับบ้าน แต่ยังหาโอกาสตอบโต้ฝ่ายที่ปราบปรามตนเองอยู่ พวกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมาก็ก่อเหตุรุนแรงในรูปแบบต่างๆ หลายครั้ง
กลุ่มที่ 3 คือพวกที่เป็นชาวตะวันออกกลางอยู่แล้ว กลุ่มนี้ก็เคลื่อนไหวในพื้นที่ต่อไป
ส่วนไอเอสในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อาจารย์จรัญ บอกว่า เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อสู้อยู่เดิมอยู่แล้วใน 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยกลุ่มที่ต่อสู้ ก็เช่น อาบูไซยาฟ ที่ประกาศสวามิภักดิ์กับไอเอส ในอินโดนีเซียและมาเลเซียก็มี นอกจากนั้นก็ยังมีกลุ่มชื่อใหม่ๆ เกิดขึ้น มีนักรบบางส่วนเดินทางไปร่วมรบที่ตะวันออกกลาง บางส่วนไม่ได้เดินทางไป เมื่อไอเอสที่อิรักและซีเรียถูกปราบ คนเหล่านี้ก็กลับมาเคลื่อนไหวต่อในพื้นที่เดิม คือ 3 ประเทศนี้ และที่ผ่านมามีการพูดถึงไทยว่าไม่เคยมีไอเอส หรือเป็นประเทศเดียวที่อาจจะรอดพ้นจากความเคลื่อนไหวของไอเอส
แต่จริงๆ แล้วมีข้อมูลว่า มีคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเรียนอยู่ที่ตะวันออกกลาง สนใจแนวทางของไอเอส รวมทั้งไปอยู่ร่วมกับไอเอส แต่ก็เป็นข้อมูลที่ไม่ชัดเจนมากนักว่าไปร่วมรบด้วยหรือไม่ นอกจากนั้นที่ผ่านมายังมีข่าวว่า สมาชิกไอเอสเดินทางผ่านไทย หรือพยายามเข้ามาพำนักในไทย แต่ฝ่ายความมั่นคงไทยก็ผลักดันออกไป
ฉะนั้นสถานการณ์ไอเอสที่เกี่ยวกับไทยในขณะนี้ ก็คือมีผู้สนับสนุนแนวทางของไอเอสจริง แต่ไม่ได้ไปร่วมรบ หรือถึงขั้นเตรียมตั้งรัฐอิสลามในประเทศไทย เพราะเมื่อไอเอสเลือกแนวทางใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขีดจำกัด ผู้ที่เคยนิยมชมชอบก็ถอยห่างออกมา เพราะคนไทยหรือมุสลิมไทย รวมทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ได้มีจริตหรือนิยมความรุนแรงแบบไอเอส
"ผมเห็นว่าคนสนับสนุนหรือสนใจไอเอสในภาคใต้ก็มี ภาคกลางก็มี แต่ไม่ได้ไปร่วมรบ ไม่ได้ไปร่วมกับขบวนการ เพียงแต่นิยมชมชอบแนวคิด เพราะเป็นทางออกของมุสลิมที่กำลังผิดหวังกับการถูกกดดันจากนโยบายของชาติตะวันตก ฉะนั้นเมื่อไอเอสเสนอตั้งรัฐอิสลาม ก็ทำให้หลายคนฟังแล้วรู้สึกว่าดี จึงโน้มเอียงไปให้การสนับสนุน แต่เมื่อไปเอสเลือกใช้ความรุนแรง คนส่วนใหญ่ก็ถอยออกมา บางคนก็ยืนยันว่าจริตของการต่อสู้ในภาคใต้กับไอเอส เป็นคนละแบบ"
"ข่าวคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสที่ออกมาล่าสุดนี้ ผมจึงคิดว่ามีความเป็นไปได้ แต่อาจเป็นการไปพูดคุยเพราะจิตใจโน้มเอียง แล้วก็ไปคุยในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะใช้ความรุนแรง คงเป็นความช่วยเหลือทางจิตใจ ทางความรู้สึกมากกว่า" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางและโลกมุสลิม ระบุ
ส่วนท่าทีของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงไทย อาจารย์จรัญ เสนอว่า ควรอยู่นิ่งๆ ไม่ต้องออกแอคชั่นว่าจะร่วมไล่ล่าไอเอส เพราะไทยไม่ใช่เป้าหมายของไอเอส
"ไทยเป็นประเทศในแบบที่ว่า อะไรที่ตัวเองไม่เกี่ยว เราก็จะไม่เข้าไปยุ่ง กรณีของไอเอสก็เช่นกัน ไอเอสไม่ได้เป็นปรปักษ์กับไทย และเท่าที่ดูการตอบโต้ของไอเอส จะตอบโต้คนที่ปราบปรามเขาเป็นหลัก ส่วนประเทศไหนที่ไม่เกี่ยว เขาก็ไม่ยุ่ง ฉะนั้นสำหรับไทยก็ไม่ต้องไปแสดงออกอะไรน่าจะดีที่สุด ไม่ต้องไปแสดงออกว่าจะไล่ล่าปราบปราม ที่สำคัญไอเอสกำลังค่อยๆ สลายตัว โดยเฉพาะไอเอสในภาพใหญ่ เราไม่ค่อยเห็นปฏิบัติการหรือความเคลื่อนไหวของเขาเป็นเวลาสัก 6 เดือนได้แล้ว และแม้จะมีการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ต่างๆ ของยุโรปและอเมริกา แต่การอ้างถึงไอเอสน้อยลงไปเยอะ หลายๆ กรณีก็เป็นการกระทำของคนชาตินั้นๆ เอง"
ส่วนสถานการณ์ในตะวันออกกลางจากวิกฤติซีเรียที่สหรัฐและชาติมหาอำนาจพันธมิตรเปิดฉากโจมตีทางอากาศอีกระลอกหนึ่งนั้น อาจารย์จรัญ มองว่า ยังไม่มีสัญญาณชัดว่าเหตุการณ์จะบานปลาย ส่วนท่าทีของไทยก็ควรรักษาสถานภาพการเป็นมิตรกับทุกฝ่าย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศในตะวันออกกลาง ถือว่ามีความสัมพันธ์ค่อนข้างดี ยกเว้นกรณีเพชรซาอุฯเท่านั้น อีกทั้งไทยยังเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ของโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม)
"ความสัมพันธ์ไทยกับอิหร่านก็นานที่สุดในประเทศตะวันออกกลาง เพราะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา มีการไปเยือนกัน ผลัดกันเยือน ฉะนั้นก็ต้องรักษาท่าที สถานการณ์ตอนนี้เป็นแข่งกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจใหญ่ คือ อิหร่าน กับซาอุฯ ฉะนั้นไทยควรรักษาความเป็นกลาง และหากจะพูดถึงไอเอส ทั้งอิหร่านและซาอุฯก็ต่อต้านไอเอส เหตุนี้ไทยจึงควรรักษาสถานภาพ เป็นมิตรกับทุกฝ่ายดีที่สุด" อาจารย์จรัญ กล่าวทิ้งท้าย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม
อ่านประกอบ :
เอกซเรย์เจาะไอร้องหาตัวคนไทยถูกโยงไอเอส - กอ.รมน.อ้างแค่นักเลงคีย์บอร์ด!
สั่งเข้มชายแดน หลังมาเลย์อ้างชายชาวนราธิวาสเอี่ยวไอเอส!
จะโยงให้ได้! มาเลย์อ้างไอเอสเอี่ยวไฟใต้ ฝ่ายมั่นคงไทยเตรียมแถลงโต้